คกก.ยุทธศาสตร์ชาติ เห็นชอบจัดทำแผนแม่บทเฉพาะกิจ รับผลกระทบ 'โควิด-19'

คกก.ยุทธศาสตร์ชาติ เห็นชอบจัดทำแผนแม่บทเฉพาะกิจ รับผลกระทบ 'โควิด-19'

นายกฯ ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เห็นชอบจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในรูปแบบเฉพาะกิจเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ "โควิด-19" ในช่วงระหว่างปี 2564-2565

วันนี้ (10 ก.ย.63) เวลา 10.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2563 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง สรุปผลการประชุมได้ดังนี้

คณะกรรมการฯ ได้รับทราบความก้าวหน้าการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้าน ที่คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ ตามนัยของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 และ 5 พฤษภาคม 2563 โดยคณะกรรมการฯ ได้เสนอแนะให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศรับไปพิจารณาให้ความสำคัญกับกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่มีนัยสำคัญ เร่งด่วน และมุ่งเน้นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม (หรือ Big Rock) เช่น ด้านการเมือง เสนอเรื่องปฏิรูปการเมืองที่ชอบธรรมและสุจริต ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เสนอเรื่องปฏิรูปการเบิกจ่ายของภาครัฐ และควรให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ในการวิเคราะห์และบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกระบวนการยุติธรรม เสนอเรื่องปฏิรูประบบการลดโทษของราชทัณฑ์ ด้านเศรษฐกิจ เสนอเรื่องปฏิรูปการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ และควรให้ความสำคัญกับกิจกรรม Wellness/Medical center Logistics และการเป็น Regional Office Center

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอเรื่องปฏิรูปด้านที่ดินทำกิน การจัดการมลพิษ ขยะ น้ำเสีย และปัญหาหมอกควัน การส่งเสริมเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เสนอปฏิรูปเรื่องการส่งเสริมสื่อสร้างสรรค์ที่ดีและมีคุณภาพ และควรให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ผู้บริโภคสื่อ ด้านสังคม เสนอเรื่องปฏิรูปสังคมที่เข้มแข็ง ปลอดภัย และอบอุ่น การปฏิรูปที่ดินเพื่อการยังชีพและการพัฒนาเมือง รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนทั้งก่อนและหลังวัยเกษียณ ด้านพลังงาน เสนอให้เพิ่มเติมเรื่องพลังงานหมุนเวียนและชีวภาพ ด้านการศึกษา เสนอให้เน้นความสำคัญด้านการเรียนการสอน และด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เสนอให้เน้นความสำคัญของการนำค่านิยมที่ดีมาปรับหลักคิดและทัศนคติ เป็นต้น โดยการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศดังกล่าวจะต้องเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีพิจารณา รวมทั้งรายงานต่อรัฐสภาทราบก่อนประกาศใช้ในช่วงประมาณปลายปี พ.ศ. 2563 ต่อไป
 

คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญ จำนวน 5 เรื่อง ดังนี้

1.การดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือความจำเป็นของประเทศ ตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือความจำเป็นของประเทศ ตามที่สำนักงานฯ เสนอ โดยจะดำเนินการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในรูปแบบเฉพาะกิจเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงระหว่างปี 2564-2565 ซึ่งกำหนดเป้าหมายหลักเพื่อให้ “คนมีงานทำ สามารถยังชีพอยู่ได้ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ และมีการวางรากฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ (Economic Transformation)” ทั้งนี้ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ จะประกอบด้วย 3 มิติของการพัฒนา ได้แก่

  • การพร้อมรับ (Cope)
  • การปรับตัว (Adapt)
  • การเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน (Transform)

รวมทั้ง แบ่งเป็น 4 ประเด็นหลักการพัฒนา ได้แก่

  • การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy)
  • การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth)
  • การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคน (Human Capital) ให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
  • การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ  (Enabling Factors) ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานฯ ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์และนำเสนอต่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

2.โครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบโครงการเพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานร่วมกันของสำนักงานฯ หน่วยงานเจ้าภาพตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามนัยของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ในการ

(1) การมองเป้าหมายร่วมกันในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

(2) การจัดทำโครงการสำคัญตามการวิเคราะห์ห่วงโซ่ความสัมพันธ์และช่องว่างการพัฒนาต่อการบรรลุเป้าหมาย

และ (3) การจัดลำดับความเร่งด่วนของโครงการสำคัญ ซึ่งมีโครงการที่สามารถส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายแผนแม่บทย่อยฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งหมด 571 โครงการ จำแนกเป็น

1) โครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ 2565 ตามร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ (Top Priorities) รวม 250 โครงการ และ 2) โครงการสำคัญรองรับการพัฒนาประเทศ ที่สอดคล้องกับการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายย่อยที่เกี่ยวข้องจากทั้ง 140 เป้าหมายของ 23 แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวม 321 โครงการ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการโครงการสำคัญดังกล่าวตามที่สำนักงานฯ เสนอ โดยมอบหมายสำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณรองรับการดำเนินการโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 571 โครงการ ในลักษณะงบประมาณพิเศษ หรืองบประมาณแบบบูรณาการเพื่อการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และมอบหมายสำนักงบประมาณใช้ร่าง “แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565” และห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทย (Final Value Chain Thailand) เพื่อประกอบการพิจารณาการจัดสรรงบประมาณเพื่อการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อไป 


3. การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพิ่มเติมในทั้ง 6 ด้าน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 หรือตามที่คณะกรรมการฯ ได้มอบหมาย โดยมีสรุปรายชื่อประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ดังนี้

  1. ด้านความมั่นคง พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา
  2. ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน นางอรรชกา สีบุญเรือง
  3. ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ นายกฤษณพงศ์ กีรติกร
  4. ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ
  5. ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นายธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล
  6. ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ นายพงศ์โพยม วาศภูติ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานฯ ดำเนินการเสนอประกาศแต่งตั้งตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบ (4) ร่างระเบียบที่ประชุมร่วมประธานกรรมการปฏิรูปประเทศว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และ (5) แนวทางการจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศประจำปี เพื่อกำหนดเค้าโครงรายงานสรุปผลการดำเนินการประจำปีตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ และกรอบระยะเวลาการจัดทำรายงานดังกล่าวต่อไป