กรมส่งเสริมสหกรณ์ ชี้แจง เหตุข่าวทุจริตในสหกรณ์ฯสโมสรรถไฟ

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ชี้แจง เหตุข่าวทุจริตในสหกรณ์ฯสโมสรรถไฟ

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการทุจริต ในสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด


กรมส่งเสริมสหกรณ์ ขอชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่มีสื่อมวลชนบางแห่งเสนอข่าวการทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด (สอ.สรฟ.) โดยระบุว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล ละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้เกิดการทุจริตในสหกรณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อสหกรณ์เจ้าหนี้กว่า 90 แห่ง มูลค่าเสียหายกว่า 23,000 ล้านบาท และจนปัจจุบันยังไม่มีการแก้ไขปัญหาการทุจริตและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการชี้แจงนี้เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องในการปฏิบัติหน้าที่ของกรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละช่วงเวลาและภารกิจ และเพื่อมิให้สมาชิก สอ.สรฟ. และสหกรณ์เจ้าหนี้เกิดความตื่นตระหนก ดังนี้ 

โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ขอยืนยันว่า นับแต่กรมได้รับรายงานการพบการกระทำส่อทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ (สอ.สรฟ.) ประมาณเดือน ต.ค.2559 กรณีกรรมการ สอ.สรฟ. อนุมัติเงินกู้พิเศษไม่เป็นไปตามระเบียบ ให้แก่สมาชิก 6 รายในช่วงปี 2556 - 59 รวม 199 สัญญา ยอดเงินกู้คงเหลือ 2,285 ล้านบาท กรมไม่ได้มีการละเลย หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่มีการสื่อข่าวออกมา ตรงกันข้ามกรมได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาทันทีที่ได้มีการตรวจพบและติดตามอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันที่ 2 ส.ค.61 คณะกรรมการ สอ.สรฟ. แจ้งความดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญา กับกรรมการชุดที่กระทำผิดต่อพนักงานสอบสวนจนเสนอสำนวนให้พนักงานอัยการสั่งฟ้อง แต่มีปัญหาเรื่องเขตอำนาจสอบสวนจึงมีการส่งสำนวนกลับมาให้ สน.นพวงศ์ ดำเนินการสอบสวนต่อ ปัจจุบันเรื่องยังคงอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน  

ดังนั้น จึงไม่ได้มีการปล่อยให้เกิดการทุจริตแล้วไม่ดำเนินการตามข่าวแต่อย่างใด ขณะเดียวกันในระหว่างปี 61 จนถึงปัจจุบัน กรมได้จัดให้มีการหารือระหว่าง สอ.สรฟ. และสหกรณ์เจ้าหนี้เงินฝากและเงินกู้ทั้ง 15 แห่ง รวม 3,037.51 ล้านบาท  (ณ เดือนตุลาคม 2562) เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของ สอ.สรฟ. จนนำมาสู่การทำข้อตกลงร่วมกันในการชำระเงินฝากคืนให้กับสหกรณ์เจ้าหนี้ 9 แห่ง และทยอยชำระหนี้เงินกู้ให้กับสหกรณ์เจ้าหนี้ 1 แห่ง ซึ่งตอนนี้มียอดหนี้คงเหลือตามบันทึกข้อตกลง 2,153 ล้านบาท และที่ สอ.สรฟ. ปฏิเสธหนี้ของ 5 สหกรณ์เจ้าหนี้ 747 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่าง การดำเนินคดีตามกฎหมายของสหกรณ์เจ้าหนี้

ทั้งนี้ปัจจุบัน สภาพคล่องของ สอ.สรฟ. ณ เดือน ส.ค.2563 พบว่า มีเงินเข้ามา 53.4 ล้านบาท ต่อเดือน สามารถจ่ายเงินกู้ให้สมาชิกประมาณ 18.5 ล้านบาท จ่ายคืนเงินฝากแก่สมาชิก 6.5 ล้านบาท ชำระหนี้/จ่ายคืนเงินฝากแก่สหกรณ์เจ้าหนี้ตามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน 25.48 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายบริหารจัดการ 1.03 ล้านบาท มีเงินสดเหลือ 1.86 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นผลดีของการร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ทำให้ สอ.สรฟ. ดำเนินธุรกิจต่อไปและสามารถชำระหนี้กับสหกรณ์เจ้าหนี้ได้ตามข้อตกลง

อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวจะมีการติดตามประมวลผลทุก 3 เดือน และทบทวนแผนทุก 1 ปี และประการสำคัญพบว่า ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562  ของสหกรณ์เจ้าหนี้ทั้ง 15 แห่ง ที่ผ่านมา ทุกสหกรณ์มีผลกำไรสามารถจ่ายเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนให้กับสมาชิกได้  ในขณะที่สหกรณ์ที่ถูกปฏิเสธการชำระหนี้ทั้ง 5 สหกรณ์ เนื่องจากกรรมการ สอ.สรฟ. ชุดที่ 13 พบว่าผู้ลงนามในสัญญาเงินกู้ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมาย โดยได้มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแล้ว      

ทั้งนี้ กรมยืนยันว่าในการแก้ไขปัญหาตามลำดับเหตุการณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ยึดแนวการแก้ไขตามระเบียบและ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 ที่ให้อำนาจไว้ทุกประการ

ลำดับเหตุการณ์

วันที่ 10 – 13 ต.ค.2559 คณะผู้ตรวจการสหกรณ์เฉพาะกิจเข้าตรวจสอบการให้เงินกู้พิเศษตามที่ได้รับการประสานจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ที่พบว่ามีการอนุมัติเงินกู้พิเศษไม่เป็นไปตามระเบียบให้แก่สมาชิก 6 ราย ในช่วงปี 2556 - 59 รวม 199 สัญญา ยอดเงินกู้คงเหลือ 2,285 ล้านบาท หลังพบเหตุ 21 พ.ย.59 ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ได้รับมอบอำนาจจากอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีคำสั่งให้ระงับการให้เงินกู้พิเศษแก่ 6 ราย จากนั้น 29 พ.ย.59 นายทะเบียนสหกรณ์ได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการ สอ.สรฟ. แก้ไขข้อบกพร่องโดยให้ทั้ง 6 ราย ส่งเงินกู้พิเศษก้อนดังกล่าวคืนภายใน 60 วัน ในเดือน มี.ค.60

เมื่อกรมพบว่าคณะกรรมการ สอ.สรฟ. ยังแก้ไขไม่ครบถ้วน รองนายทะเบียนสหกรณ์ได้ให้กรรมการ สอ.สรฟ. และผู้จัดการสหกรณ์ชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่ง สอ.สรฟ. ได้ชี้แจงตอบกลับมาว่า      มีการตั้งคณะอนุกรรมการติดตามทวงเงินจาก 6 รายแล้ว และพบว่าคณะกรรมการ สอ.สรฟ. ที่อนุมัติเงินกู้ผิดระเบียบ คือกรรมการ สอ.สรฟ. ชุดที่ 7,8,9,10 และชุดที่ 11  ดังนั้น วันที่ 11 ก.ค. 60 นายทะเบียนสหกรณ์จึงสั่งการให้คณะกรรมการฯ มีหนังสือเรียกให้อดีตกรรมการในชุดที่ 7 - 11 ชดใช้เงินคืนกับ สอ.สรฟ. ภายใน 30 วัน และให้ตรวจสอบว่ามีผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ สอ.สรฟ. มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่  เพื่อดำเนินการทางวินัยต่อไป และหากว่าผู้กู้ทั้ง 6 ราย ไม่คืนเงินให้ดำเนินการร้องทุกข์ฟ้องคดีภายใน 15 วัน หรือหากผู้กู้ทั้ง 6 ราย อ้างว่ายังไม่ครบอายุสัญญาให้บอกเลิกสัญญาและเรียกคืนเงินกู้ทั้งหมดใน 30 วัน และฟ้องดำเนินคดีต่อไป

สำหรับการติดตามการแก้ไขข้อบกพร่องของคณะกรรมการ สอ.สรฟ. และบริหารสภาพคล่องของสหกรณ์
   
เมื่อพบว่ากรรมการ สอ.สรฟ. ไม่ปฏิบัติตามที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่ง วันที่ 19 ต.ค.60 นายทะเบียนสหกรณ์ จึงร้องทุกข์กล่าวโทษคณะกรรมการ สอ.สรฟ. ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ต่อพนักงานสอบสวนที่ สน.บางรัก จากนั้น สอ.สรฟ. ได้เลือกตั้งกรรมการชุดใหม่เมื่อ 25 ต.ค.60 ได้กรรมการชุดที่ 12 ภายหลังชุดที่ 12 เข้าทำงาน   เป็นระยะเวลา 1 เดือน ผู้ตรวจการสหกรณ์ติดตามการแก้ไขพบว่า คณะกรรมการชุดที่ 12 ยังได้ดำเนินการตามคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ในทุกขั้นตอนอีกด้วย