'กรุงเทพในฝัน' เปิดบทสนทนาว่าด้วยกรุงเทพกับความเป็น Smart City

'กรุงเทพในฝัน' เปิดบทสนทนาว่าด้วยกรุงเทพกับความเป็น Smart City

"ไกลก้อง" ชี้สร้าง Smart City ต้องเริ่มที่ข้อมูลเปิด - ชี้ Smart City ของกรุงเทพวันนี้เป็นแค่เรื่องของการติดกล้องวงจรปิดทั่วเมือง-สั่งอาหาร-เรียกแท็กซี่

นิทรรศการ “กรุงเทพในฝัน” ซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการจัดงานเสวนาในหัวข้อ “กรุงเทพ Smart City หรือแค่ชื่อที่สมาร์ท” โดยมีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยน ได้แก่ นายไกลก้อง ไวทยการ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร, นายชวพงศ์ พิพัฒน์เสรีธรรม นักศึกษาปริญญาโทด้านภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และ เด็กชายเหมวิช วาฤทธิ์ เยาวชนไทยคนแรกที่เข้าร่วม Google Science Fair จากการเป็นผู้พัฒนาเครื่องช่วยพูดสำหรับผู้มีปัญหาทางการได้ยิน โดยในวงเสวนาเป็นการพูดคุยที่เน้นไปในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น เกี่ยวกับกรุงเทพมหานครในฐานะเมืองแห่งเทคโนโลยี และการก้าวไปสู่ความเป็น Smart City ที่ยังคงมีอุปสรรคมากมายในปัจจุบัน

โดย นายไกลก้อง ระบุว่า Smart City ไม่ใช่คำใหม่ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเราพูดถึง Smart City กันเยอะมาก มีหลายเมือง ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต หรือเชียงใหม่ ที่อยากสถาปนาตัวขึ้นมาเป็น Smart City คำถามก็คือการก้าวไปสู่ Smart City ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง แน่นอนว่าไม่ใช่แค่การติดกล้องวงจรปิดทั่วเมือง แต่มีองค์ประกอบอีกหลายอย่าง ตั้งแต่บุคลากร หน่วยงานรัฐ ไปจนถึงระบบขนส่งสาธารณะ หรือพูดง่ายๆ ว่าทุกส่วนของเมือง โดยมีคนที่อาศัยในเมืองเป็นศูนย์กลางที่ได้รับประโยชน์จาก Smart City นี้

159969975417

ดังนั้น ความเป็น Smart City จึงมีมิติที่เกี่ยวข้องกับคนที่มาบริหารเมืองเป็นส่วนมาก แต่ Smart City จะต้องไม่อยู่กับเฉพาะผู้บริหาร แล้วมองประชากรเป็นแค่กลไกหนึ่งของเมืองเท่านั้น แต่ต้องยึดเอาคนในเมืองเป็นศูนย์กลาง ให้มีส่วนร่วม ไม่ใช่ความเป็น Smart City ทางเดียว เช่น ผ่านการถูกสอดส่องจากกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ทั่วเมืองเท่านั้น นั่นหมายถึงว่าประชาชนจะต้องสามารถ feedback กลับไปไปถึงผู้บริหารหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

พอเราพูดถึง Smart City มันไม่ใช่การบริหารแบบเดิมแล้ว แต่มันคือการนำเอาดิจิทัลและ AI มาใช้ สิ่งสำคัญที่จะทำให้เมือง Smart ได้ รู้ว่าจุดไหนมีปัญหา ก็ต้องมี data หรือข้อมูลที่ทั่วถึง เข้าถึงได้สำหรับการตัดสินใจ ทำให้ทุกคนใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ข้อมูลต้องถูกเปิดออกมาให้เข้าถึงได้ open data จึงเป็นพื้นฐานของ Smart City

159969976254

นายไกลก้อง กล่าวต่อว่า จะเห็นว่าคนไทยกว่า 50% อาศัยอยู่ในเมือง เกือบทุกคนในเมืองมีสมาร์ทโฟน อินเตอร์เน็ต วันนี้ไม่แปลกใจที่เรามีบัญชีโซเชียลมีเดียถึง 52 ล้านคน คนในเมืองเกือบ 100% เข้าถึงแพลทฟอร์มดิจิทัล สามารถต่อยอดไปสู่การใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์สำหรับการอยู่อาศัยในเมืองได้

ข้อมูลหลักๆของเมืองมาจาก 4 ช่องทางด้วยกัน ประกอบไปด้วย 1) open data ข้อมูลได้รับการเปิดเผย ที่ทุกคนเอาไปต่อยอดได้ เช่นข้อมูลตำแหน่งสถานที่ราชการ สวนสาธารณะ โรงพยาบาล โรงเรียน 2) automate data ที่มาจากระบบเซนเซอร์ เช่นเซนเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ที่ประตูระบายน้ำ เพื่อแจ้งเตือนระดับน้ำในจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมขังได้ 

