2 ปมแรงสอบซี7เมืองโคราช เรียกเงิน5 แสนบาทแลกบรรจุรุ่นโควิด

2 ปมแรงสอบซี7เมืองโคราช เรียกเงิน5 แสนบาทแลกบรรจุรุ่นโควิด

เปิดผลสอบข้าราชการสธ.ซี 7 เมืองโคราช เรียกรับเงิน5 แสนบาทแลกบรรจุรุ่นโควิด 19 หลังตั้งคกก.สอบวินัยร้ายแรง ชี้ต้องพิจารณา 2 ปม ทุจริตต่อหน้าที่ - ประพฤติชั่วร้ายแรง คาดผลสอบเสร็จใน 30 วัน ผิดจริงไล่ออก

จากกรณี กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)นครราชสีมา ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง หลังจากได้รับร้องเรียนมีการแอบอ้างว่าสามารถช่วยเรื่องบรรจุข้าราชการด่านหน้าสู้โควิด 19 ในสำนักงานสาธารณสุขแห่งหนึ่ง โดยอ้างว่าเป็นโควต้ารัฐมนตรี เพื่อให้มีการบรรจุข้าราชการทันในรอบที่ 3 คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง พร้อมแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกรณีถูกแอบอ้างว่าสามารถให้บุคคลมาทำงานที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาได้ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแอบอ้างนี้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีมีข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขเรียกรับเงิน 5 แสนบาท เพื่อแลกกับการช่วยเหลือเรื่องการบรรจุข้าราชการรุ่นสู้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่จ.นครราชสีมาว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีการเรียกรับเงินจริงแลกกับการช่วยเหลือในการบรรจุข้าราชการจริง 1 ราย ที่จังหวัดนครราชสีมา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความผิดยังไม่เกิด แต่ก็สร้างความเสียหาย โดยเฉพาะการแอบอ้างชื่อของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข และความเสียหายกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ดังนั้น ขณะนี้ทางนิติกรได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน และเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงต่อไป

ด้าน นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 กล่าวว่า คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงพบว่ามีมูล พบหลักฐานการสนทนาผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งมีการเรียกรับเงินจำนวน 5 แสนบาทเพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้พี่สาวของพยาบาลได้รับการบรรจุข้าราชรุ่นสู้โควิด ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิด เบื้องต้นพบว่าผู้ที่เรียกรับเงิน เป็นชายอายุราวๆ 40 ปี เป็นข้าราชการระดับ 7 (ซี7) ชำนาญการ ขณะนี้ได้มีการหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงแล้ว

นพ.พงศ์เกษม กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะต้องพิจารณาคือ ผู้ที่เรียกรับเงินนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้พิจารณาการบรรจุข้าราชการรุ่นสู้โควิดหรือไม่ หากเป็นกรรมการด้วย จะเข้าข่ายการทุจริตในหน้าที่ ผิดตามมาตรา 157 ซึ่งมีโทษหนัก ทั้งไล่ออกจากราชการ และจำคุก แต่หากไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบรรจุข้าราชการ ก็จะผิดฐานประพฤติชั่วร้ายแรง ซึ่งตามมติครม. ให้ไล่ออก และดำเนินคดีอาญาต่อไป ทั้งนี้ตามระเบียบการสอบวินัยจะใช้เวลา 180 วัน แต่กรณีนี้คาดว่าจะใช้เวลาเร็วประมาณ 30 วัน เพราะมีหลักฐานชัดเจน ระหว่างนี้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาได้ทำการย้ายผู้ที่เรียกรับเงินไปอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก่อน ส่วนพยาบาลที่ถูกเรียกรับเงิน ย้ายไปสถานพยาบาลอื่นก่อนเพื่อความสบายใจ