ปรับตัวให้ 'รอด' ในทุกสถานการณ์

ปรับตัวให้ 'รอด' ในทุกสถานการณ์

การ "ปรับตัว" ได้ในทุกสถานการณ์จึงน่าจะเป็นหนึ่งในทางรอดเดียวที่บอบช้ำน้อยที่สุด โดยเฉพาะวิกฤติโควิด-19 ที่หลายคนมองว่าหนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ผลกระทบที่เกิดขึ้นทวีความรุนแรงมากกว่าหลายเท่า หากไม่มองในแง่ลบเกินไปอาจมองเห็นโอกาสในวิกฤติก็ได้

วิกฤติมากมายที่โลกกำลังเผชิญอยู่วันนี้ กำลังสอนบทเรียนครั้งใหญ่ให้มนุษย์ เป็นวิกฤติซ้อนทับอีกหลายวิกฤติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และโรคระบาด ทุกส่วนกำลังถูกสั่นคลอนด้วยความเป็นไปของโลกยุคใหม่ ที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้ง ปัญหามากมาย โรคระบาดโควิด-19 ที่ไม่มีทีท่าว่าบรรเทาลง ยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน แม้แต่ในประเทศไทย ก็ยังไม่สามารถวางใจได้

ปัญหามากมายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก และลุกลามกลายเป็นปัญหาคนว่างงานที่อาจเพิ่มมากขึ้นจากความ “ไม่ไหว” ของธุรกิจที่ยากจะยืนระยะได้ต่อ ยิ่งถ้าไม่มีแผนสำรองไว้รองรับด้วยแล้วยิ่งน่าหนักใจ ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมานี้ ในวงธุรกิจมีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง ถึงแผนการรับมือ การปรับตัว รวมถึงข้อเสนอไปยังรัฐบาลที่เป็นผู้บริหารประเทศ สิ่งหนึ่งที่เห็นตรงกันนอกจากมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐแล้ว คือ ธุรกิจต้องปรับตัวให้ได้ ไม่ใช่ปรับตัวเพื่อเป็นที่หนึ่ง แต่ปรับตัวเพื่อให้ “รอด” กับมวลมหาวิกฤติครั้งนี้

หลักสูตร "ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น" สำหรับซีอีโอ หรือ "ดีทีซี" ที่ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้จัดขึ้นร่วมกับพันธมิตร และปิดหลักสูตรรุ่นที่ 2 ไปเมื่อวานนี้ (11 ก.ย.) เป็นอีกหนึ่งเวทีที่นักธุรกิจระดับซีอีโอองค์กรขนาดใหญ่ ผลัดเปลี่ยนมาแบ่งปันองค์ความรู้ ให้คำแนะนำ ถอดบทเรียนต่างๆ ในยุคที่โลกไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะการปรับตัว วิธีคิดการบริหารธุรกิจแบบใหม่ การพลิกโอกาสในท่ามกลางวิกฤติ หลายเรื่องเป็นประเด็นที่น่าคิด และนำไปต่อยอดในแนวทางที่เป็นของตัวเอง 

หนึ่งในข้อเสนอที่น่าสนใจของ “ปฐมา จันทรักษ์” รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ที่กล่าวไว้ในหลักสูตรดีทีซี วานนี้ คือ องค์กรที่สามารถอยู่รอดช่วงโควิด ควรกลับมาทบทวนตัวเอง ความต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและการคิดนอกกรอบ ต้องเร่งลงทุนเทคโนโลยี เพื่อช่วยประหยัดต้นทุน ค่าใช้จ่าย ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น

ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ทุกวันนี้ หลายคนสรุปไว้แล้วว่า หนักกว่า วิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เพราะสภาพความเปลี่ยนแปลงในสังคมวันนี้ไม่เหมือนเดิม ทำให้ผลกระทบที่เราได้รับทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าหลายเท่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ก็ติดลบ แน่นอนว่าดัชนีทางเศรษฐกิจที่ติดลบ ย่อมสร้างภาวะบีบคั้นและก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอีกมากมายตามมา 

แต่ผลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ หากเราไม่มองในแง่ลบเกินไปนัก คือ “โอกาส” ที่อาจมีบางคนไขว่คว้าได้ทัน โอกาสอาจก่อให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ ก่อให้เกิดนักธุรกิจรุ่นใหม่ บริษัทใหม่ที่น่าสนใจ การเปลี่ยนแปลง เป็นวัฏจักรที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทุกวิกฤติย่อมก่อให้เกิดโอกาส เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ย่อมมีทั้งคนที่พร้อมเปลี่ยนแปลง ยอมเปลี่ยนแปลง และกล้าเอาชนะข้อจำกัดของตัวเอง คนกลุ่มนี้เองที่จะได้ "โอกาส" มากที่สุด ดังนั้นการ "ปรับตัว" ได้ในทุกสถานการณ์จึงน่าจะเป็นหนึ่งในทางรอดเดียวที่บอบช้ำน้อยที่สุด