ททท.เล็งหารือ ศบศ.เพิ่มสิทธิ์ “วัยเก๋า-องค์กร” เราเที่ยวด้วยกัน

ททท.เล็งหารือ ศบศ.เพิ่มสิทธิ์ “วัยเก๋า-องค์กร” เราเที่ยวด้วยกัน

“ททท.” เล็งหารือ ศบศ.เพิ่มเงื่อนไขการใช้สิทธิโครงการ“เราเที่ยวด้วยกัน” เจาะกลุ่มวัยเก๋า-องค์กร พร้อมปลดล็อกให้เที่ยวในภูมิลำเนาตัวเองได้ หลังหนุนเม็ดเงินเข้าสู่ระบบแล้ว 2.6พันล้าน เผยสัปดาห์นี้ถกร่วมแอร์ไลน์ ขอเพิ่มไฟลต์-จัดโปรฯแรงดึงคนไทยบินเที่ยว

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ภายใน 2 สัปดาห์นี้ ททท.จะเสนอให้ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19)หรือศบศ.พิจารณาเพิ่มเงื่อนไขการใช้สิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ให้เข้าถึงนักท่องเที่ยวทุกเซ็กเมนต์มากขึ้น เช่น กลุ่มผู้สูงวัย ให้สามารถเข้าถึงโครงการและใช้สิทธิได้ง่ายขึ้น และกลุ่มองค์กร

รวมถึงให้นักท่องเที่ยวไทยสามารถใช้สิทธินี้ท่องเที่ยวภายในภูมิลำเนา เช่น ให้คนกรุงเทพฯสามารถใช้สิทธินี้เพื่อเข้าพักโรงแรมในกรุงเทพฯได้ หวังกระตุ้นอัตราเข้าพักของโรงแรมในกรุงเทพฯซึ่งในช่วงปกติลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ หรือคนเชียงใหม่สามารถใช้สิทธินี้เพื่อเข้าพักโรงแรมในเชียงใหม่ได้

“ทาง ศบศ.ได้มอบหมายให้ ททท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูเรื่องเงื่อนไขการใช้สิทธิ ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวไทยทุกเซ็กเมนต์สามารถเข้าถึงโครงการเราเที่ยวด้วยกันได้ง่ายขึ้น เพื่อกระตุ้นการจองห้องพักให้ถึงโควตา 5 ล้านคืน จากปัจจุบันมีจำนวนคนมาใช้สิทธิเพียง 8 แสนกว่าคืน ยังเหลือจำนวนสิทธิอีกกว่า 4.1 ล้านคืน”

หลังจาก ศบศ.เห็นชอบให้ขยายสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันในการจองห้องพักจากคนละ 5 คืน เป็นคนละ 10 คืน โดยยังคงหลักการเดิมคือรัฐช่วยจ่าย 40%ส่วนประชาชนจ่าย 60%นอกจากนี้ยังให้เงินคืนค่าตั๋วเครื่องบินจากเดิม 1,000 บาทต่อที่นั่ง เพิ่มเป็น 2,000 บาทต่อที่นั่ง เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนเดินทางไปในระยะที่ไกลขึ้น และให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถลาพักผ่อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือว่าเป็นวันลา เมื่อลงทะเบียนและใช้สิทธิโครงการฯ เพื่อส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา เพิ่มความถี่การพักค้าง และกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มที่มีศักยภาพ

“จากข้อมูลการใช้สิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน พบว่าตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.-31 ส.ค.ที่ผ่านมา มีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบแล้ว 2,592 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินส่วนที่ประชาชนจ่าย 1,613.9 ล้านบาท และเงินส่วนที่รัฐช่วยจ่าย 978.1 ล้านบาท มีประชาชนใช้สิทธิเฉลี่ยวันละกว่า 1.8 หมื่นคืน ททท.จึงต้องการเพิ่มความเร็วในการใช้สิทธิเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการหลังประสบวิกฤติโควิด-19 และกระตุ้นการเดินทางในวันธรรมดา”

ทั้งนี้มองว่าจากการที่ประชุม ศบศ.ไฟเขียวในหลักการมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ด้วยการแจกเงิน 3,000 บาทแก่ผู้ที่มีสัญชาติไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 15 ล้านคน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย น่าจะมีส่วนช่วยให้คนไทยใช้สิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันเพิ่ม ส่วนจะขยายระยะเวลาโครงการฯไปถึงช่วงสิ้นปีหรือไม่ ยังต้องพิจารณา เพราะโจทย์คือต้องการให้คนไทยตัดสินใจออกท่องเที่ยวภายในเดือน ต.ค.นี้

นายยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในสัปดาห์นี้ ททท.จะประชุมร่วมกับตัวแทนผู้ประกอบการสายการบิน หารือถึงความเป็นไปได้ในการขอให้สายการบินกลับมาเพิ่มซัพพลายที่นั่ง ด้วยการเพิ่มความถี่เที่ยวบินและจัดโปรโมชั่นราคาตั๋วเพื่อจูงใจคนไทยเดินทางมากขึ้น หลังเห็นทราฟฟิกเที่ยวบินภายในประเทศจีนกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง และมีการลดราคาตั๋วเพื่อกระตุ้นดีมานด์

“หลังจากผู้ประกอบการ 7 สายการบินในไทยเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ทางนายกฯได้ตอบรับในทิศทางที่ดี รับข้อเสนอของผู้ประกอบการ หนึ่งในนั้นคือมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 24,000 ล้านบาท ททท.จึงขอหารือร่วมกับสายการบินภายในสัปดาห์นี้เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการกลับมาเพิ่มความถี่เที่ยวบินและจัดโปรโมชั่นราคาตั๋ว รวมถึงสอบถามความต้องการอื่นๆ ว่าสายการบินต้องการให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนส่วนไหนเพิ่ม” ผู้ว่าการ ททท.กล่าว