‘นายเลิศกรุ๊ป’ ทุ่ม 6 พันล้าน ผุดมิกซ์ยูสสู้ศึกอสังหาฯเพลินจิต

‘นายเลิศกรุ๊ป’ ทุ่ม 6 พันล้าน ผุดมิกซ์ยูสสู้ศึกอสังหาฯเพลินจิต

การต่อยอดธุรกิจจากกรุ “แลนด์แบงก์” ในมือ คือความเคลื่อนไหวที่น่าจับตายิ่งของ “นายเลิศกรุ๊ป” โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากที่ดินผืนดังอย่าง “ปาร์คนายเลิศ” ซึ่งปัจจุบันเหลือที่ดินกว่า 20 ไร่

หลังปิดตำนานโรงแรมสวิส โฮเต็ล ปาร์ค นายเลิศ ที่ดำเนินกิจการมากว่า 36 ปีไปเมื่อปี 2559 และตัดขายโรงแรมฯและอาคาร Promenade รวมที่ดิน 15 ไร่ย่านเพลินจิต ให้กับบริษัท บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก จำกัด ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ หนึ่งในอาณาจักรของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ด้วยมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท

4 ปีผ่านไป ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นายเลิศ ปาร์ค ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ของนายเลิศกรุ๊ป ถือฤกษ์ดีวันนี้ (10 ก.ย.) เปิดตัวโครงการใหม่อย่างเป็นทางการ เป็นอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานหรือมิกซ์ยูส บนที่ดินมรดกผืนดังกล่าว ตกทอดมาจากคุณทวด (นายเลิศ เศรษฐบุตร หรือพระยาภักดีนรเศรษฐ) ซึ่งเป็นเศรษฐีที่ดินและได้ทยอยตัดขายที่ดินในมือตั้งแต่ย่านชิดลมเรื่อยมาจนถึงย่านอโศกซึ่งอดีตเคยเป็นพื้นที่ชานเมือง ในวันที่ย่านเจริญกรุงยังเป็นศูนย์กลางธุรกิจ (ซีบีดี) ของกรุงเทพฯ กระทั่งความเจริญขยายมายังสยาม-ชิดลม-เพลินจิต ทำให้ธุรกิจอสังหาฯในย่านนี้เบ่งบาน จนสามารถครองแชมป์ราคาที่ดินสูงสุดของเมืองกรุงในปัจจุบัน

ณพาภรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า นายเลิศกรุ๊ปได้เดินหน้าขยายธุรกิจด้วยการต่อยอดพัฒนาอสังหาฯ ด้วยการเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระยะยาวกับอมัน(Aman) แบรนด์โรงแรมและรีสอร์ตที่มีชื่อเสียงระดับโลก เพื่อพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส อมัน นายเลิศ กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ภายในปาร์คนายเลิศอายุมากกว่า 100 ปีซึ่งมีพื้นที่กว่า 20 ไร่ ประกอบด้วยเรสซิเดนเซสและโรงแรมบนอาคารสูง 36 ชั้น คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2566 โดยจะมีพิธีวางศิลาฤกษ์ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2563

บริษัทฯได้ทุ่มงบประมาณกว่า 6 พันล้านบาทเพื่อขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจด้านการโรงแรมและการบริการของนายเลิศกรุ๊ป แบ่งเป็นงบฯสำหรับลงทุนเรสซิเดนเซสและโรงแรมส่วนละ 50%”

สำหรับอมัน นายเลิศ เรสซิเดนเซส กรุงเทพฯ จะมีทั้งสิ้น 18 ชั้น เริ่มตั้งแต่ชั้นที่ 11-28 จำนวนห้องไม่เกิน 50 ยูนิต มีขนาดห้องพัก 4 ประเภท ได้แก่ ห้องพักขนาด 1 ห้องนอน ตั้งแต่ 104 ตร.ม., ขนาด 2 ห้องนอน ตั้งแต่ 232 ตร.ม., ขนาด 3 ห้องนอน 371 ตร.ม. และเพนต์เฮาส์ ตั้งแต่ 1,109 ตารางเมตร โดยจะขายห้องพักแบบLeaseholdหรือการทำสัญญาเช่าระยะยาว 30 ปี ต่ออายุได้อีก 30 ปี รวมสูงสุด 60 ปี วางราคาขายเริ่มต้นที่ 450,000 บาทต่อ ตร.ม. ถือว่าแพงสุดในย่านเพลินจิตสำหรับโครงการแบบลีสโฮลด์

กลุ่มเป้าหมายมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในสัดส่วนเท่ากันที่ 50%โดยต่างชาติส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชีย ทั้งฮ่องกง จีน ไต้หวัน และสิงคโปร์ ซึ่งสนใจอสังหาฯในไทยยุคหลังโควิด (Post-Covid) มากขึ้น เพราะมั่นใจในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย โดย อมัน นายเลิศ เรสซิเดนเซส กรุงเทพฯ เป็นเรสซิเดนเซสในเมือง (Urban Residences)แห่งที่ 4 จากปัจจุบันมี อมัน เรสซิเดนเซส 15 แห่งทั่วโลก

