ปรากฏการณ์ ‘ลุงพล’ ...ความพิกลพิการของ ‘สื่อ’ ?

ปรากฏการณ์ ‘ลุงพล’ ...ความพิกลพิการของ ‘สื่อ’ ?

จากคดี "น้องชมพู่" ถึงปรากฏการณ์ "ลุงพล" เส้นทางสุดพลิกผันของคนดังแห่งบ้านกกกอก กับคำถามที่ว่า อะไรคือเส้นแบ่งระหว่างดราม่ากับข้อเท็จจริง ถึงที่สุดแล้วจริยธรรมในวิชาชีพ "สื่อ" ยังมีความหมายหรือไม่ในวันที่เรตติ้งคือความอยู่รอดทางธุรกิจ

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 เมื่อมีรายงานข่าวว่า ‘น้องชมพู่’ เด็กหญิงวัย 3 ขวบ หายตัวไปจากหมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดมุกดาหาร วันนั้น...คงไม่มีใครคาดคิดว่าเรื่องราวของน้องชมพู่ และชาวบ้านในหมู่บ้านกกกอก ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จะกลายเป็นข่าวอาชญากรรมที่สร้างปรากฎการณ์มากมายต่อเนื่องมานานนับเดือน

เริ่มแรกก็เป็นเพียงการเอาใจช่วยให้เจอน้อง แต่เมื่อพบศพเด็กหญิงในสภาพเปลือย ณ บริเวณภูเหล็กไฟ จึงนำไปสู่คำถามใหญ่ๆ ในสังคมว่า “ใครฆ่าน้องชมพู่” จากนั้นก็เริ่มมีการตั้งสมมติฐานไปต่างๆ นานา พร้อมกับการรายงานข่าวแบบเกาะติดของสำนักข่าวต่างๆ ทั้งจากฟากฝั่งของพนักงานสอบสวน ปากคำของคนในหมู่บ้าน ไปจนถึงร่างทรงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย

จะด้วยบุคลิกลักษณะของคนในข่าว ทั้งพ่อแม่ ลุงป้า หรือแม้แต่น้าชายของน้องชมพู่ที่มีคาแรกเตอร์ค่อนข้างชัด ความน่าสงสัยของตัวเหตุการณ์ที่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถระบุตัวคนร้ายได้ หรือเพราะความจัดเจนในการนำเสนอข่าวอาชญากรรมของสื่อบางค่ายก็ตาม ในที่สุดการขยายประเด็นดราม่าบนความกระหายใคร่รู้ของคนในสังคมก็ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นในด้านเรตติ้ง

และนั่นนำมาซึ่งการทำข่าวแบบเกาะติดฝังตัวอยู่ในหมู่บ้านกกกอกของสื่อใหญ่ 2 ค่ายที่แข่งกันสร้างประเด็นรายวัน โดยมีพล็อตเรื่องหลักเป็นการควานหาตัวคนร้าย มีการจำลองสถานการณ์จริงจากคำบอกเล่าของผู้ต้องสงสัยและคนในพื้นที่ โดยมีนักข่าว และ Immersive Graphic ช่วยกันสร้างภาพความสมจริงชวนติดตาม ราวกับเป็นการตามหาฆาตกรใน ‘ราโชมอน’ นิยายสุดคลาสสิกของญี่ปุ่น

แต่แล้วเมื่อความน่าตื่นตาตื่นใจของการคลี่คลายคดีเริ่มลดน้อยลง การสร้างสตอรี่และสีสันให้กับตัวละครหลักก็กลายเป็นจุดขายใหม่ให้กับเรียลลิตี้เรื่องนี้ ซึงได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากแฟนข่าว

แม้บางคนจะมองว่า นี่คือการสร้างละครฉากใหญ่ซ้อนทับลงไปบนเรื่องจริง เป็นการสร้างดราม่าบนร่างไร้วิญญาณของเด็กน้อย เป็นเส้นบางๆ ของจริยธรรมในวิชาชีพสื่อที่ถูกสะบั้น แต่นั่นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า 'เรตติ้ง' ของข่าวนี้คือภาพสะท้อนรสนิยมและความสนใจของผู้ชมเช่นเดียวกัน

คำถามก็คือ สังคมไทยจะไปพ้นจากวังวนนี้ได้อย่างไร?

