‘ทีเอ็มบี’ ตั้งทีมแนะนำลูกหนี้ก่อนกู้

‘ทีเอ็มบี’ ตั้งทีมแนะนำลูกหนี้ก่อนกู้

“ทีเอ็มบี” ลุยตั้งทีมที่ปรึกษาการเงิน  หวังให้คำปรึกษาลูกหนี้ก่อนกู้เงิน ช่วยปลดล็อกปัญหาหนี้เกินตัว จากพฤติกรรมการเงินแบบผิดๆ ย้ำแบงก์ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน 

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทย (TMB) กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไทยเติบโตรวดเร็ว จนกลายเป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศ ข้อมูลล่าสุดพบว่า สิ้นเดือนก.ย.2562 คนไทยมีหนี้ราว 21 ล้านคนเป็นหนี้ที่อยู่ในระบบ ซึ่งยังไม่รวมหนี้นอกระบบที่มีอีกจำนวนมาก สะท้อนว่าคนไทยติดอยู่ในวงจรหนี้ค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytice พบว่า การก่อหนี้ของคนไทยส่วนใหญ่ เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคถึง 34% หนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายเกินตัว และการช่วยลูกค้าของแบงก์ให้เข้าถึงเงินกู้ได้ง่าย หากเทียบกับต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ที่ก่อหนี้มากที่สุด คือ รถยนต์ถึง 74% และอังกฤษที่ก่อหนี้บ้านถึง 84% ขณะเดียวกันยังพบว่าคนไทยเป็นหนี้เร็ว โดยอายุ 25-30 ปี ถึง 50% ก็เริ่มมีหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และพบว่า 1 ใน 5 ของคนวัย 30 ปี เป็นหนี้เสีย

การเป็นหนี้สินเชื่ออุปโภคบริโภค บัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคล เป็นหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยสูง โดยสินเชื่อบุคคลสูงถึง 25% ทำให้เกิดการเป็นหนี้ที่ไม่มีวันจบ ซึ่งธนาคารได้ตระหนักและหวังช่วยให้คนลดการเป็นหนี้ และออกจากวงจรหนี้ได้ โดยการจัดอีเวนท์ ภายใต้ชื่อ “FIN TALK by TMB Thanachart ปลดล็อกชีวิตหนี้ สู่วิธีการเงินใหม่” เพื่อหวังปลดล็อกพฤติกรรมการแก้หนี้แบบผิด ปลดล็อกชีวิตด้วยการให้ความรู้ทางการเงิน เพราะคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ทางการเงิน ยังขาดการวางแผนทางการเงิน ทำให้ธนาคารต้องกลับมาทบทวนบทบาทของแบงก์ต่อสังคม เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาให้ลูกหนี้ได้ 

อีกทั้งด้านที่เป็นรูปธรรมที่ธนาคารให้ความสำคัญเพื่อผลักดันให้ลูกหนี้ปลดล็อกหนี้ คือ การให้ความรู้ทางการเงินตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนกู้ โดยล่าสุดธนาคารได้ตั้ง ทีมที่ปรึกษาทางการเงินใหม่ขึ้นมา หรือ Debt Advisory โดยการดึงพนักงานจากทุกส่วนมาอยู่ในทีมใหม่นี้ เพื่อให้ความสำคัญกับการแก้หนี้ และการช่วยลูกหนี้ในอนาคต ปัจจุบันทีมนี้มีเกือบ 100 คน ซึ่งอนาคตหากพบว่าดีมานด์คนกู้เพิ่มขึ้น อาจมีการขยายทีมนี้เพิ่มขึ้น

“เรามองว่าการปลดล็อกหนี้ได้ ต้องเริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นก่อนเป็นหนี้ ดังนั้นก่อนกู้สิ่งสำคัญ คือ ต้องให้ผู้กู้รู้ว่า การกู้จะมีภาระอะไรตามมา กู้เพื่ออะไร กู้ถูกประเภทหรือไม่ สิ่งสำคัญคือการเทรนด์คนกู้  วิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้เรากลับมาทบทวนบทบาทของแบงก์ที่มีต่อสังคม ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหา ก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ด้วย ธนาคารไม่ได้มีบทบาทแค่ทวงหนี้ แต่ต้องเป็นคลินิกแก้หนี้ ช่วยรักษา ให้คนไข้ที่กำลังมีปัญหาหนี้ด้วย”