159969976198

3) crowd source data ที่มาจากประชาชน เช่นอยากสำรวจว่าร้านค้าไหนมีขายหน้ากากอนามัยบ้าง ก็สามารถขอความร่วมมือประชาชนให้ข้อมูลเข้ามาได้ และสุดท้าย 4) big data ที่มาจากโลกออนไลน์ทั้งหมด ที่มีการพูดถึงกันในหมู่ประชาชนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในสื่อโซเชียลต่างๆ ที่เราสามารถนำมาใช้ประเมินผลได้

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญสำหรับการสร้าง Smart City ก็คือข้อมูลจะต้องเข้าถึงได้โดยสะดวก ใช้โดยไม่ต้องขออนุญาต เอามาใช้ประโยชน์ได้ หลายเมืองในอเมริกามีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างเต็มที่ มีการเปิดเว็ปไซต์ที่รวมชุดข้อมูลต่างๆข้ามาไว้อยู่ที่เดียวกัน ไม่ว่าจเป็นข้อมูลอาชญากรรม ราคที่ดิน พื้นที่สีเขียว เลนจักรยาน จุดบริการด้านต่างๆอยู่ที่ไหนบ้าง เป็นชุดข้อมูลที่ประชาชนสามรถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ได้

ถามว่ากรุงเทพมหานครมีลักษณะเหล่านี้หรือไม่ ความจริงกรุงเทพมหานครมีเว็ปไซต์ bangkok.go.th และมีเว็ปไซต์ย่อยลงไปคือ info.bangkok.go.th ที่มีข้อมูลภูมิสารสนเทศ และที่ผ่านมายังมีการทำแอพพลิเคชั่นหลายชิ้นขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ไว้ด้วยกัน

159969975021

แต่คำถามก็คือใครเคยโหลดแอพของกรุงเทพมหานครมาใช้บ้าง นี่คือปัญหาว่ามันมีข้อมูลรัฐ มีแอพพลิเคชั่น แต่สิ่งที่ยังขาดคือความใส่ใจ คุณภาพของข้อมูลที่เปิดเผยออกมา สะดวกให้เอาไปใช้งานได้หรือไม่ รวมถึงนักพัฒนา คนที่อยากทำ startup อยากเอาข้อมูลไปใช้ สามารถทำได้สะดวกหรือไม่ จากทั้ง 135 ชุดข้อมูลของกรุงเทพมหานครที่มีการเปิดออกมา

นายไกลก้องกล่าวต่อ ว่า Smart City คือเมืองที่อยู่แล้วต้องมีความสุขสำหรับทุกคน สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือการทำให้เป็นเมืองเปิด สร้างความโปร่งใและการมีส่วนร่วม แน่นอนว่าประชาชนส่วนใหญ่ทุกวันนี้มี smartphone แต่ระดับการมีส่วนร่วมยังไม่เท่ากัน ผู้บริหารที่ควรต้องใช้เทคโนโลยีมารับฟังความคิดเห็นและข้อมูลปัญหาต่างๆจากประชาชนก็ยังไม่เกิดขึ้น วันนี้กรุงเทพจึงยังไม่เปิดสู่ความเป็น Smart City อย่างเต็มที่

ต้องถามเราก่อนว่าเราใช้ชีวิตในกรุงเทพ รู้สึกว่ามัน Smart ระดับไหน ด้วยหน่วยงานไหนที่ทำ สำหรับตนแล้วเห็นว่าสิ่งที่จะชี้วัดความเป็น Smart City มีอยู่ 4 ระดับด้วยกัน คือในระดับที่ 1) เรามีความสะดวกสบายเช่นแอพพลิเคชั่นเรียกรถแทกซี่ สั่งอาหารมาทานที่ๆทำงานกับที่บ้านได้ แน่นอนว่าเรามีสิ่งนี้แล้ว แต่พอเข้าสู่ระดับที่ 2) การเข้าถึงบริการที่เหนือชั้นไปกว่านั้น เช่นจะไปโรงพยาบาล เราจองคิวล่วงหน้าได้ไหม? หรือระดับที่ 3) การร้องเรียนกับภาครัฐ เช่นเรามีปัญหากับเพื่อนบ้าน ดัดแปลงบ้านเป็นโกดัง มีรถเข้าออกตลอดเวลา เราจะร้องเรียนผ่านใคร ติดตามเรื่องได้ที่ไหน? หรือในระดับที่ 4) การเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค เช่นคนชรา คนพิการ ที่จะเดินทางออกจากบ้าน สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบายแค่ไหน?

