อะไรๆ ก็ ‘ครู’ : ห้องเรียนที่เปลี่ยนไป ในวันที่ครูไทยติดลบ!

อะไรๆ ก็ ‘ครู’ : ห้องเรียนที่เปลี่ยนไป ในวันที่ครูไทยติดลบ!

เปิดห้องเรียนตัวอย่างและมุมต่างของ "ครู" ที่ยินดีทลายกำแพงแห่งอำนาจและสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย

....................

“ทำไมต้องไหว้ครู?”

“ทำไมต้องใส่ชุดนักเรียน?”

“การตัดผมทรงนักเรียนมีผลต่อการเรียนอย่างไร?”

เมื่อ ‘นักเรียน’ ตั้งคำถามกับความเป็นครู และมองความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ต่างไปจากเดิม ...ไม่ใช่ ‘แม่พิมพ์’ ไม่ใช่ ‘เรือจ้าง’ ไม่ใช่แม้แต่ผู้มีพระคุณ... แล้วตัวคุณครูเองมองบทบาทท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนี้ว่าอย่างไร

  • 'มนุษย์ครู' ถูกได้ผิดได้

โรงเรียนวัดบางขวาก เป็นโรงเรียนขยายโอกาส อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี มักได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างเชิงประชดประเทียดอยู่บ่อยๆ ว่า โรงเรียนเหมือนต้องจ้างเด็กมาเรียน เพราะสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ผู้ปกครองอยากให้ลูกมาช่วยทำงานหาเลี้ยงปากท้องมากกว่ามาเรียนหนังสือ 

ครูยอร์ช – ณัฐพงศ์ อนุสนธิ์ โรงเรียนวัดบางขวาก รับหน้าที่สอนวิชาสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และหน้าที่เพิ่มเติม หรือที่รู้จักกันในชื่อวิชาหน้าที่พลเมือง ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เขาทำงานอยู่ที่นี่ได้ 5 ปีแล้ว

“ตอนมาสอนเด็กวัดบางขวาก แรกๆ ผมยังไม่รู้วิธีการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียน ผมมาสอนแบบยืนพูดหน้าชั้นให้เด็กฟัง ทำให้คุมห้องเรียนไม่ได้ นักเรียนจากที่ไม่ได้อยากมาโรงเรียนอยู่แล้วก็ไม่สนใจ ผมเลยเริ่มใช้อำนาจควบคุมชั้นเรียนมากขึ้น ลงโทษเคี่ยวเข็ญนักเรียน ทุกวันๆ ความอึดอัดในตัวยิ่งทวีความรุนแรง บรรยากาศในชั้นเรียนไม่มีความสุขเลย”

ครูยอร์ช เล่าว่า ตัวเองเป็นคนโผงผาง เด็ดขาด และตรงไปตรงมา จนหลายครั้งกลายเป็นกำแพงกั้นความสัมพันธ์ทั้งระหว่างเพื่อนร่วมงานและนักเรียน ก่อนหน้านี้เขามีความเข้าใจว่าการเป็นครูที่ดีต้องเข้มงวด และไม่อ่อนข้อกับนักเรียน จนใช้อำนาจในห้องเรียน ทั้งต่อว่า ดุด่า และลงโทษนักเรียนอยู่บ่อยครั้ง แต่ทุกครั้งกลับรู้สึกแย่กับสิ่งที่ทำลงไป จนต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า “สิ่งที่ทำไปนั้นถูกต้องแล้วจริงๆ หรือ” และ “การเป็นครูที่ดีต้องทำแบบนี้จริงๆ หรือ”

159990244762

อย่างไรก็ตาม ภาพที่ครูยอร์ชเล่าให้ฟังถึงการลงโทษนักเรียนจนไม่มาโรงเรียน แตกต่างจากบรรยากาศในห้องเรียนที่เห็นในตอนนี้อย่างสิ้นเชิง อาคารอเนกประสงค์ของโรงเรียน ถูกใช้เป็นห้องเรียนในคาบของครูยอร์ชมาได้ราว 3 เทอมแล้ว นักเรียนและครูล้อมวงนั่งอยู่ในระดับเดียวกันบนพื้น จับกลุ่มสมมุติตัวเองเป็นโมเลกุลเคมีในวิชาวิทยาศาสตร์ แล้วทำกิจกรรมจับคู่โมเลกุล ...เสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และความสนุกในห้องเรียน ทำให้นึกภาพห้องเรียนที่น่าอึดอัดแบบเดิมไม่ออก

