งบแตะหมื่นล้าน 'ประชามติ' รัฐธรรมนูญ

งบแตะหมื่นล้าน 'ประชามติ' รัฐธรรมนูญ

นายกฯคาดออกเสียง 2 ครั้ง งบแตะหมื่นล้าน "ประชามติ" รัฐธรรมนูญ

ครม.ไฟเขียว พ.ร.บ.ประชามติ จ่อชงสภาฯเห็นชอบ นายกฯคาดลงคะแนนอย่างน้อย 2 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 4-5 พันล้านบาท ด้าน "ก้าวไกล" จับมือ 23 ส.ส.รัฐบาลชง 99 ชื่อดันญัตติแก้รธน.-ปิดสวิตซ์ ส.ว. ขณะที่วงถก60ส.ว.อิสระล่ม“30สมาชิก”ถอนตัว “ดิเรกฤทธิ์” รับเห็นต่างปมหั่นอำนาจ

ความเคลื่อนไหวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วานนี้(8ก.ย.)ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่าที่ประชุมเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติพ.ศ. ....เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการออกเสียงประชามติ โดยตนได้ทราบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ชี้แจงว่า หากมีทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้ประมาณ2ครั้งเป็นอย่างน้อย ส่วนครั้งที่3ถ้าสภารับรองก็ไม่เป็นไรเท่าที่ทราบจำนวนเงินปกติใช้3,000ล้านบาทแต่ในช่วงการระบาดของโควิด-19จะใช้จำนวน4,000ล้านบาท เนื่องจากสถานที่ลงคะแนนต้องกระจายให้น้อยกว่าพันคนเหลือประมาณหกร้อยจำนวนจุดลงคะแนนต้องเพิ่มมากขึ้นต้นทุนก็เพิ่มมากขึ้นทั้งของกกต.เอกสารรวมถึงสภา ดังนั้นตกเฉลี่ยแล้วประมาณครั้งละ4,000หรือ5,000ล้านประมาณนั้น

“ผมไม่ได้ว่าผมเล่าให้ฟังเฉยอย่าหาว่าผมไม่สนับสนุนก็แล้วกันถ้าไม่สนับสนุนผมก็ไม่ทำกฎหมายประชามติหรอก” นายกฯกล่าว

ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นอันหนึ่งก็2,000-3,000ล้านบาทก็จะจัดให้ปีนี้อันใดอันหนึ่งก่อนเพราะทำพร้อมกันไม่ได้ต้องเว้นระยะ60วันมีขั้นตอนดำเนินการหลายอย่าง

ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังครม.อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการดำเนินการคู่ขนานกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญลำดับต่อไปจะส่งร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป

ก้าวไกล-ส.ส.รัฐบาลชงปิดสวิตซ์ส.ว.

วันเดียวกัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมกันนำรายชื่อส.ส. 99 คน ซึ่งมีทั้งส.ส.พรรคก้าวไกลและส.ส.ในสัดส่วนพรรคร่วมรัฐบาล ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้สภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภา เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 272 ว่าด้วยการยกเลิกการให้ส.ว.ร่วมลงมติในที่ประชุมรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี

โดยนายพิธา กล่าวว่า ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อมีจำนวน 99 คนมาจาก 13 พรรคการเมืองโดยไม่มีส.ส.พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ แต่มีส.ส.พรรคภูมิใจไทยรวมลงชื่อด้วย เชื่อว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะได้รับการพิจารณาในวันที่23-24 ก.ย.นี้ นอกจากนี้มั่นใจว่าจะไม่มีส.ว.คนใดขัดขวาง เนื่องจากทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การแก้ไขมาตรานี้จะเป็นทางออกให้กับประเทศ

ขณะที่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากความเห็นพ้องร่วมกัน แม้ว่าส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ได้ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลไปก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามพวกเราจะเข้าไปชี้แจงต่อที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป และคิดว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าใจการดำเนินการในครั้งนี้เนื่องจากหัวหน้าพรรคเคยแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 272

วงถก60ส.ว.ล่ม-30สมาชิกขอถอนตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มส.ว.อิสระ 60 คน ที่นัดประชุมหารือแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลานัด 15.00 น. มีส.ว.ในกลุ่มเพียง 2 คนคือ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม และนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ที่เข้าร่วมประชุม ขณะส.ว.เกือบ 30 คนขอถอนตัวออกจากกลุ่มไลน์จนเหลือสมาชิกในกลุ่มเพียง 30 กว่าคนในที่สุดการประชุมนัดดังกล่าวต้องยกเลิกไปก่อน