  • ลุงพลคือใคร

ในบรรดาตัวละครที่ถูกปั้นขึ้นบนพื้นที่ข่าวกึ่งเรียลลิตี้เรื่องนี้ ‘ลุงพล’ หรือ ไชย์พล วิภา ลุงเขยของชมพู่ นับว่ามีความโดดเด่นมาตั้งแต่เปิดเรื่อง และโด่งดังถึงขีดสุด เมื่อ 1 ใน 3 อันดับแรกของ ‘เทรนด์ ไทยแลนด์’ วันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา แสดงผลคำว่า “ลุงพลคือใคร”

จากหนุ่มใหญ่สไตล์บ้านๆ พูดจาโผงผางตรงไปตรงมา ‘ลุงพล’ เปิดฉากด้วยการเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัย เนื่องจากความใกล้ชิดสนิทสนมกับน้องชมพู่ และยังเป็นคนที่ผู้เป็นแม่เคยแสดงความไม่พอใจเพราะชอบไปทำพิธีกรรมทางไสยศาสตร์เรียกวิญญาณน้อง

แต่ด้วยบุคลิกแบบถามตรง-ตอบตรง และไม่เคยหนีหน้าสื่อ ลุงพลจึงเป็นตัวละครหลักที่ถูกทำให้มีบทบาทอยู่แทบทุกตอนในเรียลลิตี้บ้านกกกอก นานวันเข้าความสงสัยก็เริ่มเปลี่ยนเป็นสงสาร เมื่อผลการชันสูตรไม่พบหลักฐานยืนยันการล่วงละเมิดทางเพศ ยิ่งแม่น้องชมพู่หลุดปากว่า คนที่สงสัยมากที่สุดก็คือ ลุงพล ผู้ชมก็ยิ่งเห็นใจลุงพลมากขึ้น และพัฒนามาเป็น ‘แฟนคลับ’ ถึงขั้นมาเยี่ยมเยียนที่บ้าน นำข้าวของมาให้มากมาย บางกลุ่มถึงขนาดทำเสื้อทีมใส่เพื่อถ่ายรูปร่วมกันก็มี

แม้ว่าปรากฎการณ์ ‘ลุงพล’ จะถูกจุดขึ้นจาการทำหน้าที่ของสื่อหลัก แต่การกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ของเขาก็ถูกต่อยอดโดยโซเชียลมีเดียด้วยเช่นกัน และทันทีที่มีแฟนคลับ ภาพเก่าของลุงพลก็ถูกขุดมานำเสนอ

159965483486

“เปิดภาพลุงพลสมัยหนุ่มๆ ปรับภาพคมชัดระดับ HD หล่อเทียบเท่าดารา จนชาวเน็ตแชร์ภาพเป็นหมื่น” kapook.com รายงานข่าวนี้เมื่อวันที่10 ก.ค.63

จากนั้นไม่นานก็มีการปล่อยคลิปการร้องเพลงของลุงพลในสื่อหลัก ซึ่งนอกจากเสียงร้องที่ไม่ธรรมดาแล้ว ยังให้แบ็คกราวด์ว่าเขาเคยเป็นนักร้องมาก่อน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมสะพานให้ลุงพลก้าวผ่านจากพื้นที่ข่าวอาชญากรรมไปยังข่าวบันเทิงแบบไร้รอยต่อ

ในที่สุดทุกเรื่องเกี่ยวกับลุงพลจึงกลายเป็นเรื่อง ‘ขายได้’ เขาเปิดช่อง YouTube เป็นของตัวเอง ใช้ชื่อว่า ‘ลุงพลป้าแต๋น แฟมิลี่’ แค่คลิปแรก ‘ลุงพลกินข้าวเช้า #ป้าแต๋นถ่าย’ ก็มียอดวิวเฉียดล้านแล้ว

นอกจากนี้ยังมีคนดังหลายวงการมาขอเกาะชายเสื้อ ไม่ว่าจะเป็นนักร้องลูกทุ่ง ‘จินตรา พูนลาภ’ กับการฟีเจอริ่งในเพลง ‘เต่างอย’ ยอดวิวทะลุ 6 ล้านวิวใน 3 วัน หรือนักปั้นอย่าง ‘อุ๊บ- วิริยะ พงษ์อาจหาญ’ ที่ทำท่าว่าจะชวนเล่นหนัง แต่พามาชิมลางเดินแบบก่อน ในงานแฟชั่นโชว์การกุศล Oop Fashion Show for dogs and cats 2020 ที่ตะวันนาพลาซ่า บางกะปิ จนสร้างปรากฏการณ์แฟนคลับล้นห้าง นำมาซึ่งการเสิร์ชคำว่า “ลุงพลคือใคร” แบบถี่ยิบ

