'สุพัฒนพงษ์' ถก กบง. 21 ก.ย.นี้ เคาะแผนรื้อโครงสร้างก๊าซฯ เต็มรูปแบบ

'สุพัฒนพงษ์' ถก กบง. 21 ก.ย.นี้ เคาะแผนรื้อโครงสร้างก๊าซฯ เต็มรูปแบบ

กบง. ถก 21 ก.ย.นี้ พิจารณา 2 แนวทางแผนปรับโคงร้างก๊าซธรรมชาติ ก่อนชง กพช.ต.ค.นี้ไฟเขียว ลุ้น “หินกอง” นำเข้าแอลเอ็นจี ป้อนโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 1,400 เมกะวัตต์ ด้าน ปตท.เตรียมทดสอบรuโหลดแอลเอ็นจีเชิงพาณิชย์ ลำแรก 6.5 คิกออฟนโยบาย Regional LNG Hub

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ในวันที่ 21 ก.ย.นี้ ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมนัดแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง โดยจะมีการพิจารณาวาระสำคัญที่เป็นนโยบายคั่งค้างจากรัฐมนตรีคนก่อน เช่น แผนปรับโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่ ที่เป็นนโยบายต่อเนื่องตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2563 ซึ่งได้มอบหมายให้ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ไปทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และนำกลับมาเสนอ กพช.พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป

โดยเบื้องต้น ได้รับการรายงานข้อมูลว่า ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สนพ.และ กกพ.ได้จัดทำแนวทางนโยบายดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแผนการปรับโครงสร้างการแข่งขันกิจการก๊าซฯ ที่จะเตรียมนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ กบง. จะแบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลัก คือ แนวทางที่ 1.โครงสร้างกิจการก๊าซฯเป็นรูปแบบ Enhanced Single Buyer (ESB) หรือการกำหนดให้ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เป็นผู้รับซื้อก๊าซฯแต่เพียงรายเดียว โดยเปิดให้ภาคเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) จาก กกพ.แข่งขันนำเข้าก๊าซฯในราคาต่ำมาเสนอขายให้กับ ปตท. โดยที่ราคาก๊าซฯจะถูกนำมาคำนวนในสูตรราคาเฉลี่ยรวม (Pool Gas) ที่จัดหาจาก 3 แหล่ง คือ การจัดหาก๊าซฯจากในประเทศ, การซื้อก๊าซจากเมียนมา และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)โดย ปตท.

แนวทางที่ 2 การจัดหาก๊าซฯ จะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 ป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง ซึ่งในส่วนของโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายก๊าซฯผูกพันไว้กับ ปตท.อยู่แล้วนั้น ปตท.จะยังเป็นผู้จัดหาก๊าซฯป้อนให้กับโรงไฟฟ้าในส่วนนี้ตามเดิม

แต่ในส่วนของโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง หรือ โรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามนโยบายของรัฐในอนาคตและยังไม่มีสัญญาก๊าซฯผูกพันไว้กับ ปตท. ก็จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีใบอนุญาต LNG Shipper จัดหาก๊าซฯในส่วนนี้ได้ แต่มีเงื่อนไขว่า เอกชนจะต้องเข้ามาร่วมแบกรับความเสี่ยงต้นทุนราคาก๊าซฯด้วย โดยกำหนดให้ราคาก๊าซฯที่จัดหาจะต้องต่ำกว่า ราคา Pool Gas ฉะนั้น หากบางช่วงราคาก๊าซฯที่จัดหาเข้ามาสูงกว่า ราคา Pool Gas เอกชนรายนั้นๆจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระต้นทุนในส่วนนี้เอง เพราะรัฐจะไม่เปิดโอกาสให้ผลักภาระต้นทุนในส่วนนี้ไปเป็นภาระค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนทั่วไป ขณะเดียวกัน หากเอกชนจัดหาก๊าซฯได้ในราคาต่ำกว่า ราคา Pool Gas ก็จะเป็นประโยชน์ต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ

กรณีที่ 2 ป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง เช่น โรงไฟฟ้าของเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อขายตรงให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น ในส่วนนี้ ภาคเอกชนที่มีใบอนุญาต LNG Shipper สามารถนำเข้าก๊าซฯ ได้อย่างเสรีตามการพิจารณาของภาครัฐเป็นรายกรณี และจะต้องเสียค่าบริการการจัดเก็บและส่งก๊าซฯ ผ่านระบบท่อให้ กับ ปตท.ตามอัตราที่กำหนดไว้

ดังนั้น หากที่ประชุม กบง.ในวันที่ 21 ก.ย.นี้ เห็นชอบแนวทางดังกล่าวแล้ว ก็จะสามารถนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กพช. ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ อนุมัติต่อไป

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า มติของ กบง. จะทำให้เกิดความชัดเจนในแผนจัดหาก๊าซฯ ของ บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) ที่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง กัลฟ์ฯ ถือหุ้น 49% และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้น 51% ซึ่งปัจจุบันได้รับใบอนุญาต LNG Shipper แล้ว และมีแผนจะนำเข้า LNG ปริมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าหินกอง จ.ราชบุรี กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าในส่วนของโควตาโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ก็จะช่วยให้ได้ข้อสรุปในปีนี้ว่า บริษัท หินกองฯจะเดินหน้านำเข้า LNG เอง หรือ จะจัดซื้อก๊าซฯ กับ ปตท.

ส่วนเอกชนอีก 2 รายที่ได้ ใบอนุญาต LNG Shipper คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่มีแผนนำเข้าLNG ปริมาณ 3 แสนตันต่อปี เพื่อนำเข้ามาจำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้า SPP จำนวน 19 โครงการของกลุ่มบริษัท และบริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด มีแผนจะนำเข้า LNG ปริมาณ 6.5 แสนตันต่อปี ในปี2565 มาป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า สำหรับ 5 โรงไฟฟ้าผู้ผลิตเอกชนรายเล็กประเภททดแทน (SPP Replacement) ก็จะอยู่ในส่วนของการจัดหาก๊าซฯกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง ซึ่งก็จะเกิดความชัดเจนในแผนลงทุนได้ หลัง กบง.และ กพช.มีมติปรับโครงสร้างกิจการก๊าซฯ แล้ว

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้รับรายงานจาก ปตท. ถึงความคืบหน้าแนวทางการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Hub) ตามนโยบายภาครัฐ ที่ดำเนินการภายใต้โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (Energy Regulatory Commission Sandbox :ERC Sandbox)ของ กกพ. โดย ทาง ปตท.แจ้งว่า พร้อม จะเริ่มทดสอบกิจกรรมการให้บริการเชิงพาณิชย์ในช่วง ต.ค.นี้ ปริมาณ 65,000 ตัน เช่น ระบบบริการขนถ่าย LNG (Reload System) ให้บริการเติม LNG แก่เรือที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการเดินเรือ (Bunkering) และทำการตลาดเพื่อสื่อสารให้กับผู้ค้า LNG เข้ามาใช้บริการ ซึ่งมีแผนที่จะทดลองส่งก๊าซฯป้อนให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น กลุ่มประเทศ CLMV เป็นต้น

ขณะเดียวกันในส่วนของปัญหาการทดสอบนำเข้าและส่งออกLNG ของปตท. ล่าสุด ทางกรมศุลกากร ได้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีในส่วนของการนำเข้าเพื่อส่งออกให้กับ ปตท.แล้ว