'พีระพันธุ์' เผยแนวทางแก้ รธน. ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

'พีระพันธุ์' เผยแนวทางแก้ รธน. ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

"พีระพันธุ์" เผยผลศึกษาแนวทางแก้รธน. ตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทำประชามติ ถ่วงดุลการใช้อำนาจศาล ตัดอำนาจ ส.ว.เลือก นายกฯ

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 63 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 สภาผู้แทนราษฎร นำเสนอรายงานของกรรมาธิการฯ กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมาธิการฯ ศึกษาหาข้อมูล ประกอบการแก้ไขเพิ่มเติม และรวบรวมความเห็นอย่างรอบด้านเสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีความคิดใดถูกหรือผิดเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูล โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก จึงเสนอให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้สามารถแก้ไขส่วนอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาได้ง่ายขึ้น

“เมื่อพิจารณารายมาตราแล้ว พบว่าทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน กระบวนการยุติธรรมที่ควรมีระบบถ่วงดุล หน้าที่ของรัฐที่ประชาชนควรมีอำนาจกำกับการใช้อำนาจรัฐได้ ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญในอดีตแล้ว มีเนื้อหาสาระดีกว่า จึงควรนำรายละเอียดรัฐธรรมนูญในอดีตมาปรับใช้เพิ่มเติมในปัจจุบัน กรรมาธิการเสนอให้ยกร่างรัฐธณรมนูญขึ้นใหม่ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชน และจัดให้ออกเสียงประชามติ ส่วนสถานะองค์กรต่าง ๆ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” นายพีระพันธุ์ กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติตามรัฐธรรมนูญว่า ควรแก้ไขให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อมุมมองหลากหลาย และปรับปรุงกรอบการทำยุทธศาสตร์ชาติให้เร็วขึ้น และอาจต้องปรับแผนทุก 1-2 ปี ส่วนบทบัญญัติการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ควรบัญญัติห้ามตุลาการ และสำนักงานศาลยุติธรรมเปิดอบรมหลักสูตรใด ๆ เพื่อไม่ให้สร้างสายสัมพันธ์กับตุลาการศาลและรัฐสภา สามารถตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญได้บางกรณี รวมถึงมีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่างเหมาะสม ผ่านกระบวนการรัฐสภาเพราะยึดโยงกับประชาชน

“ระบบการเลือกตั้ง ควรกลับไปใช้แบบบัตร 2 ใบ แบ่งเป็นระบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ยกเลิกระบบการคำนวณส.ส.แบบปัจจุบัน ยกเลิกขั้นตอนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ส่วนบทบัญญัติว่าด้วยสมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาล กรรมาธิการยังมีความเห็น 2 ชุด ได้แก่ การยกเลิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน และกลับไปใช้วิธีการคัดเลือกแบบทางอ้อม และการวุฒิสภาอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนครบวาระ แต่ปรับลดอำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และการติดตามการปฏิรูปประเทศออก รวมถึงยกเลิกหมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศในรัฐธรรมนูญออก และนำไปบัญญัติเป็นกฎหมายรองแทน เพราะกระบวนการปัจจุบันล่าช้า และไม่มีความคืบหน้าใดๆ