7 สัญญาณอันตราย ! เมื่อร่างกาย 'ขาดสารอาหาร'

7 สัญญาณอันตราย ! เมื่อร่างกาย 'ขาดสารอาหาร'

สำรวจร่าง สังเกต 7 สัญญาณอันตรายที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพรุนแรงเมื่อร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ

อย่ารอให้หิว อย่ารอให้กระหาย และอย่าละเลยมื้ออาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน เพราะจะทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน (ภาวะทุพโภชนาการ) หรือที่เรียกกันว่า “ขาดสารอาหาร” ซึ่งภาวะดังกล่าวไม่ได้แสดงอาการผ่านรูปร่างที่ซูบผอมเท่านั้น ทว่ายังแทรกภัยร้ายในร่างกายได้หลากหลายรูปแบบ

รศ.ดร.นพ. วีระเดช พิศประเสริฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แนะนำให้สังเกตสัญญาณอันตรายจากร่างกายที่บ่งบอกว่าเรากำลังเข้าสู่ภาวะได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนหรือไม่ ด้วย 7 อาการดังนี้

1.ร่างกายอ่อนเพลีย

ร่างกายที่อ่อนเพลียเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่อีกสาเหตุหลักคือ กินอาหารที่มีสารอาหารไม่เพียงพอ โดยเฉพาะโปรตีน เมื่อร่างกายได้รับโปรตีนไม่พอ ทำให้กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ถดถอย จนอาจทำให้รู้สึกอยากทำอะไร และถ้าขาดวิตามินหรือเกลือแร่บางชนิด ร่างกายจะไม่สดชื่นก็จะสะท้อนผ่านความอ่อนเพลียได้เช่นกัน

2.สมาธิสั้น

สังเกตได้ว่าหลายคนที่กำลังหิว เวลาอ่านหนังสือก็จะจำไม่ค่อยได้ จะทำอะไรก็ไม่ค่อยจดจ่อ เพราะมีสารอาหารหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อการทำงานของสมอง เช่น โอเมก้า 3, วิตามิน B, โพรไบโอติก, กาบ้า เป็นต้น เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารเหล่านี้ไม่ครบถ้วน จึงส่งผลให้เกิดภาวะสมาธิสั้นได้

160000636647

3.ขี้หนาว

เป็นอาการที่หลายคนไม่คาดคิดว่าเกิดจากภาวะทุพโภชนาการ และมักจะคิดว่าเป็นเรื่องความอดทนและอุณหภูมิที่ร่างกายแต่ละคนรับไหว แต่ในทางโภชนาการอาการขี้หนาวนี้เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังขาดสารอาหารประเภทไขมัน ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายถ้าอยู่ในปริมาณที่พอดี นอกจากนี้การรักษาอุณหภูมิร่างกายยังขึ้นอยู่กับกล้ามเนื้อด้วย หมายความว่าเกี่ยวพันกับภาวะขาดโปรตีนด้วยเช่นกัน

4.ผมร่วง

บางคนสระผมทีหนึ่งผมร่วงเป็นกระจุก เกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิ สารเคมีต่างๆ ในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผม และแน่นอนว่าการขาดสารอาหารก็มีผลอย่างมาก เพราะผมเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายที่ต้องการโปรตีน และการสร้างเส้นผมให้ดีและแข็งแรงไม่เพียงแค่โปรตีนเท่านั้น เพราะเส้นผมยังต้องการคาร์โบไฮเดรต เพื่อสร้างเซลล์เส้นผมที่แข็งแรง นอกจากนี้วิตามินซียังช่วยสร้างคอลลาเจนให้เส้นผม รวมถึงธาตุเหล็กก็ช่วยให้ผมงอกงามดี เรามักจะเห็นภาวะผมร่วงในคนที่กำลังลดน้ำหนักอย่างผิดวิธีนั่นเอง

5.ท้องผูก

นอกจากสาเหตุจากความผิดปกติของลำไส้ใหญ่และปัญหาทางพฤติกรรมการขับถ่ายแล้ว การรับประทานอาหารที่มีกากใยไม่เพียงพอ และการดื่มน้ำน้อยก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ท้องผูก กากใยอาหารทั้งชนิดที่ละลายน้ำและไม่ละลายน้ำมีส่วนช่วยให้อุจจาระเป็นก้อน อ่อนนุ่ม และขับถ่ายง่าย นอกจากนี้ กากใยอาหารยังมีส่วนช่วยทำให้จุลินทรีย์ในลำไส้มีชนิดและจำนวนที่เหมาะสม ซึ่งทำให้การขับถ่ายเป็นปกติ ป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และลดการเกิดโรคในระบบอื่นๆ อีกมากมาย

160000638558

6.แผลหายช้า

กระบวนการสมานแผลของร่างกายประกอบไปด้วย กระบวนการอักเสบ กระบวนการงอกของเส้นเลือดและเนื้อเยื่อ และกระบวนการตกแต่งบาดแผล ซึ่งต้องอาศัยสารอาหาร ได้แก่ โปรตีน กรดไขมันจำเป็น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี และสังกะสี การขาดสารอาหารเหล่านี้ทำให้กระบวนการอักเสบยาวนานขึ้น และความสามารถในการสร้างคอลลาเจน เส้นเลือด และเนื้อเยื่อพังผืดลดลง ส่งผลให้แผลหายช้า

7.เจ็บป่วยง่ายและฟื้นตัวช้า

โปรตีนมีส่วนสำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน การเจริญเติบโต และการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอไปของร่างกาย การที่ร่างกายเจ็บป่วยง่ายบ่งบอกว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง ซึ่งการรับประทานโปรตีนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอาจทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง นอกจากนี้ หากเจ็บป่วยผู้ป่วยที่รับประทานโปรตีนไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายจะหายจากโรคหรือจากการติดเชื้อช้า และการฟื้นตัวของร่างกายต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับมาเหมือนปกติเมื่อเทียบกับคนทั่วไป

7 สัญญาณที่กล่าวมาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนที่เจ็บป่วยเท่านั้น แต่เกิดได้กับทุกคนที่ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ แนะนำว่านอกจากกินครบ 3 มื้อแล้ว ในแต่ละมื้อต้องมีสารอาหารครบถ้วนด้วย ทว่า หากไม่มั่นใจว่าสารอาหารครบถ้วนหรือไม่ก็อาจเสริมด้วยอาหารทางการแพทย์ซึ่งปัจจุบันในบางผู้ผลิตเช่น ‘วันซ์ คอมพลีท’ ได้พัฒนาให้หลุดจากกรอบความเชื่อเก่าๆ ที่ว่าอาหารทางการแพทย์ต้องกินยากหรือเป็นอาหารเฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น เป็นอาหารทางการแพทย์สูตรครบถ้วนผสมใยอาหารที่กินง่าย อร่อย และมีประโยชน์

ลองสำรวจตัวเองดูว่า มีสัญญาณใดเกิดขึ้นกับคุณบ้าง แล้วอาหารมื้อต่างๆ ที่ผ่านมาหรือมื้อต่อไปที่กำลังจะเลือกกินนั้นมีสารอาหารครบถ้วนหรือเปล่า อย่าละเลยสัญญาณเตือนจากร่างกาย แก้ก่อนที่จะสายเกินไป