กฏหมายความมั่นคงใหม่ฮ่องกงบั่นทอนอิสระการศึกษา

กฏหมายความมั่นคงใหม่ฮ่องกงบั่นทอนอิสระการศึกษา

ตอนนี้มีกระแสวิตกกังวลแพร่ในหมู่นักศึกษาต่างประเทศในฮ่องกงว่ากฏหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่จีนประกาศใช้กับฮ่องกง อาจจะบั่นทอนอิสระและเสรีภาพด้านการศึกษาของเกาะนี้ และล่าสุด บรรดานักวิชาการและนักศึกษาจำนวนมากเริ่มมองหาลู่ทางไปศึกษาต่อในประเทศอื่นๆแทน

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยในฮ่องกงเป็นเหมือนแดนสวรรค์ด้านวิชาการในเอเชียทั้งในมิติของการทำงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่สำหรับ“แคทเธอรีน เฉิน”และนักวิชาการคนอื่นๆ กลับมามุมมองที่ต่างออกไป

เฉิน ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อของไต้หวันวางแผนที่จะตีพิมพ์งานวิจัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันที่จะมีขึ้นในเดือนม.ค.ที่ไชนีส ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ฮ่องกง ในต้นปีหน้า แต่กฏหมายความมั่นคงฉบิบใหม่ของฮ่องกง ทำให้เธอต้องคิดใหม่

“ฉันไม่มั่นใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับฉัน หากฉันพูดถึงปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในฮ่องกงและการเลือกตั้งของไต้หวัน เพื่อนของฉันหลายคนที่คุ้นเคยกับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับบรรดามหาวิทยาลัยในฮ่องกงก็เริ่มลังเลใจที่จะเดินทางไปฮ่องกง หลังจากกฏหมายความมั่นคงฉบับใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้”เฉิน กล่าว

กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของฮ่องกงกำหนดให้การกระทำดังต่อไปนี้เป็นอาชญากรรมนั่นคือ การแบ่งแยกดินแดน โดยแยกตัวเป็นอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่ การล้มล้างอำนาจ ด้วยการบ่อนทำลายอำนาจหรือการปกครองของรัฐบาลกลาง การก่อการร้าย ด้วยการใช้ความรุนแรงหรือการข่มขู่ประชาชน การสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติหรือกองกำลังจากภายนอก

สิ่งที่ตามมา หลังจากมีกฏหมายนี้แล้วคือรัฐบาลจีนจะเข้าไปตั้งสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง ซึ่งจะมีหน้าที่เก็บข้อมูลด้านข่าวกรอง และจัดการกับอาชญากรรมเพื่อความมั่นคงของชาติ โดยสำนักงานนี้ สามารถส่งคดีบางคดีไปเข้ารับการพิจารณาในจีนแผ่นดินใหญ่ได้ แม้รัฐบาลจีนจะระบุว่ามีอำนาจกับคดีเพียงจำนวนน้อยก็ตาม

นอกจากนี้ ฮ่องกงจะต้องตั้งคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติเพื่อบังคับใช้กฎหมายนี้ โดยมีที่ปรึกษาที่รัฐบาลจีนแต่งตั้งขึ้น ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกงจะมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาคดีด้านความมั่นคงแห่งชาติ จึงทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของระบบตุลาการ

“ทัม ยู-ชง” ผู้แทนฮ่องกงเพียงคนเดียวในคณะกรรมการร่างกฎหมายของจีน ระบุว่า โทษจำคุกในความผิดด้านความมั่นคงของชาติจะอยู่ที่ระหว่าง 5-10 ปี และที่สำคัญคือ รัฐบาลจีนจะมีอำนาจเรื่องการตีความตัวบทกฎหมาย ไม่ใช่หน่วยงานด้านตุลาการหรือด้านนโยบายของฮ่องกง ซึ่งหากเกิดกรณีที่กฎหมายฉบับนี้ไปขัดกับกฎหมายฮ่องกง รัฐบาลจีนก็มีสิทธิพิเศษในการเข้าไปจัดการ

“ฮ่องกงหมดเสน่ห์และไม่น่าดึงดูดใจด้านการศึกษาสำหรับเราแล้ว ในอดีต ฮ่องกงเป็นดินแดนแลกเปลี่ยนทางวิชาการที่ได้รับความนิยมอย่างมากเนื่องจากเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออก เป็นดินแดนที่มีความหลากหลายและมีอิสระเสรีภาพในการพูด และการแสดงออก แต่ตอนนี้ ข้อได้เปรียบที่ทำให้ฮ่องกงน่าดึงดูดใจด้านการศึกษาค่อยๆหมดไป”เฉิน กล่าว

“แพน จ้าว-หมิน” ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไทจงของไต้หวัน แสดงความวิตกกังวลคล้ายๆกันว่า ตอนนี้นักวิชาการหลายคน ซึ่งรวมถึงตัวเขาปฏิเสธที่จะเข้าร่วมงานสัมมนาตามมหาวิทยาลัยในฮ่องกง ตั้งแต่กฏหมายความมั่นคงฉบับใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้

“พวกอาจารย์ โดยเฉพาะอยู่ในสาขารัฐศาสตร์การเมืองแบบเดียวกับพวกเรา เริ่มลังเลและระมัดระวังตัวมากขึ้นในการเดินทางไปฮ่องกงเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเชิงวิชาการ หรือไปกล่าวปาถกฐา เพราะทุกคนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่จะตามมา จากการใช้กฏหมายความมั่นคงฉบับใหม่ เพราะฉะนั้น บรรยากาศด้านวิชาการในฮ่องกงจึงเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง”แพน กล่าว

ที่ผ่านมา ฮ่องกงได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิชาการระหว่างประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเสรีภาพและการเคารพสิทธิพลเรือนที่มีมาช้านาน ซึ่งทำให้การวิจัยและการหารือในประเด็นละเอียดอ่อนเป็นไปอย่างคึกคัก แต่หากเป็นในจีน สิ่งเหล่านี้จะไม่มีวันเกิดขึ้น เพราะจะถูกเซนเซอร์โดยทางการจีนทันที