วิกฤติหนี้ วิกฤติชาติ 

วิกฤติหนี้ วิกฤติชาติ 

ถึงเวลาที่นายกฯต้องแก้ปัญหาหนี้อย่างจริงจัง เพราะจากนี้ปัญหาหนี้-เศรษฐกิจจะเป็นระเบิดลูกใหญ่ถล่มประเทศ ล่าสุดแบงก์ชาติพบสถิติลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือ 7.2 ล้านล้านบาท ซึ่งลูกหนี้รายย่อยใกล้ครบสัญญามาตรการพักหนี้แล้ว โจทย์คือจะจัดการหนี้ก้อนนี้อย่างไร

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เปิดเผยออกมาแล้วว่า กลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ณ สิ้นเดือน ก.ค.2563 รวม 7.20 ล้านล้านบาท คิดเป็นจำนวนบัญชีรวม 12.52 ล้านบัญชี ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นการช่วยเหลือในส่วนธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ คิดเป็นยอดสินเชื่อรวม 4.25 ล้านล้านบาท จากจำนวนบัญชีรวม 6.12 ล้านบัญชี

โดยการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยคิดเป็นยอดสินเชื่อรวม 1.63 ล้านล้านบาท และคิดเป็นจำนวนบัญชีรวม 5.74 ล้านบัญชี ซึ่งลดลงเล็กน้อย เนื่องจากลูกหนี้ทยอยสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 1 อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยตามมาตรการระยะที่ 1 คิดเป็นสัดส่วน 90% ของการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยสะสมทั้งหมดสำหรับอีก 10% เป็นการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในระยะที่ 2

สิ่งที่ต้องคิดกันต่อว่าเมื่อครบสัญญาการช่วยเหลือ หรือพักหนี้แล้ว จะจัดการหนี้ก้อนมโหฬารนี้อย่างไร เพราะในความเป็นจริงมิอาจปล่อยให้ออกมาโดยไม่จัดการ ซึ่งนั้นคือการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทุกฝ่ายเรียกร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เข้าใจปัญหาเศรษฐกิจว่ากำลังเผชิญอะไร เพราะมิฉะนั้นแล้ว สองหน่วยงานเศรษฐกิจแก้ปัญหาไปคนละทิศทาง ผลสุดท้ายผลกรรมตกอยู่ที่ประชาชนทั้งประเทศ

แม้ว่าแบงก์ชาติ จะมองในแง่ดีบ้างว่ากิจกรรม ทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมา ทำให้ลูกหนี้หลายรายเริ่มมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ตามปกติ แต่ดูภาวะตลาดโลกที่เราต้องพาเป็นหลักแล้ว ยังอีกไกล ข่าวดีเรื่องวัคซีน อาจจะมีเป้าหมายออกมาสร้างกระแสทางการเมือง สหรัฐ ซึ่งนั้นเท่ากับว่าโลกยังอยู่ในภาวะความไม่แน่นอนสูงอีกต่อไป

เราเห็นว่า นายกรัฐมนตรี ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ โดยเลือกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เข้าใจปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ใช่ว่าใครจะมานั่งก็ได้ เพราะหลังจากนี้ปัญหาหนี้ ปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นระเบิดลูกใหญ่ ที่จะถล่มประเทศ และขยายไปถึงเสถียรภาพรัฐบาล ที่มาพร้อมๆ กับปมการเมืองที่มาเคาะประตูพร้อมๆ กัน

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีอย่าทำตามใจที่นักการเมือง ที่หวังตำแหน่งเพื่อกลุ่มของตัวเอง มากกว่าจะใส่ใจปัญหาของประเทศ นายกรัฐมนตรี ต้องรับปัญหา ข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน ว่ากำลังเดือดร้อนอะไรอย่างเช่นที่คุยกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และนำข้อเสนอเหล่านั้นมาพิจารณา ซึ่งน่าจะทราบได้ดีว่าธุรกิจกำลังเผชิญอะไร ปัญหาหนี้ ปัญหาสภาพคล่อง กระแสเงินสด ปัญหาเหล่านี้ หากจัดการไม่ดีคือวิกฤติ ซึ่งจำเป็นต้องมีมืออาชีพ มาบริหาร ประเทศถึงจะรอด