ปัจจัยการ'ตกหลุมรัก'

ปัจจัยการ'ตกหลุมรัก'

อีกงานวิจัยสนุกๆ กับเหตุปัจจัยใน"การตกหลุมรัก" และไม่น่าเชื่อว่า ปัจจัยเรื่องความใกล้ชิด ดูธรรมดามาก ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่คุณนึกไม่ถึง อาทิ หลงใหลในความลึกลับบางอย่าง ,มีความละม้ายคล้ายพ่อแม่ของเรา ฯลฯ

กลไกการตกหลุมรักของคนเราถือ เป็นหัวข้อที่มีงานวิจัยสนุกๆ ทางจิตวิทยาอยู่ไม่น้อย มีนักวิจัยพยายามหาเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และอันที่จริงแล้วพบว่าอาจมีมากถึง 11 ปัจจัยด้วยกันที่ทำให้คน “ตกหลุมรัก” กัน

หากจะแบ่งแบบกว้างๆ ปัจจัยกลุ่มแรก (ที่มี 4 ข้อ) ก็ถือเป็นปัจจัยทั่วๆ ไป ได้แก่ “ความคล้ายคลึงกัน” ในบางอย่าง ข้อนี้เห็นได้ไม่ยาก คนที่มีภาษาพูด ความคิด ความเชื่อในทางศาสนาและการเมืองคล้ายกัน จะตกหลุมรักกันได้ง่ายกว่าแน่ๆ คนที่ตกหลุมรักกันในม็อบก็มีมาแล้ว

ข้อนี้ยังรวมไปถึงลักษณะรูปร่างหน้าตา ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจว่าคนปกติทั่วไป หากจะต้องเลือก ก็มักจะเลือกคู่ที่มีรูปร่างหน้าตาที่เห็นได้ชัดว่าเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันมากกว่า

ปัจจัยข้อที่ 2 คือ “ความใกล้ชิด” ครับ ข้อนี้ถึงกับมีคำกล่าวแบบไทยๆ (ไม่รู้ว่าจะเรียกเป็น ภาษิตได้หรือเปล่า) ว่า “รักแท้แพ้ใกล้ชิด” โดยขยายความว่าหมายถึงการมีโอกาสได้ใช้เวลาร่วมกัน อาศัยหรือทำงานอยู่ใกล้กัน รวมไปถึงการคิดถึงกัน และการคิดถึงกันทำอะไรให้แก่กันเสมอ

ซึ่งสองอย่างหลังนี้อาจจะเข้ากับเนื้อหาในโคลงโลกนิติที่ว่า “รักกันอยู่ขอบฟ้า เขาเขียว เสมออยู่หอแห่งเดียว ร่วมห้อง...” แต่จะเห็นได้ว่ามันขัดกับอันแรกอยู่นะครับ ถ้าอย่างหลังนี่จริง แสดงว่าความใกล้ชิดทางใจน่าจะสำคัญมากกว่า

ข้อที่ 3 คือ “มีลักษณะอันต้องใจ” ข้อนี้โดยทั่วไปมักจะหมายถึง รูปร่างหน้าตาภายนอกที่ถูกใจ ซึ่งก็มีคำอธิบายที่ชวนให้ประหลาดใจสำหรับความเชื่อแบบไทยๆ บางอย่างอยู่เหมือนกัน เช่น คนไทยส่วนหนึ่งเชื่อว่าคนที่เป็นคู่กันมักจะมีหน้าตาคล้ายกัน 

ในทางจิตวิทยาอธิบายว่า เป็นเพราะเราคุ้นเคยกับใบหน้าของแม่และพ่อ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเลือกคบคนที่มีใบหน้าคล้ายกับแม่หรือพ่อของเราเอง ซึ่งคนเหล่านั้นก็ย่อมจะมีใบหน้าที่คล้ายกับเราด้วยไปโดยอัตโนมัติเช่นกัน

ข้อสุดท้ายในกลุ่มนี้ ฟังแล้วอาจจะแปลกๆ นิดนึงคือ งานวิจัยระบุว่า เราจะชอบคนที่มีทีท่าชอบเราด้วยเช่นกัน แสดงว่าความรักนี่ต้องการ “การเสริมแรงกลับ” เหมือนกัน

แต่อันนี้ขัดกับที่บางคนตั้งข้อสังเกตว่า ผู้หญิงหรือผู้ชายบางคนที่ชอบเราอยู่ อาจทำตัวไม่ถูก จนอาจดูเหมือนหลีกหน้า ไม่อยากพบเจอ (เพราะอาย) หรือถึงกับฝ่ายตรงข้ามอาจเข้าใจผิดว่า ไม่ชอบหรือเกลียดหน้ากันก็มี

ทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมาเป็นปัจจัยแบบทั่วๆ ไป ยังมีปัจจัยอีก 2 ข้อที่อธิบายลึกลงไปอีกนิดทางจิตใจและเห็นได้ไม่ชัดเท่ากับกลุ่มแรก นั่นก็คือ “ปัจจัยทางสังคมรอบข้าง” หรืออาจจะเรียกว่า ปัจจัยแบบโรมีโอกับจูเลียตก็คงไม่ผิด

