‘ศก.ไทย’ พ้นจุดต่ำสุด? คำถาม...ที่ยังต้องคิด

‘ศก.ไทย’ พ้นจุดต่ำสุด? คำถาม...ที่ยังต้องคิด

ภาพ "เศรษฐกิจไทย" ระยะข้างหน้ายังเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายไม่ควรประมาท แม้เดือนแรกของครึ่งหลังปี 2563 เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น และหลายคนคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว ทั้งนี้ความเสี่ยงใหญ่ที่ต้องติดตามแบบใกล้ชิด คือการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2

หลายคนคาดหวังว่า “เศรษฐกิจไทย” น่าจะ “พ้นจุดต่ำสุด” ไปแล้วในช่วงไตรมาส 2 ที่ “จีดีพี” หดตัว 12.2% หนักสุดในรอบ 22 ปี นับจากช่วงไตรมาส 2 ปี 2541 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยขณะนั้น จีดีพี ไตรมาส 2 ปี 2541 หดตัวราว 12.5% ...ส่วนการ “หดตัว” ของจีดีพี ไตรมาส 2 ปีนี้ ที่ลงลึกถึง 12.2% ทำให้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งแรกของปี 2563 หดตัวเฉลี่ย 6.9% ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาส 3 และเดือนแรกของครึ่งหลังปี 2563 เริ่มมีสัญญาณ “ดีขึ้น” ในหลายๆ เครื่องบ่งชี้ โดยเฉพาะ “การส่งออก” และ “การบริโภคภาคเอกชน” ที่หดตัวน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม ภาพเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า ยังเป็นเรื่องที่ทุกฝ่าย “ไม่ควรประมาท” เพราะมี “เครื่องบ่งชี้” ทางเศรษฐกิจอีกหลายตัวสะท้อนความ “น่ากังวล” ในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ถ้าดูตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของ “สำนักวิจัย” หลายๆ สำนัก ที่เพิ่งออกมาในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ เรายังเห็นการ “ปรับลด” ตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ที่ปรับ “จีดีพี” ปีนี้เป็นหดตัว 10% จากเดิมประเมินการหดตัวไว้เพียง 6% หรือทาง “ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส” ที่หั่น “จีดีพี” ปีนี้ติดลบมากขึ้นเป็น 9.1% จากเดิมลบ 8.8%

การปรับลดคาดการณ์ “จีดีพี” ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ให้ตัวเลขปีนี้ “หดตัว” มากขึ้นเป็น 10% แม้ว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะหดตัวเพียง 6.9% ถือเป็นตัวเลขที่ “น่าคิด” เพราะหมายความว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กำลังประเมินเศรษฐกิจช่วง “ครึ่งปีหลัง” อาจ “หดตัว” ลึกถึง 13.1% เป็นตัวเลขที่หนักกว่า ช่วงไตรมาส 2 ซึ่งหดตัวราว 12.2% หรือถ้าดูตัวเลขของ “กรุงไทย คอมพาส” ซึ่งทั้งปีประเมินไว้ที่ 9.1% เท่ากับว่า “กรุงไทย คอมพาส” กำลังมองว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสหดตัวราว 11.3%

ถามว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องย้ำว่า เป็นเรื่องที่เราไม่ควรประมาท โดยประเด็นหนึ่งที่เห็นภาพชัดเจนแล้ว คือ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเดิมคาดการณ์กันว่า “ไทย” สามารถเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยวได้อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ แต่จากสถานการณ์ล่าสุดที่ยังพบการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในหลายๆ ประเทศ ทำให้ไทยยังไม่กล้าเปิดรับนักท่องเที่ยวใหม่เข้ามา สะท้อนผ่านประมาณการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ปรับประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เหลือ 6.7 ล้านคน เป็นตัวเลขเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทยแล้วในปีนี้ สะท้อนว่า สศช.เชื่อว่าช่วงที่เหลือของปีนี้จะไม่มีนักท่องเที่ยวใหม่เดินทางเข้ามาในประเทศเลย

สำหรับ “รายได้” จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีไทยราว 12% ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ไว้ที่ 8 ล้านคน ดังนั้นหากช่วงที่เหลือของปีนี้ไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวใหม่เข้ามาได้เลย เท่ากับว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวดังกล่าวจะต่ำกว่าประมาณการเดิม 1.3 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีราว 0.5% แม้ตัวเลขนี้อาจถูก “ชดเชย” ด้วยมาตรการภาครัฐที่ออกมากระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และการส่งออกที่หดตัวน้อยลง แต่อีกหนึ่ง “ความเสี่ยงใหญ่” ที่ยังต้องติดตามแบบใกล้ชิด คือ การกลับมาระบาดของโควิด-19 ระลอกสองภายในประเทศ ซึ่งประเด็นนี้เป็นตัวแปรสำคัญชี้วัดว่า “เศรษฐกิจไทย” ไตรมาส 2 ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วหรือยัง!