ส่องแฮชแท็ก #BoycottMulan ทำไมต้องบอยคอต ‘มู่หลาน’

ส่องแฮชแท็ก #BoycottMulan  ทำไมต้องบอยคอต ‘มู่หลาน’

ถือเป็นหนังดิสนีย์ที่เจอประเด็นดรามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนฉายจนกระทั่งเข้าฉายแล้ว สำหรับภาพยนตร์ Mulan ฉบับคนแสดงจริง ซึ่งมีดาราสาวเชื้อสายจีน 'หลิวอี้เฟย' นำแสดง มาตรวจสอบกันว่าอะไรเป็นชนวนทำให้เกิดแฮชแท็ก #BoycottMulan ขึ้นมาบ้าง

Mulan ฉบับ live action เป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ ทุนสร้างถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ ‘วอลท์ ดิสนีย์ พิคเจอร์ส’ หมายมั่นปั่นมือว่าจะสร้างชื่อเสียง และรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับทางบริษัท แต่กลับกลายเป็นว่าต้องเจอปัญหาไม่มีหยุดหย่อนแม้กระทั่งหนังเข้าฉายแล้วก็ตาม

Mulan ฉบับคนแสดงจริงนี้เป็นภาพยนตร์ที่กำกับโดย นิกิ คาโร (Niki Caro) ผู้กำกับหญิงชาวนิวซีแลนด์ ซึ่งกล่าวว่าได้มีการตีความมู่หลานใหม่ให้แตกต่างไปจากฉบับการ์ตูนแอนิเมชั่นที่สร้างชื่อให้กับดิสนีย์มาแล้ว ส่วนประเด็นความขัดแย้งต่าง ๆ อันสืบเนื่องมาจากหนังเรื่องนี้มีดังต่อไป

  • หลิวอี้เฟย - ชักศึกเข้าบ้าน

จุดกำเนิดของแฮชแท็ก #BoycottMulan เกิดขึ้นหลังจากที่ ‘หลิวอี้เฟย’ นางเอกของเรื่องผู้รับบท ‘ฮัวมู่หลาน’ ไปสร้างความไม่พอใจให้กับชาวฮ่องกงเมื่อเธอไปรีโพสต์ข้อความของนักข่าวคนหนึ่งที่ประกาศจุดยืนว่า เขาสนับสนุนตำรวจให้ใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงในฮ่องกง

159982481012

FREDERIC J. BROWN / AFP

จริงๆ กระแสเรื่องนี้เริ่มจะซาไปพักหนึ่งแล้ว แต่พอหนังเข้าฉายทาง Disney Plus (ระบบสตีมมิงของดิสนีย์) และเข้าฉายในโรงภาพยนตร์บางประเทศ ‘โจชัว หว่อง’ แกนนำการประท้วงของฮ่องกง ก็หยิบยกเอาประเด็นนี้ขึ้นมาพูดอีกครั้ง พร้อมเรียกร้องให้ทุกคนที่เชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนพากันบอยคอตหนังมู่หลาน

เท่านั้นไม่พอ ‘หลิวอี้เฟย’ ซึ่งเป็นสาวจีนเกิดที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย แต่ย้ายตามมารดาไปอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เด็กจนกลายเป็นพลเมืองอเมริกันไปแล้ว ได้ไปให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Variety ว่าตัวเองเป็น ‘คนเอเชีย’ จนทำให้ชาวจีนพากันไม่พอใจเป็นอย่างมาก

พวกเขามองว่าอี้เฟยไม่ภาคภูมิใจในความเป็นคนจีนหรืออย่างไร ถึงไม่บอกว่าตัวเองเป็นคนจีน จนนำมาซึ่งกระแสต่อต้านในดินแดนที่เป็นต้นกำเนิดของ Mulan

เรียกได้ว่านางเอกของเรื่องเป็นผู้ชักศึกเข้าบ้าน (ในที่นี้หมายถึงภาพยนตร์เรื่อง Mulan) ทั้งจากชาวจีน และฮ่องกงด้วยตัวเองกันเลยทีเดียว