คนที่มีสถานะทางสังคมหรือครอบครัวที่พร้อมยอมรับกันได้แบบง่ายๆ ก็จะตกหลุมรักกันได้ง่ายกว่า แต่หากครอบครัวเป็นศัตรูกันอยู่ ก็อาจต้องสู้กันจนตัวตายแบบนิยายของเชกสเปียร์นั่นแหละครับ

อีกปัจจัยซ่อนเร้นคือ “สามารถเติมเต็มความต้องการได้” คนเราบางคนก็โหยหาความสนิทชิดเชื้อ เซ็กซ์ หรือความเข้ากันได้ของนิสัยในการครองคู่ ฯลฯ ถ้าอีกคนมาเติมเต็มได้ ก็น่าจะตกหลุมรักได้ไม่ยาก ตัวอย่างในเรื่องนี้เช่น หญิงสาวที่เป็นพี่สาวคนโตบางคนก็อาจจะได้หนุ่มที่อาวุโสกว่ามาปกป้อง ชดเชยกับความต้องการพี่ชายที่ตนไม่เคยมี เป็นต้น

ยังมีอีก 5 ปัจจัยที่ดึงดูดให้คนรักกัน แต่อาจเป็นปัจจัยที่ดูจะไม่ใช่ความรักที่มีรากฐานจากความเป็นเพื่อนสักเท่าไหร่ นั่นคือ ปัจจัยแรก “มีสิ่งเร้าหรือความไม่ปกติบางอย่าง” อันนี้ลองนึกดูว่า นางเอกเรื่อง สปีด (Speed) หรือเรื่องอื่นๆ ที่ต้องเผชิญความตายตรงหน้าครั้งแล้วครั้งเล่า และรอดมาได้โดยฝีมือพระเอกฮีโร่ ก็มีโอกาสตกหลุมรักพระเอกได้อย่างง่ายดายอย่างไม่น่าเชื่อ

ลักษณะจำเพาะที่พิเศษบางอย่าง เช่น จมูกที่คมสันเป็นพิเศษ เอวที่คอดกิ่ว ขาที่เรียวสวยได้รูป ก็มีส่วนดึงดูดคนบางกลุ่มได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ และข้อต่อไปก็อาจฟังดูชวนให้คิดนะครับ คือ “ความพร้อมของคนๆ นั้น” ที่จะรักใครคนอื่น การไม่มีภาระหนักอก ไม่มีพ่อแม่ที่ต้องดูแล การมีอายุที่เหมาะสม หรือเกินกว่าเหมาะสมไปแล้ว ก็กลับทำให้ตกหลุมรักได้ง่ายขึ้น (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) อาจเรียกว่าเป็น “ปัจจัยรถไฟขบวนสุดท้าย” ก็คงได้

ข้อต่อไปก็คล้ายๆ กับปัจจัยเรื่องความใกล้ชิด แต่เค้าว่าการใกล้ชิดแบบ “ต้องแยกกันออกมาจากคนอื่นๆ เพียง 2 คน” ด้วยสาเหตุบางอย่าง ก็ทำให้ตกหลุมรักได้ง่ายมากขึ้นเช่นกัน และข้อสุดท้ายที่เห็นในภาพยนตร์หลายเรื่องคือ มีบางคนหลงใหลในความลึกลับบางอย่างของตัวเอก (ที่อาจเป็นพระเอกหรือผู้ร้ายก็ได้) การทำให้คนอื่นไม่เข้าใจหรืองุนงงในความคิดและการกระทำของเรา นับตั้งแต่เริ่มพบหน้ากันเป็นครั้งแรก ก็ถือว่าเป็นหลุมพรางสำหรับคนพวกนี้ได้ดีนัก

ยังมีปัจจัยทางสรีรวิทยาอีก การศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงของฮอร์โมนสารพัด ไม่ว่าจะเป็นออกซิโทซิน วาโซเพรสซิน โดพามีน หรือเซโรโทนิน ฯลฯ ที่เกิดขึ้นขณะที่เราตกหลุมรักใครสักคน

กระบวนการตกหลุมรักจึงซับซ้อนไม่น้อย

อันที่จริงมีการทดลองด้านประสาทวิทยาศาสตร์ในปี ค.ศ. 2015 (Song H., Frontier in Human Neuroscience 9, (71), 1–13) ที่ใช้เทคนิคพิเศษเรียกว่า rsfMRI ทำให้ทราบว่า คนที่กำลังตกหลุมรักอยู่จะมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและการทำงานอย่างจำเพาะในส่วนของสมองที่เรียกว่า left dorsal anterior cingulate cortex ด้วยซ้ำไป

เรียกว่าเวลาตกหลุมรัก!กันนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของใจเท่านั้น แต่ตกหลุมรักกันแบบขึ้นสมอง....เลยทีเดีย

 ............

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