 

159965482564

  • ให้มันจบที่รุ่นเรา

ท่ามกลางความฮอตฮิตติดลมบนของลุงพล ได้เกิดแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องหลายต่อหลายครั้ง ทว่าบางครั้งก็ไม่ได้มาจากความชื่นชม อาทิเช่น #ให้มันจบที่รุ่นเรา ซึ่งชาวเน็ตนำแฮชแท็กฮอตในทางการเมืองมาใช้ประชดประชันสื่อหลักว่านำเสนอเรื่องของลุงพลมากเกินไป จนไม่สนใจประเด็นสำคัญ หรือแม้แต่ข่าวสารบ้านเมืองอื่นๆ และล่าสุดกับ #แบนลุงพล ซึ่งกลายเป็นกระแสตีกลับ ก็มีเสียงท้วงติงว่างานนี้คนที่สมควรถูกแบนไม่ใช่ลุงพล แต่เป็น ‘สื่อ’

อันที่จริงการหยิบความเป็นดราม่า (Dramatic) มาใช้ในการนำเสนอข่าวอาชญากรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ ถ้าสังเกตดูจะพบว่าในบรรดาเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นรายวัน มีเพียงบางเรื่องเท่านั้นที่กลายเป็นข่าว และถูกโหมประโคมจนเป็น ‘ข่าวดัง’ ซึ่งนอกจากปัจจัยเรื่องความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว ความเร้าอารมณ์คือส่วนขยายที่ทำให้เรื่องนั้นๆ ได้รับความสนใจ เพียงแต่สิ่งที่ต่างออกไปในกรณี ’ลุงพล’ คือรูปแบบการนำเสนอที่ค่อนข้างเป็นเรียลลิตี้โชว์มากกว่าข่าว

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ทั้งในมุมของผู้เสพสื่อและสื่อมวลชน โดยเริ่มจากผู้เสพสื่อว่า เขาอาจจะมองข่าวชิ้นนี้ในเชิงความบันเทิงมากกว่าข่าวที่มีความหมายเรื่องข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นความหมายแบบเดิม

“เบื้องต้นจากข้อมูลที่เป็นข่าวอาชญากรรมในตอนนั้นก็ถูกดัดแปลงไปเป็นเรียลลิตี้โชว์ เกิดเป็นเซเลบริตี้ด้วยซ้ำไป แน่นอนว่ามีกลุ่มคนที่ชื่นชอบเรื่องทำนองนี้ด้วย แต่ก็ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกตั้งคำถามกับการทำงานของสื่อสารมวลชนที่นำเสนอเรื่องนี้อย่างยาวนานว่ามีความเหมาะสมและจรรยาบรรณมากน้อยแค่ไหน”

ในฐานะนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการที่สื่อเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดประเด็นดราม่าขึ้น และหลายๆ ประเด็นก็ถูกแตกออกมานำเสนอจนเกินกว่าความเป็นข่าว ซึ่งแน่นอนว่าเรตติ้งคือผลลัพธ์ในเรื่องนี้

“เรื่องของการสร้างเรตติ้งทำให้นึกถึงหนังที่มีการสร้างฮีโร่ขึ้นมา ซึ่งสังคมต้องตั้งคำถามทั้งการทำงานของสื่อ ขณะเดียวกันก็ต้องตั้งคำถามกับคนเสพสื่อด้วย เพราะต้องยอมรับว่าคนเสพสื่อจำนวนไม่น้อยชื่นชอบกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ยิ่งทำให้คนทำงานสื่อมองว่าสิ่งที่เขานำเสนอนั้นถูกต้องและเหมาะสม เพื่อความอยู่รอดขององค์กรเอง”

เช่นเดียวกับความเห็นของ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ ‘ข่าว ไม่ใช่ละคร | เส้นแบ่งอาชญากรรมเสมือนจริง’ ตอนหนึ่งว่า