“ห้องเรียนของผมเปลี่ยนไป จากวันที่ผมเริ่มเข้าใจว่าสิ่งที่ผมทำมาตลอดในห้องเรียนคือ การใช้อำนาจ สิ่งที่มากระทบจนทำให้ผมเสียศูนย์คือ โครงสร้างการใช้อำนาจในระบบราชการที่บังคับให้ต้องคล้อยตาม ก่อนนี้ผมไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ความคิดในหัวผมมันฟุ้งไปหมด

การเข้าร่วมโครงการก่อการครูให้คำตอบกับผม โครงการถอดให้ผมเห็นตัวเองก่อน ทำให้ครูกลับเข้าไปเห็นความเป็นมนุษย์ ครูเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ถูกได้ผิดได้ ชี้ให้เห็นห้องเรียนแห่งอำนาจ ฉายภาพให้เห็นว่ามีการใช้อำนาจในห้องเรียนและในโรงเรียนเต็มไปหมด แล้วบางครั้งครูก็เผลอใช้อำนาจไปอย่างไม่ตั้งใจ ซึ่งไม่ได้เป็นอำนาจที่เกิดจากตัวเราเท่านั้น แต่มีโครงสร้างในระบบมาบีบคั้นกำหนดทิศทางการทำงานของครูด้วย หลังจากนั้นผมจึงกลับมาทำความเข้าใจห้องเรียนตัวเอง เข้าใจที่มาที่ไปว่าทำไมตัวเองถึงทำแบบนั้น”

  • คำถามท้าทายไม่ใช่ปฏิปักษ์'การศึกษา'

“ห้องเรียนสังคมศึกษาของผม บางครั้งนักเรียนอาจไปเจอเรื่องในชีวิตประจำวันมามากมาย แล้วมาถามครูในห้องเรียนว่า ทำไมต้องร้องเพลงชาติเสียงดัง ร้องไม่ดังไม่รักชาติหรือเปล่า อะไรคือสิ่งที่ถ่วงความเจริญของประเทศ”

159990244735

สิทธิชัย จูอี้ ครูประจำวิชาภูมิศาสตร์ รัฐธรรมนูญและเศรษฐศาสตร์ โรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา เล่าถึงห้องเรียนของเขา โรงเรียนสุรวิวัฒน์ เป็นโรงเรียนในกำกับของมหาวิทยาลัยสุรนารี โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนราว 4 ร้อยกว่าคน แต่มีพื้นที่ขนาดใหญ่กว้างขวางตั้งอยู่ในรั้วเดียวกับมหาวิทยาลัย

ครูสิทธิชัย กล่าว่าความอยากรู้และแสวงหาความรู้โดยการตั้งคำถาม เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว โรงเรียนและการจัดการเรียนการสอนต้องตอบสนองในความอยากรู้เหล่านั้น ยิ่งยุคสมัยนี้ เด็กพัฒนาตนเองอย่างรวดเร็ว ผ่านการเรียนรู้จากสื่อต่างๆ ที่เข้าถึงได้ง่าย อาจมีคำถามหลายอย่างในห้องเรียนที่ดูไม่เกี่ยวข้องกับการเรียน เช่น เรื่องการ์ตูน เกม ภาพยนตร์ หรือแม้แต่เรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจในชีวิตประจำวัน ครูที่ดีควรพัฒนาตนเองตลอดเวลา ทั้งความรู้ในวิชาที่สอนและความเข้าใจนักเรียน

 “ถ้าครูพัฒนาตนเองให้ชำนาญในสิ่งที่สอนมากพอ และอินไปกับสิ่งที่นักเรียนอิน จะเห็นความเชื่อมโยงในวิชาที่สอน เรื่องที่นักเรียนชอบและสิ่งที่นักเรียนตั้งคำถาม จนสามารถถ่ายทอดสิ่งที่อยากสอนผ่านเรื่องเหล่านั้นได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน เกม ละคร ภาพยนตร์ กีฬา หรือแม้แต่คำถามที่อาจจะเหมือนท้าทายอำนาจ ก็ไม่ใช่ปฏิปักษ์กับการศึกษา ถ้าครูรู้จักเชื่อมโยงเข้าหาบทเรียน”

