ผู้ผลิตจ่อสูญ 2.6 หมื่นล้านดอลล์ หลังสหรัฐแบนหัวเว่ยรอบใหม่

ผู้ผลิตจ่อสูญ 2.6 หมื่นล้านดอลล์ หลังสหรัฐแบนหัวเว่ยรอบใหม่

ใกล้เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเข้ามาทุกที รัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยิ่งเร่งเครื่องทำทุกวิถีทางที่แสดงให้ชาวอเมริกันเห็นว่า รัฐบาลรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศตามที่เคยประกาศไว้

ล่าสุด รัฐบาลสหรัฐคว่ำบาตรหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ สัญชาติจีนรอบใหม่ โดยให้มีผลตั้งแต่วันอังคาร(8ก.ย.)สร้างผลกระทบต่อกระบวนการผลิตของบริษัทที่จัดหาชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ลูกค้าในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้และทำให้สูญเสียรายได้ในส่วนนี้ปีละหลายหมื่นล้านดอลลาร์

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ประกาศเมื่อเดือนที่แล้ว ห้ามบริษัทอเมริกันจัดหาวัตถุดิบในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือแม้กระทั่งดีไซน์ ซอฟต์แวร์ให้หัวเว่ย เพราะส่วนใหญ่ บรรดาบริษัทที่ออกแบบชิพมักใช้เครื่องออกแบบอัตโนมัติที่สร้างขึ้นในสหรัฐและในโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์มักจะผลิตส่วนประกอบชิพที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าของอเมริกัน

การประกาศห้ามครั้งนี้ของกระทวงพาณิชย์สหรัฐ มีเป้าหมายเพื่อสกัดหัวเว่ยไม่ให้มีแหล่งสั่งซื้อชิ้นส่วนที่สำคัญเพื่อนำไปผลิตสมาร์ทโฟน และสร้างสถานีฐานผ่านทางซัพพลายเออร์นอกประเทศแต่การห้ามครั้งนี้ ส่งผลกระทบไปไกลกว่าบริษัทจีน แม้ว่าไตรมาสล่าสุด ยอดขายสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยจะสูงสุดอันดับ1ของยอดขายสมาร์ทโฟนทั่วโลกเป็นครั้งแรก แซงหน้ายอดขายสมาร์ทโฟนของบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งยังเป็นผู้นำในตลาดสถานีฐานเคลื่อนที่ของโลกโดยครองส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วน 30%

“อะกิรา มินามิกาวา” ผู้อำนวยการบริษัทออมเดีย ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยสัญชาติอังกฤษ ประเมินว่า บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ไต้หวันและเกาหลีใต้ รวมกันจัดหาชิ้นส่วนให้แก่หัวเว่ยในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่า 2.8 ล้านล้านเยน (26.4 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งหากการผลิตของหัวเว่ยหยุดชะงักจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจนี้

บรรดาบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งจัดหาวัตถุดิบให้หัวเว่ยในสัดส่วนเกือบ 30% คือกลุ่มบริษัทที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เฉพาะบริษัทโซนี บริษัทเดียวก็รายงานยอดขายตัวเซนเซอร์ภาพบนสมาร์ทโฟนให้บริษัทหัวเว่ยในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งเซนเซอร์ภาพบนสมาร์ทโฟนของโซนี่เป็นฟังก์ชั่นหลักที่ช่วยให้โซนี่มีกำไรจากการขายสมาร์ทโฟนทั่วโลก

ส่วนไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง โค ผู้ผลิตชิพตามสัญญารายใหญ่สุดของโลก มีรายได้แต่ละปีกว่า 5 พันล้านดอลลาร์จากการทำธุรกิจกับหัวเว่ย เช่นเดียวกับมีเดีย เทค ผู้ออกแบบเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติไต้หวัน มีรายได้จากหัวเว่ยในแต่ละปี คิดเป็นมูลค่าเกือบ 500 ล้านดอลลาร์ ยังไม่นับที่หัวเว่ย เป็นผู้ซื้อหลักที่สั่งซื้อเมมโมรีจากซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ สัญชาติเกาหลีใต้

นอกจากนี้ ผลกระทบจากคำสั่งแบนของสหรัฐ ยังครอบคลุมไปถึงกลุ่มบริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์อื่นๆ อาทิ แบตเตอรี่ และบอร์เซอร์กิต ซึ่งที่ผ่านมา หัวเว่ย พยายามลดผลกระทบในเรื่องนี้ด้วยการจัดซื้อชิพที่ผลิตโดยบริษัทจีนเป็นทางเลือกหนึ่ง โดยปัจจุบัน บริษัทได้จ้างบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป ผู้ผลิตชิพรายใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนให้ผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์

แต่รัฐบาลสหรัฐก็ตามเล่นงานหัวเว่ยและบริษัทเทคโนโลยีจีนไม่ยอมเลิกลา ล่าสุด กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ประกาศว่า กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มบริษัทเอสเอ็มไอซี ไว้ในบัญชีดำ ซึ่งบริษัทเอสเอ็มไอซี เป็นผู้ผลิตชิพอีกรายที่พึ่งพาเทคโนโลยีอเมริกัน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ระบุว่า จะยกเว้นการห้ามทำธุรกิจกับหัวเว่ยแก่บริษัทที่ยื่นขอการยกเว้น ซึ่งล่าสุด โซนี่ บอกว่า กำลังยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาติขายสิ้นค้าให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน เช่นเดียวกับบริษัทเอสเค ไฮนิกซ์ ของเกาหลีใต้ ที่กำลังชั่งน้ำหนักทางเลือกต่างๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนบริษัทมีเดีย เทค ระบุว่า ได้ยื่นเอกสารเพื่อขออนุญาติกับทางการสหรัฐแล้ว

แต่นักวิเคราะห์บางคนอย่าง กานะ อิตาบาชิ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกฏหมายระหว่างประเทศ มีความเห็นว่า การอนุญาติหรือผ่อนปรนเป็นเรื่องยาก ด้วยเหตุนี้ บรรดาซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนจึงเริ่มมองหาผู้ซื้อรายใหม่ที่ไม่มีปัญหากับสหรัฐเหมือนอย่างหัวเว่ย และหากสถานการณ์เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่ บริษัทเหล่านี้อาจต้องตัดสินใจเลิกทำธุรกิจกับหัวเว่ย

เจแปน ดิสเพลย์ ผู้ผลิตจอแอลซีดี กำลังพยายามขายจอแอลซีดีให้กับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อื่นๆของจีน รวมถึง ออปโป้ เสี่ยวหมี่ และวิโว ซึ่งบริษัทคู่แข่งเหล่านี้มองว่าการที่ทางการสหรัฐจ้องเล่นงานหัวเว่ย เปิดโอกาสให้บริษัทคว้าสัญญาในการผลิตสินค้าได้มากขึ้น