“ผลสำเร็จจากความนิยมนำมาซึ่งเรตติ้งและรายได้ อย่างกรณีข่าวน้องชมพู่ขึ้นแท่นอันดับ 2 รองจากเรตติ้งช่วงไพร์ทไทม์ และในภาวะเช่นนี้สื่อก็ต้องดำรงอยู่ทางธุรกิจให้ได้ ซึ่งการแข่งขันก็สูงด้วย ในเมื่อพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่น่าชื่นชอบในเชิงจริยธรรมและความรับผิดชอบกับผลกระทบต่อสังคม กลับถูกยืนยันด้วยค่าความนิยม” ความท้าทายก็คือการหาเส้นแบ่งระหว่างจริยธรรมในวิชาชีพกับความอยู่รอดทางธุรกิจที่เหมาะสม

ดร. เอื้อจิต กล่าวต่อว่า “จากปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เกิดคำถามว่าสื่อทำหน้าที่พนักงานสอบสวนมากกว่า สื่อเชิงสืบสวน ส่งผลต่อคดี บุคคล สังคม และมาตรฐานวิชาชีพสื่ออย่างไร และหากกลไกการกำกับดูแลของภาครัฐและการกำกับดูแลกันเองของสื่อยังเป็นการตั้งรับจะเป็นอย่างไรต่อวงการสื่อและสังคม บ่อยครั้งที่สื่อเสนอข่าวเพื่อชิงเรตติ้งอย่างไร้จริธรรมและความรับผิดชอบ อย่างนี้บทบาทและกลไกอื่นทางสังคมควรจะไปในทิศทางไหน”

ระหว่างที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ดร.มานะ เสนอว่า เส้นแบ่งที่สำคัญคือการตอบคำถามให้ได้ว่า หน้าที่สื่อควรจะเป็นแค่การนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือเป็นการชี้นำสังคม ในลักษณะของการทำรายการวาไรตี้โชว์เพื่อความบันเทิงเป็นหลัก

“ถ้าตอบว่าเรายังเสนอข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงสะท้อนความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นข่าวการเมือง ข่าวอาชญากรรม หรือข่าวบันเทิงก็ตาม ก็ควรจะนำเสนออิงกับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง และไม่ควรเบี่ยงเบนประเด็นไปจนกลายเป็นเรื่องของดราม่าและความบันเทิง ซึ่งถ้าปรากฏการณ์นี้เกิดมาจากเรื่องความบันเทิงก็คงไม่ใช่ประเด็นใหญ่ แต่นี่เกิดจากข่าวอาชญากรรมทำให้คนจำนวนไม่น้อย มองข่าวเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง”

ถึงที่สุดความโด่งดังของลุงพลหรือคนในข่าวอื่นๆ อาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่การเปลี่ยนพื้นที่ที่ควรถูกใช้ในการ ‘ทำความจริงให้ปรากฏ’ เป็นการสร้างนิยายที่มีเพียงเค้าโครงจากเรื่องจริง อาจทำให้สิ่งที่หายไปพร้อมกับ ‘บทบาท’ ของสื่อสารมวลชน คือ ‘ความรับผิดชอบ’

“จุดจบของปรากฏการณ์ลุงพลฟีเวอร์นี้จะยังคงถูกให้ความสำคัญในช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งไม่ยาว แล้วอาจจะมีดาราหน้าใหม่เกิดขึ้นมาแทน แต่ปัญหาสำคัญของกระบวนการทำแบบนี้ ทำให้สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งมองว่า สามารถทำได้ ทำแล้วได้รับเรตติ้งดี

วันนี้สร้างลุงพลเป็นดาราได้ ต่อไปก็สร้างตัวละครใหม่ๆ ในรูปแบบเดียวกันนี้ได้อีกเยอะแยะ ซึ่งต่อไปข้อมูลข้อเท็จจริงอาจจะถูกบิดเพื่อทำให้เกิดฮีโร่คนใหม่ในสังคมได้เช่นเดียวกัน ทั้งๆ ที่ข้อมูลข้อเท็จจริงในเชิงของคดีนี้ยังไม่ได้ถูกคลี่คลายเต็มที่ด้วยซ้ำไป” ดร.มานะ กล่าวทิ้งท้าย