  • เอาฝรั่งมายำใหญ่วัฒนธรรมจีน

ส่วนในเรื่องของงานโปรดักชั่นนั้น ถ้าคนดูที่ไม่มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมจีนอาจจะไม่รู้สึกถึงความผิดปรกตินี้ แต่สำหรับชาวจีนแล้ว พวกเขาออกมาแสดงความไม่พอใจตั้งแต่ได้เห็นตัวอย่างหนังปล่อยออกมา ในฉากที่ฮัวมู่หลานขี่ม้าตัดทุ่งหญ้าเขียวขจีกลับไปที่บ้านของตัวเอง ซึ่งเป็นบ้านดินทรงกลมคล้ายโดนัท มุงหลังคากระเบื้อง มีกำแพงล้อมหลายชั้น และมีลานกว้างใช้ร่วมกับเพื่อนบ้านอยู่ด้านหน้า

โดยชาวจีนได้พากันไปโพสต์ในเว่ยป๋อ โซเชียลมีเดียชื่อดังของจีนว่า “นี่มันเป็นจีนโบราณสไตล์อเมริกันชัดๆ ถ้ามู่หลานมีชีวิตอยู่จริง เธอจะต้องไม่อาศัยอยู่ในบ้านแบบนี้แน่ ๆ”

นั่นก็เพราะบ้านของมู่หลานในภาพยนตร์ของดิสนีย์เป็นบ้านดินแบบที่เรียกว่า ถู่โหลว (tulou) ของชาวจีนแคะ ซึ่งจะสร้างบ้านแบบนี้อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน (ปัจจุบันเป็นมณฑลฝูเจี้ยน) ในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 13-20

แต่ทว่า ฮัวมู่หลาน ซึ่งถึงแม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเธอมีชีวิตอยู่จริงหรือไม่ และอาศัยอยู่ส่วนไหนของประเทศจีนกันแน่ โดยในบทกวีที่ชื่อ Ballad of Mulan บรรยายเอาไว้เพียงว่า เธอเป็นนักรบหญิงที่ปลอมตัวเป็นผู้ชายเพื่อออกรบแทนบิดาที่ป่วย แต่ถ้าประมวลจากการที่ต้องออกรบแล้ว มู่หลานน่าจะอาศัยอยู่ทางภาคเหนือของจีน ไม่ใช่ภาคใต้อย่างแน่นอน

เท่านั้นยังไม่พอ ชาวจีนยังวิจารณ์กันว่ามู่หลานน่าจะต้องมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาหลายร้อยปีก่อนที่บ้านแบบถู่โหลว (tulou) จะถูกสร้างขึ้นด้วย

159982510195

บ้านแบบถู่โหลว MARK RALSTON / AFP

โดยนักวิชาการจีนวิเคราะห์เอาไว้ว่าเรื่องราวของมู่หลานน่าจะมีต้นกำเนิดในสมัยราชวงศ์เว่ยเหนือ ซึ่งปกครองภาคเหนือของจีนในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 386 – 535 แถมในบทกวี Ballad of Mulan ยังเขียนเอาไว้ว่าเธอได้นอนหลับอยู่ริมแม่น้ำเหลืองในคืนแรกหลังจากที่ออกจากบ้านมา ซึ่งเป็นอีกจุดที่ระบุว่ามู่หลานต้องมาจากทางเหนือของจีนอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้เอง บรรดาชาวเน็ตจีนจึงเข้าไปวิจารณ์กันอย่างสนุกสนานในช่วงที่เห็นตัวอย่างหนังว่า “เธอเดินทางจากฝูเจี้ยนมาถึงแม่น้ำเหลืองได้ในวันเดียว มู่หลานต้องนั่งรถไฟความเร็วสูงมาแน่ๆ”

  • สนับสนุนการปราบปรามชาวอุยกูร์

ส่วนความขัดแย้งล่าสุดที่เพิ่งปรากฎขึ้นมาหลังจากหนังเข้าฉายก็คือประเด็นที่ทางการจีนปฏิบัติต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ เพราะ Mulan ฉบับปี 2020 ไปถ่ายทำในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ด้วย แถมในตอนท้าย หลังจากที่หนังจบ ยังมีการขึ้นเครดิต “ขอบคุณเป็นพิเศษ” ต่อ กรมประชาสัมพันธ์ คณะกรรมาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

