6 พรรคฝ่ายค้าน ชงฟื้นรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 40

6 พรรคฝ่ายค้าน ชงฟื้นรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 40

ยื่นชื่อ 170 ส.ส. จาก 6 พรรคฝ่ายค้าน ดัน 4 ญัตติแก้รัฐธรรมนูญ เสนอฟื้นฉบับ 40 พร้อมปิดสวิตช์ส.ว.-รื้อระบบเลือกตั้ง ขณะที่นายกฯ ลั่น ความขัดแย้งบ่อนทำลายศักยภาพ

ความเคลื่อนไหว 6 หัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร วานนี้(10 ก.ย.) ได้ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 4 ฉบับ ต่อนายชวน หลีกภัยประธานรัฐสภา โดยมีเนื้อหาใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การแก้ไขมาตรา 272 และ 159 ว่าด้วยการให้ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี 2.มาตรา 270 และ 271 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ 3.มาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองคำสั่งและประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ 4.การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส.

โดยนายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีส.ส.ร่วมลงชื่อประมาณ 170 คน ซึ่งในส่วนของการแก้ไขกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี จะกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้เลือกนายกฯ จากบัญชีที่พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ส.ส.ในสภาฯ เสนอชื่อส.ส.ที่มีคุณสมบัติ และไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามให้สภาฯ เลือกเป็นนายกฯ ต่อไป ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดโอกาสนายกฯ คนนอกไปโดยปริยาย

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สำหรับในส่วนระบบเลือกตั้ง พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้นำระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดส.ส.จำนวน 500 คน แบ่งเป็นระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยใช้รูปแบบเขตเดียว เบอร์เดียว อีกทั้งการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะใช้ระบบการกัน 5 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่า ข้อเสนอเหล่านี้ยังไม่เป็นที่ยุติ เพราะอาจมีการอภิปราย และแก้ไขในชั้นของคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา

โดยนายชวน กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้ามาแล้ว จะมีการตรวจสอบความถูกต้องหากไม่มีอะไรผิดพลาดจะสามารถบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 23-24 ก.ย.

อย่างไรก็ดียืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ถอนชื่อจากญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ของพรรคก้าวไกล แม้กระทั่งส.ส.ตรัง ของพรรคทั้ง 2 คน ที่มีการลงชื่อ เชื่อว่าทุกคนเข้าใจปัญหาดีอยู่แล้ว ตนไม่ได้เข้าไปยุ่ง

กมธ.สรุปรายงานหนุนบัตร 2ใบ

ขณะที่ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่ง กมธ. ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯเป็นประธานกมธ.ฯ พิจารณาแล้วเสร็จ

นายพีระพันธุ์ ได้รายงานเนื้อหาต่อที่ประชุมสภาฯ ที่มีสาระสำคัญต่อข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ระบบเลือกตั้งควรกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และควรยกเลิกการเสนอชื่อนายกฯ ไม่ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะที่การคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 91 ควรยกเลิก

ส่วน ส.ว.นั้น มีข้อเสนอให้มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์กรอิสระ ตุลาการ เพื่อไม่ให้กรรมการในองค์กรดังกล่าวใช้หน้าที่ไม่ถูกต้อง ส่วนการเลือกกันเองของส.ว. นั้นต้องแก้ไขประเด็นข้อห้ามเลือกส.ว.ในกลุ่มอาชีพเดียวกันให้ชัดเจน ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติควรปรับปรุงให้แก้ไขได้ภายในระยะเวลา 2 ปี และให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม

ขณะที่ในหมวดว่าด้วยศาลนั้น มีข้อเสนออาทิ ควรมีบทบัญญัติการพิจารณาพิพากษาที่เป็นอิสระ ส่วนที่มีผลพิพากษาแทรกแซงนั้นให้ถือเป็นโมฆะ และให้สิทธิผู้ต้องคำพิพากษาที่ถูกแทรกแซงสามารถโต้แย้งได้ เป็นต้น

เสนอตัดหมวดปฏิรูป-เสียงแตกปมส.ว.

ขณะที่ หมวดการปฏิรูปประเทศ กมธ. เสนอให้ตัดออกจากรัฐธรรมนูญ เพราะปฏิบัติไม่ได้จริง เป็นอุปสรรค และล่าช้า และควรบัญญัติเป็นกฎหมายระดับรอง ขณะที่มาตรา 272 ว่าด้วยอำนาจส.ว.ลงมติเลือกนายกฯ นั้น ที่ประชุมเห็นเป็น 2 แนวทาง คือ กมธ.เสียงข้างน้อย เห็นว่าควรแก้ไข ขณะที่กมธ.เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรยกเลิกเพราะเป็นการทำชั่วคราว

ขณะที่ มาตรา 279 นั้น กมธ.มีความเห็นในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ ควรยกเลิกเพราะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบประกาศ คำสั่งของคณะปฏิวัติได้ อีกความเห็นคือ ไม่ควรแก้ไข เพราะกังวลว่าจะมีผลกระทบทางกฎหมาย และหากคำสั่งหรือประกาศใดที่ควรยกเลิกควรใช้กลไกของรัฐสภาออกเป็นพระราชบัญญัติ.

