ตลท.เตือน 'หุ้นไทย' ผันผวน แนะผู้ลงทุนเพิ่มความระมัดระวัง

ตลท.เตือน 'หุ้นไทย' ผันผวน แนะผู้ลงทุนเพิ่มความระมัดระวัง

“หุ้นไทย” ร่วงท้ายตลาด 18 จุด หลุดระดับ 1,300 จุด จากสารพัดปัจจัยรุมเร้า “ภากร” เตือนนักลงทุนระวัง ประเมินแนวโน้มดัชนีทั่วโลกยังผันผวนสูง แนะติดตามข้อมูลใกล้ชิด ยอมรับค่าความผันผวนหุ้นไทยเพิ่มขึ้น ชี้อาจเป็น “นิวนอร์มอล” หลังวิกฤติโควิด

ดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้(8ก.ย.) มีแรงขายออกมาอย่างหนักในช่วงท้ายตลาด จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมไปถึงประเด็นความกังวลเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศ ตลอดจนสถานการณ์ด้านการเมือง 

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้หุ้นไทยปิดตลาดวานนี้ที่ 1,293.80 จุด ลดลง 18.52 จุด หรือ 1.38% มูลค่าการซื้อขายรวม 45,368 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ 126 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 2,182 ล้านบาท

 นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหุ้นในช่วงนี้ยังมีความผันผวนทั้งโลก ซึ่งรวมถึงหุ้นไทย เนื่องจากความไม่แน่นอนทั้งเรื่องการเมือง,เศรษฐกิจ และเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์ยังไม่ปกติมากนัก จึงอยากฝากให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนเพิ่มมากขึ้นและติดตามข้อมูลข่าวสารให้ดี พร้อมประเมินว่าโลกในอนาคตเราอาจจะต้องเจอกับความผันผวนสูงมากขึ้นเรื่อยๆ

"ในอนาคตความผันผวนที่สูงของตลาดหุ้นไทย อาจจะเป็นความผันผวนตามปกติ ในวิถี new normal ได้ โดยก่อนเกิดโควิด-19 ค่าความผันผวนของตลาดหุ้นไทย (Volatility) เฉลี่ยที่ 15% ต่อปี แต่ช่วง 14-16 มี.ค.2563 เด้งขึ้นไปถึงระดับ 100-200% ต่อปี และหลังจากนั้นค่าความผันผวนตลาดเริ่มลดลงมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังอยู่ในระดับ 20-30% ต่อเนื่องในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.  ทำให้เราต้องดูว่าช่วงหลังจากนี้ค่า Volatility ตลาดจะลดลงมาเท่าช่วงก่อนโควิด-19 หรือไม่"

สำหรับการเตรียมพร้อมรองรับความผันผวนในระยะข้างหน้า ที่ผ่านมาช่วงเดือนมี.ค. ทางตลท.ได้ออกมาตรการชั่วคราวออกมา 2-3 เรื่อง ได้แก่ การปรับระดับมาตรการหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราว (เซอร์กิตเบรกเกอร์),การกำหนดราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (ซิลลิ่ง-ฟลอร์) และเรื่องเกี่ยวกับการห้ามการขายชอร์ต (ทำได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายล่าสุด)

นอกจากนี้ ตลท. ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถึงมาตรการที่ตลท.จะสามารถนำมาใช้ได้ในอนาคต ซึ่งใช้ได้รวดเร็วขึ้น เบื้องต้นก.ล.ต.เห็นชอบในหลักการแล้ว 5 มาตรการ เช่น เปลี่ยนเวลาการซื้อขาย, ปรับอัตรามาร์จิ้น เป็นต้น ซึ่งหากมีเหตุการณ์ที่เกิดราคาหุ้นผันผวนขึ้นมามากๆก็สามารถใช้มาตรการดังกล่าวได้ทันที

นายภากร กล่าวด้วยว่า ตลท.ยังคงกำหนดระยะเวลาการใช้เกณฑ์ชั่วคราวทั้งเกณฑ์เซอร์กิตเบรกเกอร์,ซิลลิ่ง-ฟลอร์ และการขายชอร์ตให้สิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างติดตามข้อมูลในช่วงเดือนก.ย.นี้ หากไม่มีเหตุการณ์ใดรุนแรงจนส่งผลกระทบทำให้ความผันผวนมีมากขึ้นก็จะยกเลิกมาตรการดังกล่าวตามที่ได้ประกาศไว้ แต่หากมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทำให้ความผันผวนสูงขึ้นก็อาจจะพิจารณาขยายเวลามาตรการดังกล่าวออกไปได้

“ตอนนี้หากเกิดเหตุการณ์เป็นปกติ เราก็จะเอามาตรการชั่วคราวออก แต่เรายังไม่มั่นใจว่าเหตุการปกติตอนนี้เป็นอย่างไร จึงต้องขอดูข้อมูลตรงนี้ไปจนถึงใกล้ช่วงสิ้นเดือนก่อนว่าจะยกเลิกมาตรการชั่วคราวหรือไม่ เพราะถ้าเราคิดว่าตรงนี้คือ New Normal เราก็คงจะยกเลิกมาตรการฉุกเฉินที่ใช้ตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมาออกไปแล้วกลับมาใช้เกณฑ์ตามปกติเหมือนในอดีต”

ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส จำกัด กล่าวว่า สาเหตุที่ตลาดหุ้นไทยร่วงแรงคาดว่าเป็นผลมาจากความกังวลปัจจัยภายในประเทศทั้งเรื่องการเมืองและความเสี่ยงในการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น และทำให้ดัชนีฯหลุดระดับ 1,300 จุด โดยประเมินแนวรับถัดไปที่บริเวณ 1,270-1,280 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ระดับ 1,300 จุด พร้อมคาดว่าตลาดหุ้นวันนี้(9ก.ย.)น่าจะปรับตัวผันผวนต่อเนื่อง