159969975062

“ถึงวันนี้ผมก็ยังรู้สึกว่าเรายังได้แค่เรียกรถแทกซี่กับสั่งอาหารมากินที่บ้านอยู่... ...สิ่งสำคัญนั่นก็คือจะเป็น Smart City ได้ จะเป็น IOT ได้ จะเป็น AI ได้ data ต้องดีก่อน data ดีแล้วมีโปรแกรมเมอร์ มีนักพัฒนา application มีกลุ่ม startup เยอะมากพอที่จะมาทำงานร่วมกับภาครัฐ มาทำงานร่วมกับท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร แล้วมาช่วยแก้ปัญหากัน” นายไกลก้อง กล่าว

ด้าน นายชวพงศ์ ระบุว่า Smart City ที่ตนเข้าใจคือมาจากแนวคิดที่ว่าเทคโนโลยีสามารถถูกนำมาใช้เพื่อการแก้ปัญหาในเมืองได้ ในคำว่า Smart City ไม่ได้เป็นเป้าหมายในตัวมันเอง แต่ต้องตั้งเป้าไว้ก่อนว่าจะเอาเทคโนโลยีอะไรมาใช้ เพื่อบรรลุเป้าหมายอะไร

ปัจจัยสำคัญก็คือเราจะจัดเก็บข้อมูลเพื่อใช้ทำอะไร หน่วยงานของรัฐ ผู้บริหาร มีความพร้อมในการบริหารเมืองที่เป็น Smart City ได้มากน้อยแค่ไหน มีโครงสร้างของหน่วยงานภาครัฐรองรับหรือไม่ มีบุคลากรที่ต้องใช้โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น software engineer หรือ data scienctist ที่จะมาขับเคลื่อนเมืองให้มีลักษณะอัจฉริยะมากขึ้นหรือไม่

อย่างไรก็ดี ตนเห็นว่าความเป็น Smart City ก็เหมือนเหรียญสองด้าน ทุกวันนี้ความเป็น Smart City ก็นำไปสู่ความกังวลของประะชาชนหลายประการ เช่นข้อกังวลเรื่อง privacy/security ข้อมูลที่เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่เปิดเผยไม่ได้ อย่างการใช้ facial recognition ที่อาศัยการแสกนข้อมูล biometric ของใบหน้า ที่นำมาสู่ความกังวลด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว เป็นต้น

รวมถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ คนที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง สมาร์ทโฟน คนหาเช้ากินค่ำ สามารถเข้ามารับบริการระดับเดียวกับคนระดับกลางหรือคนระดับบนได้หรือไม่ ก็เป็นประเด็นสำคัญ ที่เราจะต้องทำให้ทุกคนเข้ามาได้รับประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ด้วย

“การเอาเทคโนโลยีต่างๆเหล่านี้มาใช้เพียงอย่างเดียวมันไม่ได้ทำให้สังคมเราดีขึ้น มันอยู่ที่ว่าเราเซ็ตเป้าหมายไว้ว่าอะไร อยากจะให้เมืองเดินไปในทางไหน แล้วตั้งเป้าหมายพร้อมกันกับคนทุกๆคนในสังคม แล้วค่อยมาเลือกว่าเราจะใช้เทคโนโลยีอะไร เอาข้อมูลประเภทไหนมาใช้อย่างไร” นายชวพงศ์กล่าว

นายชวพงศ์ ยังกล่าวอีกด้วย ว่าเมื่อเรามีการจัดเก็บข้อมูลต่างๆมากมาย แล้วเรามีการเปิดเผยข้อมูลเป็น open data เป้าหมายต่อไปนอกจากการลงทุนใน smart technology แล้วเรายังควรลงทุนในต้นทุนบุคลากรมนุษย์และต้นทุนทางสังคม ให้คน smart พร้อมๆไปกับเมืองด้วย ให้เรามีนักประดิษฐ์ นักพัฒนา ที่จะมานำข้อมูลเหล่านี้ที่เมืองเปิดออกมาไปใช้ให้มากขึ้น

159969975439

ขณะที่ ด.ช.เหมวิช ระบุว่า ในมุมมองของตนแล้ว Smart City คือการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมการแก้ปัญหาในเมืองมาใช้ เพื่อที่จะให้ตัวเมืองพัฒนา และผู้คนมีมาตรฐานและคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น ซึ่งตนเห็นว่าการก้าวไปสู่ Smart City ได้ต้องประกอบไปด้วย 5 เสาหลักด้วยกัน คือ:

1) smart environment หรือสิ่งแวดล้อมในตัวเมือง ที่ต้องใช้การบริหารจัดการธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นขยะ ฝุ่นควัน ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในตัวเมือง ในกรุงเทพสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาคือมลพิษ ที่มาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ การจราจรที่ติดขัด การปล่อยคาร์บอน อากาศที่ไม่ถ่ายเท โรงงานอุตสาหกรรมรอบๆกรุงเทพ และปัญหาการจัดการขยะ ที่สร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นคุณในสังคมเมืองขึ้นมา

