ดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ (KR-ECI) ปรับตัวดีในเดือนส.ค. 2563

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ (KR-ECI) ปรับตัวดีในเดือนส.ค. 2563

ครัวเรือนลดความกังวลลงต่อภาวะการจ้างงาน และรายได้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง

  • ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนส.ค. 2563 และอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับเพิ่มขึ้นจากการสำรวจในช่วงเดือน ก.ค. 2563 บ่งชี้ว่าครัวเรือนมีการปรับมุมมองที่ดีขึ้นต่อภาวะการครองชีพสอดคล้องไปกับทิศทางการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อภาวะการจ้างงาน และค่าตอบแทนในการทำงาน เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และมาตรการคลายล็อกที่เข้าสู่ระยะที่ 6
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ครัวเรือนไทยจะมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจ และการครองชีพ แต่ประเด็นการจ้างงานยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่จึงยังคงต้องคอยติดตามมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ ที่จะทยอยออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

ภาคครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อภาวะการครองชีพโดยรวมในเดือนส.ค. 2563 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า  ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนส.ค. 63 อยู่ที่ 36.4 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก.ค ที่ 35.3 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนว่าภาคครัวเรือนยังมีความกังวลต่อภาวะการครองชีพ แต่ความกังวลได้ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งทิศทางดังกล่าวสอดคล้องไปกับกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน (PCI Index) ที่มีแนวโน้มหดตัวน้อยลงต่อเนื่องหลังมีมาตรการคลายล็อกออกมาเป็นระยะ ทั้งนี้ ดัชนี KR-ECI ที่ปรับตัวดีขึ้นในการสำรวจเดือนส.ค. 2563 นี้ มาจากการที่ภาคครัวเรือนมีความกังวลลดลงต่อการจ้างงาน และรายได้ หลังสถานการณ์ต่าง ๆ ทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สอดคล้องไปกับสถานการณ์ที่มีมาตรการคลายล็อกระยะที่ 6 โดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติ 4 กลุ่มสามารถเข้าประเทศโดยต้องมีมาตรการติดตาม และควบคุมอย่างรัดกุม หลังอนุญาติให้ 5 กลุ่มกิจการที่มีกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงกลับมาเปิดทำการได้ปกติ ซึ่งสถานการณ์ที่เริ่มปกติขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ภาคครัวเรือนเริ่มกลับมาใช้ชีวิต และทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ปกติใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่จะเกิดโรคระบาดโควิด-19 นอกจากนี้ ในช่วงเดือนส.ค. 2563 มีวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลวันแม่ รวมถึงมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศตามโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และเที่ยวปันสุข ปัจจัยดังกล่าวช่วยสนับสนุนให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนจากการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น 

            อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการจนเข้าสู่ภาวะปกติใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 แล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจหลาย ๆ อย่างยังดำเนินไปได้ไม่เต็มศักยภาพ ส่งผลให้ประเด็นความเสี่ยงเรื่องการจ้างงานยังคงมีอยู่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่าย และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และออกมาตรการ         ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ได้มีมติเห็นชอบออกมาตรการสนับสนุนการจ้างงานสำหรับบัณฑิตจบใหม่ปีการศึกษา 2562-2563  (ระยะเวลา 1 ต.ค. 2563-30 ก.ย. 2564) โดยภาครัฐจะช่วยสมทบให้กับนายจ้าง 20% ของค่าจ้าง และมีการจัด Job expo เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีแนวคิดที่จะช่วยเหลือเงินแก่ผู้ประกอบการเพื่อไม่ให้เกิดการว่างงานเพิ่มเติม ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่อง

ด้านดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพ

ของครัวเรือนไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 38.4 ในการสำรวจช่วงเดือนส.ค. 2563 เมื่อเทียบกับที่ระดับ 36.8 ในการสำรวจช่วงเดือนก.ค. 2563 โดยครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อด้านรายได้ และการจ้างงาน หลังสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ และไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศต่อเนื่อง ในขณะที่ ครัวเรือนก็มีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าเช่นกัน ซึ่งอาจเกิดจากการเตรียมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายพิเศษที่อาจเกิดขึ้น เช่น การท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวเดือนต.ค.  หรือ ระดับราคาสินค้าที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยในเดือนส.ค. ราคาอาหารสดได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผักสดที่มีราคาสูงสุดในรอบ 13 เดือน เนื่องจากฝนตกชุกทำให้พืชผลเสียหาย ในภาพรวมครัวเรือนยังมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย เนื่องจากภาพเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจเพิ่มเติมที่ระบุว่าครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่าสถานการณ์ปัจจุบันส่งผลให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าคงทน เช่น บ้านหรือรถยนต์ ช้าลง หรือไม่ซื้อเลย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ประจำลดลง

แม้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ ในปัจจุบัน และช่วง 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน และมีแนวโน้มว่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่ระดับของดัชนียังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงที่โรคระบาดโควิด-19 จะเริ่มลุกลามในประเทศ บ่งชี้ว่า มุมมองของครัวเรือนไทยต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพยังไม่กลับคืนสู่ระดับเดิมก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19  

  

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) และดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในการสำรวจช่วงเดือนส.ค. 2563 โดยในปัจจุบัน ครัวเรือนไทยมีความกังวลลดลงต่อภาวะการจ้างงาน เนื่องจากมีมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนภาคการท่องเที่ยวในประเทศ และมาตรการคลายล็อกที่เข้าสู่ระยะที่ 6 อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมความกังวลเกี่ยวกับภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยยังอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19   ในขณะที่ภาวะการจ้างงานยังคงเปราะบาง   ซึ่งยังต้องติดตามมาตรการภาครัฐฯ ที่จะทยอยออกมาเพื่อดูแลเศรษฐกิจ และกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อไป