6 เดือนระบาดใหญ่ โควิด-19พลิกโลก

6 เดือนระบาดใหญ่ โควิด-19พลิกโลก

นับตั้งแต่องค์การอนามัยโลก ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นการระบาดใหญ่เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ถึงวันนี้เป็นเวลาได้ 6 เดือนแล้วที่ชีวิตผู้คนต้องปั่นป่วน แต่ละวันโลกพยายามทำความเข้าใจกับโควิด แต่ยังมีประเด็นให้ต้องเรียนรู้อีกมากดังนี้

นับตั้งแต่องค์การอนามัยโลก ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นการระบาดใหญ่เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ถึงวันนี้เป็นเวลาได้ 6 เดือนแล้วที่ชีวิตผู้คนต้องปั่นป่วน แต่ละวันโลกพยายามทำความเข้าใจกับโควิด แต่ยังมีประเด็นให้ต้องเรียนรู้อีกมากดังนี้

  • หวั่นยุโรปเจอระลอก2

ในยุโรป ที่ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดก่อนเข้าฤดูร้อน เพื่อให้ผู้คนเดินทางท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ ล่าสุดอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกโดยเฉพาะในสเปน ฝรั่งเศส และอังกฤษ การเปิดเรียนและให้ประชาชนกลับเข้าออฟฟิศจึงมีอุปสรรค

อย่างไรก็ตาม แม้การตรวจหาเชื้อตอนนี้ขยายวงออกไปมาก แต่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังต่ำกว่าเดือน มี.ค. และเม.ย. ก่อนเริ่มล็อกดาวน์อยู่มาก กระนั้นสิ่งที่พึงระวังคือ ผู้ติดเชื้อตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่มีอาการไม่มากนัก แต่ผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าเมื่อเวลาผ่านไป คนเหล่านี้จะนำโรคไปติดกับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ

  • ติดเชื้อซ้ำกับภูมิคุ้มกัน

ผลการศึกษาจำนวนหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า มีคนติดเชื้อซ้ำหลังจากหายป่วยแล้ว ก่อให้เกิดความกังวลถึงการสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ของมนุษย์อย่างถาวร ไม่ว่าจะด้วยการติดเชื้อหรือฉีดวัคซีน

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำรายแรกที่ได้รับการยืนยัน เป็นชายฮ่องกงวัย 33 ปี ตรวจพบจากการคัดกรองที่สนามบินหลังจากหายป่วยมาแล้ว 4.5 เดือน

รอบนี้เขาไม่มีอาการ ที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนดีใจว่า นี่คือสัญญาณแห่งความหวังว่าระบบภูมิคุ้มกันของเขาเรียนรู้การปกป้องตนเองจากโรคนี้แล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์ยังคงเตือนว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุปจากการติดเชื้อซ้ำเพียงไม่กี่ราย จากผู้ติดเชื้อทั่วโลกหลายล้านราย และตอนนี้ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าติดเชื้อซ้ำได้อย่างไร

ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ต่อโควิด-19 ยังคงต้องศึกษากันต่อไป หลายคนเน้นไปที่แอนติบอดี แต่ก็มีการศึกษาเซลล์เม็ดเลือดขาวขนาดเล็กที่เรียกว่า เซลล์ลิมโฟไซท์ ชนิดทีเซลล์ ที่อาจสร้างความทรงจำภูมิคุ้มกันได้ กระนั้นความรู้เกี่ยวกับวิธีที่เซลล์เหล่านี้จัดการกับโควิด-19 ก็น้อยเต็มที

  • เด็กกับโควิด

ขณะที่เด็กกำลังกลับเข้าชั้นเรียน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจริงๆ แล้วเด็กๆมีส่วนช่วยแพร่โควิด-19 หรือไม่ เท่าที่ทราบคือเด็กที่ติดโควิดแทบไม่มีอาการรุนแรง ส่วนใหญ่มีอาการน้อยหรือไม่มีเลย แล้วพวกเขาจะแพร่เชื้อได้หรือไม่นั้น ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคยุโรปเผยว่า ถ้ามีอาการเด็กๆ สามารถแพร่ไวรัสได้ในปริมาณเดียวกับผู้ใหญ่ และติดคนอื่นได้แบบเดียวกัน ส่วนเด็กที่ไม่แสดงอาการจะติดคนอื่นได้หรือไม่ตอนนี้ยังไม่ทราบ

ผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ว่า ความเป็นไปได้ที่เด็กแพร่โควิดมีน้อย บางทีอาจเป็นเพราะมีอาการน้อย พวกเขาอาจไม่ไอหรือจาม ที่เป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงกระจายไวรัส

กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแนะให้แยกระหว่างเด็กเล็กกับวัยรุ่น ที่ดูเหมือนแพร่โรคได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่

  • ความปลอดภัยของวัคซีน

โลกยังคงตั้งตารอวัคซีนที่ปลอดภัยได้ประสิทธิผล สัปดาห์นี้องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ขึ้นบัญชีวัคซีนทางเลือก 35 ตัวที่กำลังทดลองกับมนุษย์ทั่วโลก ในจำนวนนี้ 9 ตัวอยู่ในเฟส3 หรือเตรียมเข้าสู่เฟส3 อันเป็นขั้นตอนสุดท้าย ที่ต้องทดสอบกับอาสาสมัครหลายหมื่นคนเพื่อวัดประสิทธิผลกับคนจำนวนมาก

มหาอำนาจผู้กล้าทุ่มอย่างสหรัฐ รัสเซีย และจีนกำลังเร่งกระบวนการเพื่อให้ได้วัคซีนเป็นประเทศแรกเผลอๆ ก่อนสิ้นปีนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนให้ใจเย็นๆ ถ้าเร่งมือเกินไป ความปลอดภัยอาจลดลงแล้วประชาชนจะไม่เชื่อมั่น

อย่างกรณีของบริษัทยายักษ์ใหญ่ “แอสตร้าเซนเนก้า” กับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ต้องหยุดทดลองวัคซีนชั่วคราวหลังอาสาสมัครป่วยไม่ทราบสาเหตุ

ส่วนวัคซีนจะได้ใช้เมื่อใดนั้น สำนักงานแพทย์ยุโรปกล่าวว่า อาจยังไม่พร้อมใช้จนกว่าจะถึงต้นปี 2564 ดับเบิลยูเอชโอบอกว่า อาจต้องรอถึงกลางปี ในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจไม่มีวัคซีนเลยก็ได้

  • ความจำเป็นของหน้ากาก

ในหลายที่การสวมหน้ากากได้เปลี่ยนไปจนหลายคนสับสน จากที่เคยถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นกลายเป็นของขาดไม่ได้ ผลพวงจากงานวิจัยจำนวนมากศึกษาวิธีแพร่กระจายโควิด-19 พบว่า การรับเชื้อทำได้ทั้งโดยการสัมผัสไวรัสในปริมาณมาก รวมทั้งการหายใจสูดละอองฝอยที่มีไวรัสล่องลอยอยู่ในอากาศเข้าไป แม้ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงการติดต่อกันแบบนี้ แต่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าไม่ควรมองข้าม ถ้าเป็นจริงการรักษาระยะห่างระหว่างกันแทบจะไม่เพียงพอปกป้องผู้คนจากโควิด-19

สถานที่ปิดที่ระบายอากาศไม่ดีผู้คนแออัดมีความเสี่ยงสูงมาก แต่บางประเทศก็บังคับให้ต้องสวมหน้ากากเมื่อเดินอยู่ตามท้องถนนด้วย

  • ทางเลือกในการรักษา

ยาเพียงชนิดเดียวที่ทดลองแล้วพบว่าลดการเสียชีวิตได้คือยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อ แต่ต้องใช้เฉพาะในรายที่รุนแรงเท่านั้น ส่วนยาต้านไวรัสอย่างเรมเดซิเวียร์ ช่วยลดจำนวนวันรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ให้ผลค่อนข้างน้อย

ขณะที่ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เชียร์มาก สุดท้ายก็พิสูจน์แล้วว่า รักษาโควิด-19 ไม่ได้