โดยนายดิเรกฤทธิ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังถึงสาเหตุในการยกเลิกการประชุมว่า เนื่องจากส.ว.หลายคนในกลุ่มรู้สึกตกใจที่เห็นสื่อมวลชนมาจำนวนมาก หลังจากนี้อาจจะต้องใช้วิธีการหารือกันภายในหรือหารือผ่านกลุ่มไลน์แทน เพราะหลายคนไม่กล้าที่จะเปิดเผยชื่อตัวเอง ยอมรับว่าขณะนี้เสียงของส.ว.ยังมีความเห็นต่าง แต่ยืนยันว่า ส.ว.กลุ่มนี้การทำหน้าที่ของส.ว.เป็นอิสระจากรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฏร หลังจากนี้คงต้องหารือภายในอีกครั้งหนึ่งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

อดีตปธ.สภา-วุฒิฯแนะนายกฯลาออก

ขณะที่กลุ่มอดีตประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา นัดประชุมระดมความคิดหาทางออกวิกฤติการเมืองไทย โดยจะมีการหยิบยก ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 รวมถึงข้อเสนอที่ให้นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง มาหารือ ขณะที่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์และนายอุทัย พิมพ์ใจชน ไม่ได้เดินทางมาร่วมการหารือเนื่องจากติดภารกิจ

โดยนายวันมูหะมัด กล่าวว่าว่า หมดเวลาแล้วสำหรับพล.อ.ประยุทธ์ ส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่เห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ ควรเสียสละลาออกจากตำแหน่ง ไม่ควรรอให้สถานการณ์รุนแรงบานปลายไปมากกว่านี้

ขณะนี้ถือว่าพล.อ.ประยุทธ์ กำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่ง ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นทั้งสองด้าน ควรตัดสินใจและเลือกว่าจะเป็นแบบไหนทั้งนี้หากพล.อ.ประยุทธ์ ลาออกใครจะมาดำรงตำแหน่งแทน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่าควรให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชน

เพื่อไทยชู4ประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ

ส่วนความเคลื่อนไหวพรรคเพื่อไทย นำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ แถลงท่าทีพรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคเห็นว่า สสร. เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในทางสันติวิธี จึงเร่งผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งจะมีการพิจารณาญัตติดังกล่าว วันที่ 23-24 ก.ย. ในวาระที่ 1 และเพื่อเร่งรัดให้เสร็จเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้

ทั้งนี้พรรคได้เตรียมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในอีกหลายประเด็นพร้อมกับประเด็น ส.ส.ร.โดยเฉพาะในส่วนของบทเฉพาะกาลได้แก่ 1. การยกเลิกอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 โดยเสนอเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีนอกจากเลือกจากบัญชีของพรรคการเมืองแล้ว สามารถเลือกจาก ส.ส.ได้ด้วย

2. การยกเลิกอำนาจของวุฒิสภา ตามมาตรา 270 เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และมาตรา 271 เกี่ยวกับการไม่เห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมาย 3. การยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ทำให้ประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช. อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และ 4. การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ด้วยการยกเลิกมาตรา 88, 83 , 85 , 90 , 91 และ 94 โดยแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญพ.ศ 2540 คือใช้บัตร 2 ใบ (เลือกคนและเลือกพรรค)

105อาจารย์จี้เลือกตั้งท้องถิ่น

วันเดียวกัน105 อาจารย์และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ร่วมลงนามในแถลงการณ์ของเครือข่ายรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยท้องถิ่น (คปท.) เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งภายในปี 2563 เพราะการกระจายอำนาจการเมืองสู่ท้องถิ่นสำคัญต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทย การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทุกด้านของประชาชนทั้งประเทศ

ทั้งนี้เห็นว่า การแช่แข็งการปกครองท้องถิ่นโดยไม่มีการเลือกตั้งผู้บริหารและสภาท้องถิ่นมานาน 6 ปีเต็ม ได้ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลายเป็นหน่วยกลไกของรัฐบาล จัดทำดำเนินโครงการต่างๆ ตามคำสั่งของรัฐบาล ฝ่ายบริหารท้องถิ่นขาดการริเริ่มสร้างสรรค์ ขาดการสร้างนวัตกรรมใหม่ในการพัฒนาท้องถิ่น ดังนั้น หากไม่มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ย่อมเท่ากับรัฐบาลมีเจตนาทำลายประชาธิปไตยท้องถิ่น ซึ่งเป็นรากฐานระบอบประชาธิปไตยของชาติ