บทเรียนหนี้ 'ติ๊ก บิ๊กบราเธอร์' หย่า ‘หนุ่ม-ศรราม’ สู่เรื่องการเงินที่ต้องรู้ก่อนพัง

บทเรียนหนี้ 'ติ๊ก บิ๊กบราเธอร์' หย่า ‘หนุ่ม-ศรราม’ สู่เรื่องการเงินที่ต้องรู้ก่อนพัง

ข่าวการหย่าร้างระหว่าง "หนุ่ม ศรราม" และ "ติ๊ก บิ๊กบราเธอร์" ที่เริ่มจากปมเรื่อง "เงิน" สะท้อนถึงความสำคัญของการบริหารจัดการการเงินสำหรับ “ชีวิตคู่” และการเงินส่วนบุคคล ที่ไม่ควรมองข้าม

"ติ๊ก บิ๊กบราเธอร์" หรือ กนิษฐรินทร์ พัชรภักดีโชติ อดีตภรรยา "หนุ่ม ศรราม เทพพิทักษ์" ให้สัมภาษณ์ในรายการ "โหนกระแส" วันที่ 7 ก.ย. 63 ถึงชนวนของการหย่าร้างที่กำลังเป็นที่สนใจในโซเชียลตอนนี้ว่า สาเหตุทั้งหมดเกิดขึ้นจากเรื่อง "เงิน" และมีหลากหลายสาเหตุที่เกี่ยวข้อง 

ติ๊ก เล่าให้ หนุ่ม-กรรชัย พิธีกรฟังว่า ที่ผ่านมา ศรรามใช้หนี้ให้ตลอด และยอมรับว่าปัญหาเกิดเพราะตัวเอง และจุดเริ่มต้นของหนี้มาจากการเงินฝากกับธนาคารแห่งหนึ่งที่มีเงื่อนไขต้องฝากต่อเนื่อง 5 ปี ประมาณปีละ 270,000 บาท หลังจากฝากไปได้แค่ 2 ปี ไม่มีเงินฝากต่อ เลยตัดสินใจไปยืมเงินคนรู้จักมาเพื่อฝากให้ครบตามกำหนด พร้อมยอมรับว่าเล่นพนันออนไลน์มาเพื่อใช้หนี้ที่ยืมมา จนเป็นสาเหตุให้ปัญหาเรื้อรังมากย่ิงกว่าเดิม

นอกจากนี้ยังมีทั้งกรณีที่เคยเอาบัตรเอทีเอ็มของอดีตสามีไปกดโดยไม่ได้ขออนุญาตเพื่อใช้หนี้ และเคยนำทองคำรับขวัญลูกไปขายเพื่อใช้หนี้ รวมถึงที่ถูกกล่าวหาว่าโกงเงินค่าหน้ากากอนามัย อมเงินมัดจำค่าเล่นคอนเสิร์ต ฯลฯ จนมาถึงจุดแตกหักของความสัมพันธ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

'ติ๊ก บิ๊กบราเธอร์' เปิดใจเหตุหย่าขาด 'หนุ่ม ศรราม' ยอมรับเป็นหนี้พนันบาคาร่า

หากมองเรื่องนี้ "หนุ่ม ศรราม เทพพิทักษ์" และ "ติ๊ก บิ๊กบราเธอร์" เป็นกรณีศึกษาทางการเงินของคู่รัก มองไปในมุมของการบริหารจัดการเงินหลากหลายประเด็นทั้งในด้านการบริหารจัดการเงินหลังจากแต่งงาน รวมถึงการเงินส่วนบุคคล 

จากคำให้สัมภาษณ์ของติ๊ก บิ๊กบราเธอร์ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมมาเป็น 5 ข้อคิดทางการเงินที่น่าจะเป็นบทเรียนในการบริหารการเงิน ดังนี้

   

1. เงินฝากต้องเกิดจากรายได้ ไม่ใช้ยืมเงินคนอื่นมาฝาก

ในช่วงแรกที่ "ติ๊ก บิ๊กบราเธอร์" ให้สัมภาษณ์ในรายการ "โหนกระแส" มีการอ้างถึงที่มาของหนี้ว่า มีการฝากเงินสะสมต่อเนื่องกับธนาคาร เป็นสัญญา 5 ปี จำนวนเงินเดือนละ 27,000 - 28,000 บาท ซึ่งตนเองได้ฝากไปแล้ว 2 ปี แต่ปีต่อมาไม่มีเงินเพียงพอที่จะให้กับธนาคารตามสัญญา จึงขอยืมเงินคนรู้จักเพื่อให้ฝากกับธนาคาร

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแม้การฝากเงินสำหรับอนาคตจะเป็นเรื่องที่ควรทำ แต่การฝากเงิน โดยเฉพาะเงินฝากลักษณะที่มีข้อผูกมัดประจำจะต้องประเมินกำลังทรัพย์ของตัวเองว่าสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ รวมไปถึงการมองถึงกรณีที่แย่ที่สุดด้วยว่า หากวันหนึ่งมีเหตุการณ์ที่ฉุกเฉินเกิดขึ้นจนไม่สามารถฝากเงินหรือลงทุนตามที่ตกลงไว้กับธนาคารจะแก้ปัญหาได้หรือไม่อย่างไร 