ในส่วนของโรงแรมอมัน นายเลิศ กรุงเทพฯ ถือเป็นแห่งที่ 2 ในไทยต่อจาก อมัน ปุรี ใน จ.ภูเก็ต ซึ่งเปิดตัวเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว และยังเป็นรีสอร์ตของอมันแห่งแรกของโลก ก่อนจะขยายรีสอร์ต โรงแรม และเรสซิเดนเซสภายใต้แบรนด์นี้ไปทั่วโลก ปัจจุบันมีกว่า 36 แห่ง

โดยตั้งแต่ชั้นที่ 9-19 ของโรงแรม ประกอบด้วย ห้องสวีทจำนวน 52 ห้อง ขนาดห้องพักเริ่มต้นที่ 100 ตร.ม. ราคาขายต่อคืนเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อคืน ส่วนห้องพักขนาดใหญ่ที่สุด 570 ตร.ม.ราคาแพงสุดเบื้องต้นอยู่ที่ หลักแสนบาทต่อคืน นอกจากนี้ยังมีบริการห้องอาหารอิตาเลียน, ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น, อมัน ซิการ์ คลับ และโฮลิสติกส์ เวลเนส เซ็นเตอร์ ขนาด 1,500 ตารางเมตรซึ่งมีคลินิกทางการแพทย์เวลเนสเลานจ์ และสปาแบบเต็มรูปแบบ โดยตามสัญญาทางแบรนด์อมันจะบริหารโรงแรม 20 ปี

“เหตุผลที่บริษัทฯ เลือกออกแบบให้มีจำนวนยูนิตและห้องพักรวมทั้งเรสซิเดนเซสและโรงแรมแค่หนึ่งร้อยกว่าห้องบนตึกสูงใหญ่ เป็นเพราะเราไม่ได้ต้องการทำตามกระแสตลาด แต่ต้องการจำนวนไม่มากเพื่อเอื้อต่อการบริหารได้ง่ายขึ้น ไม่เกินตัว ประกอบกับเมื่อได้คุยกับทางอมันแล้วพบว่ามีวิสัยทัศน์ตรงกัน มีดีเอ็นเอใกล้เคียงกัน คือไม่โฉ่งฉ่าง และต้องการพัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์เฉพาะบุคคล (Personalized) ไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานเหมือนเรสซิเดนเซสและโรงแรมทั่วไป”

แม้ราคาห้องพักอาจจะดูแพง แต่ลูกค้าบอกว่าคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป (Value for Money)และหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จของแบรนด์อมันคืออัตราลูกค้าเข้าพักซ้ำ (Returning Customers) สูงถึง 50% นอกจากนี้ยังตั้งอยู่ในโลเกชั่นปาร์คนายเลิศซึ่งถือเป็นจุดขายสำคัญ เปรียบเสมือนโอเอซิสใจกลางกรุง ล้อกับแนวทางการเลือกเปิดโรงแรมและรีสอร์ตของแบรนด์อมันที่มักเน้นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความร่มรื่นและเงียบสงบ

ณพาภรณ์ เล่าเพิ่มเติมว่า ด้านที่ดินอีกผืนในกรุแลนด์แบงค์ของนายเลิศกรุ๊ปบนทำเลใกล้สถานีรถไฟฟ้าบางจาก ซึ่งเป็นพื้นที่เก่าแก่ เดิมเคยเป็น “อู่จอดรถเมล์ขาว” มีคุณทวดเป็นผู้ริเริ่มกิจการรถโดยสารประจำทางสายแรกของกรุงเทพฯ บริษัทฯเตรียมพัฒนาโครงการนายเลิศ ทาวเวอร์ ประกอบด้วยพื้นที่สำนักงานและค้าปลีก เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองไปยังกรุงเทพฯโซนตะวันออก ปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นขอEIAคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 แล้วเสร็จภายในอีก 2 ปีข้างหน้าหรือปี 2566 ใกล้เคียงกับโครงการอมัน นายเลิศ กรุงเทพฯ

พอเจอวิกฤติโควิด-19 ทำให้บริษัทฯต้องปรับเปลี่ยนคอนเซ็ปต์การพัฒนาอาคารสำนักงาน เสริมดีเอ็นเอหลักของแบรนด์นายเลิศเรื่องพื้นที่สีเขียว เพื่อให้ได้มาตรฐานสุขอนามัยใหม่ เช่น ระบบแอร์แยกส่วน และการใช้งานอาคารแบบลดการสัมผัส(Contactless)ปรับให้เข้ากับวิถีนิวนอร์มอล

ทั้งนี้แม้กระแส Work From Home จะเข้ามามีบทบาทในโลกออฟฟิศช่วงโควิด แต่ยังเชื่อว่าตลาดอาคารสำนักงานจะไม่มีวันตาย โดยในเมืองไทยธุรกิจที่ต้องการออฟฟิศยังมีอยู่มาก แม้คู่แข่งจะมีจำนวนมาก แต่บริษัทฯจะเน้นเจาะตลาดให้ถูก ไม่แย่งลูกค้าแข่งกับรายอื่น ตั้งเป้าดึงบริษัทใหญ่มาใช้บริการ เช่น บริษัทน้ำมัน บริษัทจากประเทศญี่ปุ่นที่ต้องการเดินทางไปดูโรงงานในภาคตะวันออกและพื้นที่อีอีซีได้สะดวก