EECi ผนึกเบลเยียม ผุดต้นแบบ“ไบโอรีไฟเนอรี”

EECi ผนึกเบลเยียม  ผุดต้นแบบ“ไบโอรีไฟเนอรี”

เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ถือได้ว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการต่อยอดวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล

เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ถือได้ว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการต่อยอดวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศให้เข้ามาตั้งฐานการผลิต และวิจัยในประเทศไทย เนื่องจากไม่ต้องเข้ามาลงทุนตั้งศูนย์วิจัยขนาดใหญ่เพราะไทยมี อีอีซีไอ ไว้คอยรองรับอยู่แล้ว ทำให้อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยได้ง่ายขึ้น

เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการอีอีซีไอ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ อีอีซีไอ ว่า โครงการอีอีซีไอนี้จะพัฒนาไปสู่การเป็นระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืน โดยมีพันธกิจในการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่ 

1. เพื่อเป็นศูนย์กลางการขยายผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ และการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ 2. เพื่อเป็นศูนย์รวมในการพัฒนากำลังคนและพัฒนาฝีมือขั้นสูง 3. เพื่อเป็นแหล่งรวมบริการเพื่อการเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี 4. เพื่อส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพ และการสร้างธุรกิจใหม่ และ5. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนโดยรอบ

โดย อีอีซีไอ มีพื้นที่ทั้งหมด 3,454 ไร่ ตั้งอยู่ในวังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง โดยในขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 45% คาดว่าจะก่อสร้างอาคารส่วนใหญ่เสร็จในช่วงปลายปีนี้ จากนั้นจะเร่งตกแต่งภายใน และจะเปิดดำเนินการเฟสแรกในเดือนมิ.ย. ปี 2564

159965810584

สำหรับ อีอีซีไอ ในระยะที่ 1 จะประกอบด้วยโครงการหลัก ได้แก่ โครงการจัดตั้งโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี ซึ่งโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรีนี้ เปรียบเหมือนกับโรงงานปิโตรเคมีที่ใช้น้ำม้นและก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิง และปืโตรเคมีชนิดต่างๆ ที่จะนำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติกซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นฐานที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรม

ส่วนโรงงานไบโอรีไฟเนอรีนี้ จะทำงานคล้ายกัน แต่วัตถุดิบที่นำมาใช้จะเป็นพืชผลทางการเกษตร รวมไปถึงวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรต่างๆ นำไปผ่านกระบวนการผลิตจนเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเป็นเคมีชีวภาพในรูปแบบต่างๆ และเม็ดพลาสติกชีวภาพ มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม ทดแทนเคมีจากปิโตรเลียมที่ทั่วโลกต่างลดปริมาณการใช้ตามกระแสรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก ที่ต้องการสินค้าชีวภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

“โรงงานไบโอรีไฟเนอรีนี้ จะเป็นการปฏิวัติภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นครั้งที่ 2 หลังจากในครั้งแรกเมื่อ 30 ปีก่อน ที่ไทยได้ลงทุนโครงการปิโตรเคมีที่ภาคตะวันออก ก่อให้เกิดการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างก้าวกระโดด ทำให้วัตถุดิบปิโตรที่ไทยต้องนำเข้าในราคาแพงมีราคาลดลงมาก"

ทั้งนี้เป็นผลมาจากไทยสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ ซึ่งโครงการไบโอรีไฟเนอรี ก็จะเป็นไปในลักษณะเดียวกัน ทำให้ไทยสามารถคิดค้นเคมีชีวภาพชนิดใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในประเทศ และทำให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมชีวภาพในอนาคต

สำหรับโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี จะมี 2 โรง ได้แก่ โรงงานไบโอรีไฟเนอรี ที่เป็น Non GMP และโรงงานไบโอรีไฟเนอรี GMP โดยโรงงานไบโอรีไฟเนอรี Non GMP จะใช้ในการผลิตเคมีชีวภาพ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาหาร หรือชิ้นส่วนที่ใช้ในร่างกาย เช่น พลาสติกชีวภาพชนิดต่างๆ ส่วนโรงงานไบโอรีไฟเนอรี ที่เป็น GMP จะเป็นการผลิตสารสกัดออกฤทธิ์ที่ใช้ในคน การสกัดสารต่างๆ ในพืชสมุนไพร สารออกฤทธิ์ในยา และเครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลการเกษตรของไทยได้อีกมาก 

โดยโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรีจะทันสมัยที่สุดในอาเซียน โดยในภูมิภาคนี้มีเพียงมาเลเซียประเทศเดียวที่มีโรงงานในลักษณะนี้ แต่จะเน้นในสินค้าปาล์มเพียงอย่างเดียว แต่ของไทยครอบคลุมในทุกพืชผลการเกษตร

สำหรับ โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรีนี้ จะร่วมมือกับบริษัทผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเบลเยียม ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านไบโอรีไฟเนอรีชั้นนำของโลก เข้ามาบริหารจัดการโครงการนี้ ซึ่งจะเปิดตัวได้ในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.ปี 2564 ซึ่งจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยได้มาก เพราะที่ผ่านมาบริษัทของไทยมีเพียงผลวิจัยจากห้องทดลอง ยังไม่มีการขยายไปสู่การผลิตในโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี ทำให้ผลงานวิจัยหยุดแค่เพียงระดับห้องทดลอง 

ดังนั้นโรงงานไบโอรีไฟเนอรี จะนำผลวิจัยในระดับห้องทดลองมาทดสอบผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่มีปริมาณหลักตัน เพื่อค้นหาสูตรที่เหมาะสมในการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป ซึ่งจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่เกิดจากการวิจัยภายในประเทศมาผลิตออกสู่ตลาดได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังสอดรับกับนโยบาย “BCG Economy” ที่เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล

“ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมของไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบเคมีชีวภาพจากต่างประเทศที่มีราคาสูง และส่วนมากไม่ตอบโจทย์กับอุตสาหกรรมของไทย เนื่องจากวัตถุดิบการเกษตรของไทยไม่เหมือนในต่างประเทศ ทำให้วัตถุดิบเคมีชีวภาพที่นำเข้าไม่ตรงกับความต้องการ"

จากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาหากไทยมีโรงงานไบโอรีไฟเนอรีที่สามารถผลิตเคมีชีวภาพชนิดต่างๆ ได้เอง ก็จะสามารถนำผลผลิตการเกษตรของไทยไปวิจัยผลิตสารสกัดชีวภาพที่ตรงกับความต้องการ และเกิดสินค้าใหม่ๆ ที่มาจากฐานจากวัตถุดิบภายในประเทศและภูมิปัญหาของคนไทย ทำให้สินค้าไทยมีความโดดเด่นเหนือกว่าสินค้าจากประเทศคู่แข่ง และมีเทคโนโลยีของตัวเองที่ชาติอื่นลอกเลียนแบบได้ยาก และจะทำให้ไทยผลิตสินค้ามูลค่าสูงออกสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น