ฉะนั้น การฝากเงินควรทำอย่างเหมาะสมกับรายได้ของตัวเองตามเป้าหมายทางการเงิน และที่สำคัญที่สุดคือไม่ควรยืมเงินคนอื่นมาฝาก เพราะไม่มีประโยชน์

   

2. คนมีคู่ ต้องคุยเรื่องเงิน

คู่รักแต่ละคู่ มีวิธีการจัดการเงินที่แตกต่างกันออกไป บางคู่อาจแยกเงินคนละกระเป๋า แบ่งกันรับผิดชอบคนละส่วน บางคู่ใช้เงินกระเป๋าเดียวกันเพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีรายได้ทางเดียว หรือบางคู่อาจใช้วิธีวางเงินกองกลางไว้เพื่อจัดสรรร่วมกัน 

การจัดการเงินสำหรับชีวิตคู่ไม่มีผิดหรือถูก แต่วิธีที่เลือกใช้ จะต้องมาจากการตกลงใจของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อบาลานซ์ทั้งเรื่องเงิน และความสุข

ทว่า จุดแตกหักของหลายคู่มาจากการไม่คุยกันเรื่องเงิน หรือมีความลับต่อกันด้วยสาเหตุบางอย่าง ซึ่งนี่เป็นชนวนที่ทำให้หลายคู่ต้องทะเลาะกันเรื่องเงินๆ ทองๆ หรือถึงขั้นหย่าร้าง เมื่อมารู้ความจริงภายหลัง

ดังนั้นการบริหารจัดการเงินต้องมีข้อตกลงร่วมกันที่ชัดเจน เช่น หากต่างฝ่ายต่างต้องการมีเงินส่วนตัว สามารถตกลงกันได้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่ข้องเกี่ยวกับเงินส่วนนี้ของกันและกัน ไม่จำเป็นต้องรายงานการใช้จ่ายระหว่างกัน เป็นต้น

    

3. "การขโมย" ไม่ใช่ทางออก

การ "ขโมย" ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับใคร ไม่ว่าจะเป็นคู่รัก คนในครอบครัว หรือใครก็ตาม เพราะการขโมยเงินหรือทรัพย์สินอื่อ นอกจากจะทำให้การเงินเสียหายแล้ว ยังเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่จะสร้างความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจ ความไม่ไว้วางใจ และนำไปสู่การเลิกราได้ในที่สุด

   

4. อย่ายุ่งกับ "การพนัน"

การหารายได้มาใช้หนี้ให้หมดคือทางออกที่ถูกต้อง แต่หลายคนกลับมุ่งไปหารายได้ที่ไม่ถูกต้อง อย่าง การพนัน ด้วยความหวังว่าเงินที่ได้มากจากความฟลุคจะช่วยปลดหนี้ชั่วข้ามคืน แต่ความเป็นจริงแล้วการพนันทำให้เกิดผลลัพธ์ในทิศทางตรงกันข้าม และกลายเป็นจุดเริ่มต้นปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม เช่น ปัญหาความไม่เข้าใจในครอบครัว ปัญหาทางการเงินส่วนตัวที่มักจะโยงมาถึงการเงินของคู่สมรส 

    

5. หมุนเงินด้วยการกู้ ไม่ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว

การ "หมุนเงิน" กู้เจ้าหนี้ใหม่ มาให้เจ้าหนี้เก่า แล้วยืมเพื่อมาให้เจ้าหนี้ใหม่อีกที วิธีการแบบนี้ ดูเหมือนเป็นทางรอดของคนที่กำลังชักหน้าไม่ถึงหลัง ที่ช่วยให้เอาตัวรอดไปในแต่ละเดือน ทว่านี่ไม่ใช่ทางออกของปัญหาทางการเงินในระยะยาว และไม่ใช่การจัดการเงินที่ดี เพราะท้ายที่สุดแล้วการหมุนเงินจากแหล่งต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเงินที่ไม่ใช่เงินของตัวเอง โดยเฉพาะ "เงินกู้" ยิ่งจะทำให้ปัญหาทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น เพราะตัวละครเจ้าหนี้และดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การแก้ปัญหาทางการเงินควรเริ่มจากการสำรวจหนี้ทั้งหมดที่มี และหาทางแก้ด้วยการใช้รายได้เข้ามาจัดการ โดยไม่สร้างหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นอีก เพื่อค่อยๆ ปลดพันธนาการหนี้ในระยะยาว

เรื่องเงินไม่เข้าใครออกใคร แม้แต่สามีภรรยา ดังนั้นการวางแผนการเงินร่วมกันให้ดีตั้งแต่ต้น หรือทำความรู้จักกับอีกฝ่ายให้มากก่อนตกร่องปล่องชิ้นน่าจะเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ลดโอกาสรักร้าวเพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ ไปได้ไม่มากก็น้อย