‘ชำระเงินไร้สัมผัส’ ขับเคลื่อนจับจ่าย ‘ออนไลน์-ออฟไลน์’ 

‘ชำระเงินไร้สัมผัส’ ขับเคลื่อนจับจ่าย ‘ออนไลน์-ออฟไลน์’ 

ผลพวงจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้วิถีดำเนินชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไปและเป็นตัวเร่งให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเร็วขึ้น โดยเฉพาะดิจิทัลเพย์เมนท์แพลตฟอร์มที่สามารถให้บริการแบบไร้สัมผัสนั้น เติบโตสูงทั้งจำนวนผู้ใช้งานและมูลค่าของธุรกรรมการเงิน

แม้การใช้ชีวิตและการดำเนินธุรกิจจะเริ่มกลับมาเป็นปกติ แต่ต้องยอมรับว่า ผลพวงที่ไวรัสโควิด-19 ทิ้งไว้ จะยังมีผลกระทบไปอีกนาน โดยเฉพาะวิถีดำเนินชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป การเร่งให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการผันตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเร่งด่วน ผู้คนหันมาเสพสื่อและรับชมความบันเทิงออนไลน์มากขึ้น ใช้บริการโฮม ดิลิเวอรี่ มากขึ้น ด้านอีคอมเมิร์ซซึ่งเติบโตอย่างโดดเด่นช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีผู้ใช้งานใหม่ (New users) เข้ามาทดลองใช้เป็นครั้งแรกมากขึ้น จำนวนสินค้าที่ผู้บริโภคซื้อผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแต่ละครั้ง (Online basket size) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

เมื่ออีคอมเมิร์ซเติบโต อีเพย์เมนท์ขยายตัวตาม โดยเฉพาะภูมิภาคที่ใช้เงินสดเป็นหลักอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งเห็นชัดว่าดิจิทัลเพย์เมนท์แพลตฟอร์มที่สามารถให้บริการแบบไร้สัมผัสนั้น เติบโตสูงทั้งจำนวนผู้ใช้งานและมูลค่าของธุรกรรมการเงินที่เกิดขึ้น

สำหรับการใช้งานคอนแทคเลส เพย์เมนท์ (Contactless Payment) ของผู้บริโภคในไทยภายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เติบโตถึง 3 เท่าต่อคนต่อปี มีปัจจัยสนับสนุนหลายด้านทั้งความก้าวหน้าเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้าถึงได้มากขึ้น มีต้นทุนน้อยลง มีการสนับสนุนจากภาครัฐและสถาบันการเงินต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม เช่น โครงการพร้อมเพย์ ลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านอีเพย์เมนท์ และปัจจัยสำคัญที่ทำให้อีเพย์เมนท์ขยายตัวได้เป็นอย่างดี คือ ‘ดิจิทัลแพลตฟอร์ม’ อย่างโมบาย แอพพลิเคชั่น ของธนาคารและอีวอลเล็ตต่างๆ ที่ทำให้การทำธุรกิจทางการเงินอยู่เพียงแค่ปลายนิ้วของผู้บริโภค 

ทั้งยังแข่งกันปรับปรุงฟังก์ชันต่างๆ ต่อเนื่อง เพื่อมอบประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุด ง่ายที่สุด สะดวกที่สุด ให้แก่ผู้บริโภคจึงไม่น่าแปลกใจที่โมบายเพย์เมนท์เป็นหมวดหมู่อีเพย์เมนท์ ที่เติบโตได้รวดเร็วที่สุด โดยการใช้โมบาย เพย์เมนท์ในประเทศไทยช่วงปี 2014-2019 เติบโตเฉลี่ยสูงถึง 79% ต่อปี

หลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็พบเทรนด์การเติบโตของโมบาย เพยเมนท์ และอีวอลเล็ตที่สอดคล้องกัน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ที่ผลการสำรวจจาก มาสเตอร์การ์ด ระบุว่า ผู้บริโภคจำนวนมากถึง 40% และ 36% ใช้งานโมบาย เพย์เมนท์ และอีวอลเล็ต ส่วนปริมาณใช้งานในไทยยังอยู่ที่ 27% จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด

ผลสำรวจพบว่า การใช้งานเงินสดในหลายประเทศลดน้อยลง เช่น สิงคโปร์ (67%) มาเลเซีย (64%) ฟิลิปปินส์ (64%) และไทย (59%) ซึ่งสอดคล้องพฤติกรรมผู้บริโภคที่ย้ายไปใช้งานอีเพย์เมนท์มากขึ้น

ทั้งนี้ "เงินสด" ยังคงเป็นสื่อกลางชำระเงินที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในไทย ด้วยเหตุผลหลักๆ คือ ความคุ้นเคยผู้บริโภค ความกังวลผู้บริโภคเรื่องความปลอดภัยการใช้งานอี-เพย์เมนท์ และข้อจำกัดในการเข้าถึงอีเพย์เมนท์ เช่น ผู้บริโภคบางคนยังไม่มีเทคโนโลยี เช่น สมาร์ทโฟนหรือแอพพลิเคชันที่จำเป็นอยู่ในมือ และการที่ร้านค้าไม่มีจุดรองรับอีเพย์เมนท์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าอีเพย์เมนท์จะเติบโตต่อเนื่อง และแคชเลส โซไซตี้ จะมาถึงแน่นอนในอนาคต ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มคุ้นชินกับอีเพย์เมนท์ และมีความเข้าใจในการใช้งานมากขึ้น ตลอดจนร่วมขับเคลื่อนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเราเริ่มเห็นผู้ประกอบการที่พยายามปรับเพื่ออยู่รอดมากขึ้นในปัจจุบัน

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยว่า จุดรับชำระเงินผ่านพร้อมเพย์แบบคิวอาร์ โค้ด เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากราว 3 ล้านจุดในปี 2018 เป็น 6 ล้านจุดในปี 2019 โดยมีการขยายตัวไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดและครอบคลุมธุรกิจหลากหลายประเภทมากขึ้น โดยเฉพาะร้านค้าขนาดเล็ก และเชื่อว่ามีการกระจายตัวไปสู่พื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกมากตั้งแต่ช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 ในไตรมาสที่ผ่านมา

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พฤติกรรมและทัศนคติของผู้บริโภคที่พร้อมเปิดรับเทคโนโลยีการเงินมากขึ้น และการขานรับเทรนด์คอนแทคเลส เพย์เมนท์ จากธุรกิจต่างๆ จะส่งผลให้อีเพย์เมนท์กระจายตัวไปทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการบูรณาการเข้ากับธุรกิจค้าปลีกทั้งบนโลกออนไลน์ เช่น อีคอมเมิร์ซ โซเชียลคอมเมิร์ซ และทั้งบนโลกออฟไลน์ เช่น จุดชำระเงินแบบไร้สัมผัสในโมเดิร์น เทรด ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าประเภทอื่นๆ มากขึ้น นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะทำให้อีเพย์เมนท์ เป็นทางเลือกชำระเงินสำหรับทุกคน และไม่กระจุกตัวอยู่เพียงแค่ในกลุ่มวัยรุ่นหรือวัยทำงานที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่อีกต่อไป