ขยายแผลใหญ่กลางสภา โหมโรงก่อนแตกหัก 19 ก.ย.

ขยายแผลใหญ่กลางสภา โหมโรงก่อนแตกหัก 19 ก.ย.

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรช่วงเดือน ก.ย. นับเป็นหมุดหมายสำคัญทางการเมือง เพราะสภาฯมีวาระร้อนหลายเรื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวาระที่เพิ่งผ่านไปอย่างการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152

ตลอดการอภิปรายประมาณ 15 ชั่วโมง ฝ่ายค้านพุ่งเป้าไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่สร้างปมปัญหา ทั้ง เศรษฐกิจ และ การเมือง ระดับวิกฤตประเทศ

แม้การอภิปรายครั้งนี้จะไม่มีการลงมติ ซึ่งไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ด้านหนึ่งการอภิปรายของฝ่ายค้านก็ช่วยให้กระแสม็อบนอกสภาที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 ก.ย.ได้รับความสนใจขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ เรียกได้ว่าเป็นความประสงค์ให้กลุ่มนอกสภาหยิบเอาประเด็นในสภาไปขยายผลนอกสภา

สำหรับประเด็นหลักที่มีการอภิปรายในสภาและมีผลต่อการเมืองในปัจจุบันมีด้วยกัน 2 ประเด็น ดังนี้

1.การบริหารราชการแผ่นดินในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าฝ่ายค้านเอาอารมณ์ของสังคมมาเป็นประเด็น เช่น การก่อหนี้ การใช้งบประมาณหมดไปกับการซื้อเรือดำน้ำ ทั้งๆ ที่รัฐบาลควรเอาเงินภาษีของประชาชนไปช่วยประชาชนในเรื่องเศรษฐกิจ แต่กลับมาใช้ในราชการทหาร ท่ามกลางความขับข้องใจของคนจำนวนมาก

2.ปัญหาการเมือง ที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข ฝ่ายค้านพยายามพุ่งเป้าไปยังท่าทีของรัฐบาล ที่ไม่พยายามแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง แม้ว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จะร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลดแรงกดดัน แต่ก็เหมือนเป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น เนื่องจากในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลนั้นไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ อย่างอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา

อีกทั้ง ยังมีกระบวนการกดดันให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลบางคนที่ไปลงชื่อสนับสนุนการปิดสวิตช์ส.ว.ของพรรคก้าวไกล ถอนชื่อจนทำให้ญัตติของพรรคก้าวไกลล่ม แต่ยังดีที่พรรคเพื่อไทยกลับลำ เห็นด้วยกับการปิดสวิตช์ ส.ว.และเตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ซึ่งยังพอทำให้ภารกิจปิดสวิตช์ส.ว.ได้ไปต่อ

ด้วยเหตุนี้ จึงนำมาสู่การที่ฝ่ายค้านเรียกร้องกลางสภาให้นายกฯ ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งสอดรับกับท่าทีของม็อบนอกสภาที่ไม่ต้องการเห็น พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในถนนการเมืองอีก

สถานการณ์ทางการเมืองของกลุ่มขับไล่รัฐบาลทั้งในและนอกสภา ต่างอยู่บนเงื่อนไขของน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

ฝ่ายค้านรู้ดีว่า เสียงที่มีในมือเพียง 200 เสียงโดยประมาณ ไม่อาจพอที่ทำให้น็อครัฐบาลกลางสภาได้ ฉันใดฉันนั้น กลุ่มนอกสภาก็ไม่สามารถใช้แต่เพียงเสียงของตนเองเพื่อเอาชนะรัฐบาลได้เช่นกัน แต่จำเป็นต้องให้ฝ่ายค้านพยายามจุดประเด็น และกระแสในสภา เพื่อให้กลุ่มการเมืองนอกสภานำมาขยายผลกดดันรัฐบาล

ประเด็นสำคัญที่ฝ่ายค้านหวังผล “จุดไฟให้ติด” และเกิดกระแสม็อบนอกสภาฯ “ลามต่อ” จนเป็นกระแสที่ “รัฐบาล” ไม่อาจต้านทานเพราะ “กระแสสังคม” อาจเป็นวิถีทางเดียว ที่พอจะเปลี่ยนขั้วอำนาจได้