'โควิด-19 - 5G ช้า' ทุบมูลค่าสื่อสาร-เน็ตไทย ลด 2.3% เหลือ 6 แสนล้าน

'โควิด-19 - 5G ช้า' ทุบมูลค่าสื่อสาร-เน็ตไทย ลด 2.3% เหลือ 6 แสนล้าน

วิกฤติเศรษฐกิจ-โควิด-19-5จี กระทบตลาดสื่อสารประเทศไทย เผยตัวเลขปี 62 มูลค่า 619,143 ล้านบาทเพิ่มจากปี 61 แค่ 0.9% คาดปี 2563 ภาพรวมปรับตัวลดลงอีก เหลือ 605,108 ล้าน

กสทช. แถลงผลการสำรวจมูลค่าตลาดสื่อสารและข้อมูลอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยประจำปี 2562 และประมาณการปี 2563 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงานกสทช.) จัดงานแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ผลการสำรวจมูลค่าตลาดสื่อสารและข้อมูลอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยประจำปี 2562 และประมาณการปี 2563

นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการกสทช.) กล่าวว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในช่วงชะลอตัวส่งผลให้ตลาดสื่อสารของประเทศไทยในปี 2562 มีมูลค่า 619,143 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2561 เพียงร้อยละ 0.9

ขณะที่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าของตลาดสื่อสารในปี 2563 ปรับตัวลดลงมีมูลค่าประมาณ 605,108 ล้านบาทลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 2.3 ในส่วนของตลาดอุปกรณ์สื่อสารแม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในช่วงชะลอตัว แต่ภาคเอกชนยังต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อบำรุงรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายส่งผลให้การลงทุนในตลาดอุปกรณ์สื่อสารในปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 262,705 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 2.3

ส่วนการลงทุนและการใช้จ่ายที่เกี่ยวกับอุปกรณ์สื่อสารในปี 2563 แม้ว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการจัดให้มีการประมูลคลื่น 5G ของกสทชและสำนักงานกสทช. ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้แผนการดำเนินงานเพื่อลงทุนในโครงข่าย 5G อาจล่าช้ากว่าปกติ รวมถึงการใช้จ่ายในตลาดอุปกรณ์สื่อสารด้านต่างๆเป็นไปด้วยความระมัดระวังจึงคาดว่ามูลค่าของตลาดอุปกรณ์สื่อสารในปี 2563 นี้จะปรับตัวลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 4.8 หรือมีมูลค่าประมาณ 250,021 ล้านบาท

การสำรวจการใช้จ่ายในตลาดบริการสื่อสารพบว่าในปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 356,438 ล้านบาทลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 0.2 ซึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะตลาดบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปใช้บริการทางเลือก (OT) มากขึ้นส่งผลให้มูลค่าของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการสื่อสารข้อมูลเติบโตในกรอบแคบๆ

ขณะที่บริการโทรศัพท์ประจำที่และบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องสำหรับมูลค่าของตลาดบริการสื่อสารในปี 2563 สำนักงานกสทช. คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 355,087 ล้านบาทลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 0.4 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นผลให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศลดลงการใช้ประโยชน์จากการให้บริการด้วยคลื่น 5G อาจล่าช้าและทำให้ตลาดหดตัวลงเล็กน้อย

การสำรวจและวิเคราะห์จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพบว่าในปี 2562 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในตลาดอินเทอร์เน็ตประจำที่และอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่โดยในปี 2562 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 51.19 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 79 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 4.6 ในปีนี้เป็นผลให้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 53.55 ล้านคน

ในส่วนของปริมาณอินเทอร์เน็ตแบนด์วิธที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีการเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการศึกษาพบว่าในปี 2562 ปริมาณอินเทอร์เน็ตแบนด์วิธภายในประเทศ (Domestic Bandwidth) เท่ากับ 8,338.64 Gpbs เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 16.6 และคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 9,097.45 Gpbs หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 9.1

ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตแบนด์วิธไปต่างประเทศ (International Bandwidth) ในปี 2562 เท่ากับ 10,575.75 Gpbs เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 34.5 และคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 14,467.62 Gpbs เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 36.8