สิ่งที่สำคัญคือการเปิดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนโดยให้เกียรติเขา ในฐานะที่เป็นผู้อยู่ในสังคมเดียวกัน ไม่คิดว่าครูอายุมากกว่า มีสถานะสังคมเหนือกว่า กล้าเปิดโอกาสให้นักเรียนถาม อะไรที่ไม่รู้ก็กล้าพอที่จะยอมรับว่าตนเองยังไม่รู้ และเรียนรู้ไปด้วยกันกับนักเรียน เติบโตและพัฒนาไปด้วยกันผ่านคำถามและคำตอบนั้น ไม่ใช่คิดว่าเป็นครูต้องถูกอยู่เสมอ เพราะยุคสมัยนี้นักเรียนอาจมีเรื่องบางเรื่องที่เก่งกว่า ชำนาญกว่าเราก็ได้”

บทบาทของครูจึงไม่ได้เป็นเพียงผู้สอนตามตำราให้นักเรียนจำอย่างเดียว แต่ต้องเป็นผู้จุดประกายการเรียนรู้และเป็นผู้สนับสนุนให้นักเรียนได้คิด สนับสนุนกระบวนการแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง

 “จากคำถามเรื่องความรักชาติ หรืออะไรเป็นตัวถ่วงความเจริญ ถ้าเป็นครูบางคนอาจรับไม่ได้กับการตั้งคำถามแบบนี้ คิดว่าเด็กเริ่มดื้อ ถามไม่เข้าเรื่อง แต่การตั้งคำถามคือกระบวนการหนึ่งของการเรียนรู้ ในห้องเรียนของผม ผมอาจไม่ตอบเพื่อชี้นำพวกเขา แต่จะย้อนถามกลับไปให้เขาคิดกันต่อ”

“ก่อนจะว่ากันเรื่องรักชาติ แล้วคุณคิดว่าชาติคืออะไร”

“พูดถึงความเจริญ แล้วความเจริญคืออะไรในมุมมองของคุณเหรอ” ครูถามกลับ

ครูสิทธิชัย สรุปว่า การถามบนพื้นฐานของการให้เกียรติซึ่งกันและกันนำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันของนักเรียนทุกคนกับครู ครูเองก็ได้เรียนรู้มุมมองใหม่ๆ จากนักเรียน เพื่อจะได้เข้าใจพวกเขามากขึ้น และหาแนวทางที่สามารถก้าวไปด้วยกันได้

159990244736

  • 'ประชาธิปไตย' ในห้องเรียน

ตึกภายในโรงเรียนสุวรรณพลับพลาพิทยาคมเป็นสีลูกกวาด แต่ละตึกถูกทาด้วยสีสันจัดจ้าน ทั้งสี่ด้านล้อมรอบสนามหญ้าซึ่งเป็นใจกลางของโรงเรียน ครูโปเต้ - ธนา เอี่ยมบำรุงทรัพย์ โรงเรียนสุวรรณพลับพลาพิทยาคม ก้าวเข้ามาเป็นครูย่างเต็มตัวได้ 3 ปีแล้ว เขาสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และ 3 สิ่งหนึ่งที่ครูโปเต้ยึดถือและเชื่อมั่นอยู่เสมอ คือ สมการในห้องเรียนที่ว่า 'ครู = นักเรียน'

 “จะเรียนยังไงดี ทำอะไรดี?” โปเต้ ถามนักเรียนอย่างตรงไปตรงมา

ครูต้องรู้จักนักเรียนให้ได้มากที่สุดว่า นักเรียนชอบหรือไม่ชอบเรียนแบบไหน? ชอบหรือไม่ชอบทำอะไร? แล้วอยากเรียนอะไร? ซึ่งครูจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อรับฟังความคิดเห็นและสร้างการมีส่วนร่วมในห้องเรียน หรือที่เรียกว่า 'ประชาธิปไตยในห้องเรียน'

“วิธีการสอนของเราไม่ตายตัว แต่เน้นที่บรรยากาศ ทำอย่างไรให้เมื่อเข้ามาในห้องเรียนแล้ว นักเรียนรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย ทำให้สบายใจ และสนุกกับการเรียนรู้ เมื่อมาเรียนนักเรียนต้องได้กลับไปมากกว่าความรู้

