ราชาแห่งตลาดผลไม้ส่งออก ‘บิงซูเนื้อสับปะรด’

ราชาแห่งตลาดผลไม้ส่งออก ‘บิงซูเนื้อสับปะรด’

“บิงซูเนื้อสับปะรด” หวานหอม ขวัญใจคนเกาหลีใต้ ออเดอร์ล้น-ไม่พอขาย สวนกระแสโควิด-19 กับเคล็ดลับแค่เปลี่ยน 2 ข้อธุรกิจก็ปังได้!

สับปะรด ถือเป็นหนึ่งในราชาแห่งตลาดผลไม้ส่งออกที่ครองใจผู้คนในทวีปเอเชีย ด้วยความสดชื่นจากรสเปรี้ยวอมหวานที่เป็นเอกลักษณ์ และวิตามินซีที่สูงถึง 48 มิลลิกรัมต่อปริมาณ 100 กรัม ถือเป็นอาหารชั้นยอดสำหรับคนรักสุขภาพ ซึ่งไทยริชฟูดส์ได้นำจุดเด่นนี้ต่อยอดเป็น บิงซูเนื้อสับปะรด ด้วยเกล็ดหิมะที่หวานและเย็นชื่นฉ่ำใจ สร้างรายได้จากการส่งออกต่อเดือนกว่า 60 ล้านบาท

ตะวัน บุญฤทธิ์ลักขณา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยริชฟูดส์ กรุ๊ป จำกัด ระบุว่า ‘บิงซูเนื้อสับปะรด ถือเป็นสินค้าที่ชาวเกาหลีใต้ชื่นชอบ แม้โควิด-19 จะทำให้ยอดการจำหน่ายในประเทศลดลง แต่กลับกระตุ้นยอดการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากคำแนะนำของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในการปรับรูปแบบการผลิตให้สอดรับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการขยายฐานตลาดไปยังต่างประเทศที่มีความต้องการผลไม้แปรรูปของไทย โดยพบว่า ประเทศเกาหลีใต้ ถือเป็นตลาดสำคัญในภาวะวิกฤติ ทำให้สัดส่วนของการส่งออกของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 90 จากเดิมที่ส่งออกได้เพียงร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่บริษัทฯ ผลิตได้

159948369983

กรรมการผู้จัดการ กล่าวต่อว่า บิงซูเนื้อสับปะรด มียอดสั่งซื้อจากเกาหลีใต้เป็นจำนวนกว่า 100,800 ลูกต่อวัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำลังการผลิตสูงสุด ณ ขณะนี้ ที่ทางบริษัทฯ สามารถผลิตและควบคุมคุณภาพได้ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จึงถือเป็นรายได้หลักของโรงงาน ที่ทำให้สามารถดำเนินกิจการโดยที่ไม่ต้องปรับลดพนักงาน หรือ หยุดกิจการชั่วคราว

“เราเน้นการควบคุมคุณภาพเป็นหลัก โดยเฉพาะการเพาะปลูก ได้ทำความเข้าใจกับเกษตรกรเพื่อควบคุมการใช้สารเคมี และด้านการผลิตด้วยระบบคุณภาพ รวมทั้งมีมาตรการสุ่มตรวจสินค้าอย่างเข้มงวดก่อนส่งออกทุกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าทุกชิ้นมีคุณภาพเท่ากัน แม้จะเป็นผลไม้ที่ควบคุมมาตรฐานได้ยากก็ตาม ทำให้ยอดการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าตัว ทั้งยังเป็นผลดีกับเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ที่อาจขายไม่ได้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19”

159948393798

บิงซูเนื้อสับปะรด’ จึงถือเป็นโมเดลต้นแบบสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและการแปรรูป ในการปรับตัวในภาวะวิกฤติ จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่นๆ จำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับการเข้าสู่ความเป็นปกติใหม่ หรือ New Normal ผ่าน 2 แนวทางสำคัญ 

1. การเสริมศักยภาพสู่ความเป็นผลิตภัณฑ์อาหารระดับโลก หรือ Global Food Producers โดยการควบคุมมาตรฐานและคุณภาพในกระบวนการผลิต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในต่างประเทศ ทั้งยังต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองอุปสงค์ หรือ ดีมานด์ ในบริบทที่สอดคล้องกับตลาดแต่ละภูมิภาค ขณะเดียวกัน ต้องสามารถการันตีความเป็นผลิตภัณฑ์ปลอดโรค เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการบริโภคสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งถือได้ว่ามีภาษีมากกว่าประเทศอื่นๆ ด้วยมาตรการควบคุมโรคที่สามารถลดอัตราการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว

2. การเพิ่มขีดความความสามารถในการผลิตเพื่อพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 หรือ High Productivity & Industry 4.0 โดยใช้นวัตกรรมมาเพิ่มผลิตภาพการผลิต ระบบการบริหารจัดการ รวมทั้งการใช้ระบบออโตเมชั่น แทนแรงงานคน ที่สามารถผลิตและควบคุมคุณภาพได้มากกว่า โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม เพื่อปรับมาเป็นผู้ควบคุมการใช้ออโตเมชั่น หรือมาพัฒนาต่อยอดการผลิตออโตเมชั่นสัญชาติไทย

159948369652

“การเปลี่ยนแปลงนับจากนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ระบบออโตเมชั่น จะตอบโจทย์สำหรับผู้ประกอบการ ในการปรับตัวรองรับพฤติกรรมของแรงงานที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะช่วงที่ผ่านมาแรงงานบางส่วนสามารถสร้างรายได้ด้วยการค้าขายออนไลน์ ซึ่งจะทำให้ความต้องการเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมลดลง ขณะเดียวกันระบบออโตเมชั่น ยังเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ให้ตรงตามข้อกำหนดและความต้องการของตลาดต่างประเทศ”  

สำหรับผู้ประกอบการและบุคลากรภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) นั้น กสอ. มุ่งพัฒนาเอสเอ็มอีให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถ และยกระดับความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นในการเข้าสู่ New Normal รวมทั้งการจัดทำแผนงานช่วยขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีศักยภาพทั้งในภาวะวิกฤติและภาวะปกติ โดยตั้งเป้าพัฒนาให้ดีพร้อมภายใน 90 วัน คาดว่าจะสามารถฟื้นฟูผู้ประกอบการได้ 4,055 กิจการ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 448 ล้านบาท  

159948369827

ทั้งนี้ จากสถิติอุตสาหกรรม (TSIC) ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในครึ่งปีแรก 2563 ของกลุ่มอุตสาหกรรมผักและผลไม้แช่แข็ง พบว่า ยอดขายภายในประเทศมีจำนวนกว่า 311 ล้านบาท และยอดการส่งออกมีจำนวนกว่า 4,197 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 13 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้สนใจสามารถเข้ารับคำปรึกษา หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อ ‘ปั้น ปรุง เปลี่ยน ให้ดีพร้อม (DIProm)’ เคียงข้างผู้ประกอบการสู่ความเป็นปกติใหม่ หรือ New Normal ได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 02-202-4414-18 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.dip.go.th