2) smart energy ก็คือการทำอยางไรให้พลังงานที่ใช้สะอาด สามารถนำมาพัฒนาเมืองให้มีความยั่งยืนได้ เช่น ถ้าเปลี่ยนรถโดยสารที่เป็นควันดำเป็นรถพลังงานไฟฟ้าได้ก็จะลดมลพิษได้ค่อนข้างเยอะ 

3) smart technology ที่จะเอามาพัฒนาและแก้ปัญหาเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณูปโภค ที่ตนอยากให้มีทั่วไปและเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ได้รับการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นสำหรับผู้พิการ ที่เริ่มมีบ้างแล้วแต่ยังไม่พอ การยังต้องพึ่งพาเงินสด ทางเท้าที่มีทางเดินผู้พิการทางสายตาที่ยังมีเสาไฟฟ้ามากั้น ตนเห็นว่ากรุงเทพควรจะมีสิทธิการเข้าถึงสาธารณูปโภคที่เท่าเทียมมากกว่านี้

4) smart education ณ ตอนนี้เราไม่ต้องไปเรียนที่สถาบันการศึกษาอย่่างเดียว เรามีการเรียนรู้ผ่านโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นมา มีแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน สิ่งที่ตนอยากเห็นคือการที่กรุงเทพเปิดโอกาสสำหรับการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียม สำหรับทั้งผู้พิการและคนปกติทั่วไป อย่างที่ตนคิดค้นและพัฒนาทำ easy speak ขึ้นมาสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ก็เพื่อที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิต สามารถสื่อสารกับคนปกติได้ง่ายและสะดวกขึ้น

5) smart governance ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการภาครัฐ โดยอาศัยข้อมูลต่างๆ มีข้อมูลที่เปิดหรือ open data มีภาครัฐที่สื่อสารได้ดี เข้าถึงและช่วยเหลือประชาชนได้ และมีความโปร่งใส

ด.ช.เหมวิช กล่าวต่อว่า ทั้ง 5 เสาหลักนั้น สิ่งที่ตนเห็นในกรุงเทพยังเป็นแค่ dot ที่กระจัดกระจายอยู่ ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้ dot พวกนั้นเชื่อมต่อเข้าหากันทั้งหมดให้เป็นระบบนิเวศเดียวกัน ให้เกิด Smart City ขึ้นมาได้ 

159969975830

ดังนั้น การนำเทคโนโลยีมาใช้ต้องมีเป้าหมายก่อนว่าเราจะพัฒนาอะไร ซึ่งสำหรับตนแล้ว การนำ AI และ machine learning มาปรับใช้มีบทบาทสำคัญมากในการทำให้เมืองเป็น Smart City ขึ้นมาได้ ประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลและนักพัฒนาที่มีความสามารถอยู่เป็นจำนวนมาก ที่เราสามารถนำมาร่วมกันพัฒนาระบบตรงนี้ได้

สำหรับกรุงเทพมหานคร ตนเห็นว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อแก้ปัญหาสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่นในเรื่องของการจราจร ระบบสาธารณูปโภค การติดต่อราชการเป็นต้น ผ่าน open source development ถ้ารัฐบาลปล่อยข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้และนำมาพัฒนา ผู้ที่เป็นนักพัฒนาถ้าสามารถทำ open source มาทำเป็นบริการเกี่ยวกับภาครัฐขึ้นมา กระจายให้ประชาชนทุกคน open source เหล่านั้นก็จะใช้งานได้ง่าย ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ด้วย

159969975887

“การที่จะมี Smart City อย่างแรกเลยผมคิดว่าพื้นฐานของเมืองต้องดีก่อน อน่างเช่นถนนหนทาง ทางเดิน ฯลฯ เราต้องมีการทำให้มันสมบูรณ์ก่อน เริ่มมีการพัฒนาไปก่อน แล้วติดปัญหาตรงไหนค่อยเอาเทคโนโลยีมาาจับ เราต้องมีการเก็บ data จากประชาชนก่อน ว่าประชาชนต้องการอะไรจริงๆ ต้องการพัฒนาอะไรเร่งด่วนเป็นสำคัญสุด อันไหนที่ทิ้งไว้ก่อนได้ ทำอย่างไรให้สามารถเก็บ data จากประชาชนได้ง่าย เช่นผ่านแอพพลิเคชั่น สำรวจปัญหาในชีวิตประจำวัน แล้วพอมีการรวบรวมได้มากเพียงพอก็นำมาวิเคราะห์ แล้วจึงนำเทคโนโลยีมาใช้ตรงนั้น” ดช.เหมวิช กล่าว