159982519561

credit: @jeannette_ng บัญชีทวิตเตอร์ของนักเขียน Jeannette Ng

ทั้งนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ออกคำสั่งโยกย้ายชาวมุสลิมอุยกูร์จำนวนนับล้านคนไปอยู่ในค่ายปรับทัศนคติ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อแก้ปัญหาการแบ่งแยกดินแดน และกลุ่มพวกหัวรุนแรงทางศาสนา ขณะที่มีรายงานว่าจริงๆ แล้วค่ายเหล่านี้ก็คือค่ายกักกันแรงงานดี ๆ นี่เอง มีทั้งการบังคับให้ชาวอุยกูร์เรียนภาษาจีนกลาง ห้ามทำละหมาด หรือไว้หนวดเคราตามความเชื่อทางศาสนาของพวกเขา

นอกจากนี้ เครดิตท้ายหนัง Mulan ยังขอบคุณ สำนักงานรักษาความปลอดภัยเมืองถูลู่ฟาน (Turpan) ในมณฑลซินเจียง ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคมปี 2563 เพิ่งถูกรัฐบาลสหรัฐแซงก์ชั่นในบัญชีรายชื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน (Entities List for human rights violations)

โดยบรรดาผู้ที่ออกมาติดแฮชแท็กบอยคอตมู่หลานนั้นให้เหตุผลว่า การสนับสนุนภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เปรียบได้กับว่าคุณกำลังทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นมันยุ่งยากซับซ้อนขึ้นนั่นเอง

159982539229

อย่างไรก็ตาม คริสตีน แมคคาร์ธี (Christine McCarthy) ผู้ดำรงตำแหน่ง Head of Finance ของดิสนีย์ ได้กล่าวถึงกระแสบอยคอตที่เกิดขึ้นว่าการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นนั้นถูกกระพือให้ใหญ่โตเกินความเป็นจริงไปมาก โดย Mulan นั้นไปถ่ายทำที่ซินเจียงเพียงนิดเดียว

“ข้อเท็จจริงก็คือ Mulan ถ่ายทำเกือบทั้งหมดที่นิวซีแลนด์ แต่ด้วยความพยายามที่จะเก็บภาพภูมิทัศน์และภูมิประเทศที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศจีนเอาไว้ในภาพยนตร์ย้อนยุคเรื่องนี้ได้อย่างถูกต้องที่สุด เราจึงไปถ่ายทำกันตามสถานที่ต่าง ๆ 20 แห่งในจีน

แล้วมันเป็นสิ่งที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าการจะเข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ในจีนได้ คุณจะต้องได้รับการอนุญาตก่อน ซึ่งการอนุญาตนั้นต้องมาจากรัฐบาลกลาง ดังนั้น ในเครดิตของเรา จึงต้องระบุทั้งโลเคชั่นในจีนและนิวซีแลนด์ แต่มันกลับทำให้เกิดปัญหามากมายสำหรับเรา” คริสตีน แมคคาร์ธี กล่าวชี้แจงเรื่องนี้เอาไว้ในการประชุมผ่านจอภาพกับทาง Bank of America

ในส่วนของรัฐบาลจีนเองนั้นได้ออกคำสั่งห้ามสื่อต่าง ๆ เขียนถึงภาพยนตร์ Mulan เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ไปกระตุ้นความสนใจให้เกิดขึ้น เรื่องที่สื่อต่างชาติกำลังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ดิสนีย์มีสายสัมพันธ์กับทางซินเจียง

159982544669

สำหรับในประเทศไทยนั้น ข้อมูลจากชมรมวิจารณ์บันเทิงระบุว่า ภาพยนตร์เรื่อง Mulan ซึ่งเข้าฉายเมื่อวันที่ 4 กันยายน ทำรายได้ถึง 40.50 ล้านบาทแล้ว (นับถึงวันที่ 10 กันยายน) สะท้อนให้เห็นว่ากระแสบอยคอตมู่หลานไม่ส่งผลต่อคอหนังชาวไทยเท่าไรนัก