“ก้าวหน้า”ชงโมเดลใช้สภาเดี่ยว

ขณะที่ การอภิปรายไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ประเด็นเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งส.ส.,การได้มาซึ่งส.ว.และการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ อาทินายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้าในฐานะกมธ.ฯ อภิปรายว่าจากที่ถูกตั้งคำถามว่า ส.ว.มีความจำเป็นหรือไม่ ตนมีข้อเสนอให้พิจารณาใช้สภาฯ เดียว คือ มีเพียงสภาผู้แทนราษฎร แต่หากต้องการความเชี่ยวชาญและผู้รู้ ที่เป็นคุณสมบัติของวุฒิสภา สามารถทำได้โดยแต่งตั้งผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญร่วมเป็น กมธ.วิสามัญฯตนมองว่ารัฐไทยเป็นรัฐเดี่ยว ดังนั้นความจำเป็นของวุฒิสภาจึงลดลง

นายปิยบุตร อภิปรายด้วยว่า สำหรับองค์กรอิสระต้องทบทวน คือ เปลี่ยนสถานะองค์กรอิสระให้เป็นองค์กรระดับฝ่ายปกครอง การใช้อำนาจควรถูกโต้แย้ง และตรวจสอบได้โดยศาลปกครอง ขณะเดียวกันกรรมการในองค์กรอิสระควรมีความสัมพันธ์กับประชาชนหรือผู้แทนประชาชน ผ่านการให้สภาฯ เป็นผู้เลือกกรรมการองค์กรอิสระ โดยให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน เสนอกรรมการองค์กรอิสระอย่างละครึ่ง และหากต้องการผู้ที่เป็นกลาง ควรให้คณะกรรมการตุลาการ (กต.) เสนอ.

เสนอขีดกรอบกระจายอำนาจ-งบฯ

ขณะที่นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทยอภิปรายสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาต้องแก้ไข แม้ตนจะลงมติรับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เห็นว่าการแก้ไขรฐธรรมนูญบางประเด็นต้องเขียนให้ชัดเจน เช่น การกระจายอำนาจที่เขียนให้ชัดไม่ควรกำหนดว่าเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ เพราะปัจจุบันพบความฉ้อฉล กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นเพียงกระจายอำนาจทางบัญชี แต่ไม่กระจายงบประมาณ ส่วนหมวด 1 และหมวด 2 เพื่อให้ทันสถานการณ์นั้น ทำได้ แต่ไม่ใช่เวลานี้

ในช่วงท้ายนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง​(กกต.) ฐานะกมธ.นำเสนอผลการศึกษาว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันต่อการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ กมธ.เห็นว่ารูปแบบของส.ส.ร.ที่เหมาะสมคือ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งนี้ในรายงานของกมธ. มีข้อเสนอจากนายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย ฐานะกมธ. และนายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ กมธ. โดยมีสาระคือ มาจากเลือกตั้งของประชาชนแต่ละจังหวัด จำนวน 200 คนเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากนั้นให้นำรัฐธรรมนูญไปออกเสียงประชามติ

รับแก้รธน.-ประชามติใช้เวลานาน

ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญภายหลังพรรคร่วมฝ่านค้านยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยยอมรับว่าต้องใช้เวลายาวนานโดยเฉพาะหากใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยเฉพาะร่างส.ส.ร.ก็ใช้เวลา4เดือน ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลตั้งใช้เวลา240วันและทั้งสองร่างนี้อาจเข้าสู่ขั้นตอนประชามติที่จะต้องรอกฎหมายการทำประชามติออกมาอีก ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา1-2เดือนก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯและประกาศใช้ต่อไป

ขณะเดียวกัน ตามกฎหมายระบุไว้ว่าเมื่อจะต้องมีการทำประชามติต้องมีเวลาทำประมาณ90-120วันดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะต้องดูในเรื่องของการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญและร่างพ.ร.บ.ประชามติคู่กันไปด้วย ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้มีการยุบสภาภายหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จนั้นอาจจะทำไม่ได้เนื่องจากต้องมีดูว่าใครจะเป็นคนทำกฎหมายลูกโดยเฉพาะเมื่อต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราพ.ร.บ.การเลือกตั้งที่อยากให้ไปใช้รูปแบบเดิมคือกาบัตร2ใบหรือแม้แต่การปิดสวิตช์ส.ว.และการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง

ความขัดแย้งบ่อนทำลายศักยภาพ

วันเดียวกันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวตอนหนึ่งระหว่างร่วมรับฟังการแถลงแนวทางการพัฒนาประเทศ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 62 วิทยาลัยเสนาธิการทหาร วิทยาลัยการทัพ ของทั้ง 3 เหล่าทัพ ประจำปีการศึกษา 2563 ถึงบรรยากาศการอภิปรายทั่วไปของฝ่ายค้านในสภา เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ว่า เมื่อวานไม่ค่อยได้พูด ทนๆ เอา ไม่เป็นไร เพราะเป้าหมายผมคือเพื่อประชาชน ความขัดแย้ง การทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นการทำลายศักยภาพไปโดยไม่รู้ตัว เราจะเอาชนะกันไปเพื่ออะไร

“ผมมายืนตรงนี้เพื่อสองอย่างนี้เท่านั้นหรือ ผมไม่อยากจะแก้ตัวอะไรทั้งสิ้น เพราะผมรู้ว่า ผมมาอยู่ตรงนี้ เพื่ออะไร วันหน้าก็เป็นเรื่องของวันหน้า วันนี้ก็เป็นเรื่องของวันนี้ ความปรารถนาของผมคือก็เป็นเรื่องประเทศชาติสงบสุข มั่นคง ยั่งยืน มีอนาคต” นายกฯ กล่าว