ครูไม่เอาความคิดของตัวเองเป็นหลัก ไม่คิดแค่ว่าเพราะชอบแบบนี้เลยจะทำอย่างนี้ แต่สนใจคนที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น สนใจความรู้สึกของเด็ก ถ้าเด็กไม่พร้อมเรียน เราจะทำอย่างไรให้เด็กพร้อม ถ้าเด็กเบื่อ เราต้องตั้งคำถามและสังเกตว่าจุดไหนที่ทำให้เด็กเบื่อ เพราะฉะนั้นโจทย์คือ จะทำอย่างไรให้เปิดใจเขาได้ก่อน”

159990244748

  • ค่ามาตรฐานของ 'เสรีชน'

เด็กรุ่นใหม่มักถูกตั้งคำถามถึงการแสดงออกที่หลายครั้งไม่เข้าตาผู้ใหญ่ ...เปิดเผย มั่นใจ รุนแรง หรือต่อต้าน (จนเกินไป) เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ใส่ไว้ในวงเล็บ ครูแนน - ปาริชาต ชัยวงษ์ สอนวิชาพระพุทธศาสนา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และวิชาประวัติศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ นนทบุรี กล่าวว่า พฤติกรรมที่แตกต่างกันของผู้คนแต่ละยุคเป็นเรื่องธรรมดาที่เป็นปกติ เพราะมนุษย์ต่างก็มีค่าเริ่มต้นหรือค่ามาตรฐานในการเป็นเสรีชน ไม่ว่าจะเกิดอยู่ในยุคใดสมัยใด หรือจะถูกนิยามว่าเป็นคนเจเนอเรชั่นไหน

“ผู้ใหญ่รู้สึกว่ามันเกินไป เพราะความเป็นจารีตนิยมที่เขาคุ้นเคยกำลังถูกท้าทาย ความเชื่อที่ว่าโลกมีศีลธรรม ความดีงามที่เป็นความจริง เป็นกฎธรรมชาติ ถูกกำหนดมาแล้วและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ กำลังถูกตั้งคำถามโดยเด็กรุ่นใหม่ๆ เขาเลยรู้สึกไม่มั่นคง และลึกๆ แล้วมันคือความกลัว”

“จริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ในยุคไหนของโลก มนุษย์ย่อมแสวงหาอิสรภาพเสมอ เพียงแค่ว่าโลกในตอนนั้นอนุญาตให้คุณแค่ไหน

ถ้าคุณเกิดในยุคโรมัน ค่า by default ในความเป็นเสรีชนของคุณถูกกดไว้มากน้อยตามสถานภาพ ถ้าคุณโตในยุคนั้นคุณก็เป็นวัยรุ่นที่ได้รับอนุญาตโดยระเบียบโลกให้เป็นเสรีชนได้ในความหมายของยุคนั้น แต่คุณก็จะไม่หยุดหรอก คุณจะแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่าที่เป็นอยู่เสมอ ประวัติศาสตร์ก็มีให้เห็น มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการหลุดพ้นจากการถูกกดขี่ครอบงำ”

นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมวิชาพุทธศาสนาจึงควรเป็นมากกว่าแค่การท่องจำประวัติของพระพุทธเจ้า หรือยกเอาศีลธรรมชุดไหนให้เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ นักเรียนควรได้ศึกษาพระพุทธศาสนาในฐานะหนึ่งในศาสนาแห่งการพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถคิด วิเคราะห์ มีเหตุผล มีสติ โดยเฉพาะในสังคมที่ผู้คนมีโอกาสกำหนดถูกผิดด้วยด้วยเองได้น้อยลงเรื่อยๆ 

“บางทีคนมองในเชิงอคติว่าครูโรงเรียนรัฐขี้เกียจ พึ่งสวัสดิการ เช้าชามเย็นชาม แต่ถ้าได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง คุณจะเห็นเลยว่าวัฒนธรรมเชิงอำนาจภายในระบบแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทุกอย่างมีที่มาที่ไป อะไรที่ทำให้ครูเลือกใช้อำนาจกับเด็กแทนที่จะใช้ความเป็นมนุษย์คุยกัน ไม่ใช่อยู่ๆ เขาอยากจะบ้าอำนาจ ไม่จริง...มันมีหลายปัญหาซ้อนกันอยู่ทั้งเชิงโครงสร้างทั้งวัฒธรรม” ครูแนน สะท้อนเสียงที่ไม่ได้ยินจากใจของคุณครูที่ไม่ได้อยากเป็นทั้งเรือจ้างหรือแม่พิมพ์

....แต่เป็นครูที่อยู่ในใจของนักเรียนทุกคน