การฟื้นตัวของ 'ตลาดหุ้นทั่วโลก' เริ่มแยกทาง

การฟื้นตัวของ 'ตลาดหุ้นทั่วโลก' เริ่มแยกทาง

การฟื้นตัวของ "ตลาดหุ้นทั่วโลก" ตั้งแต่มิถุนายนเป็นต้นมา เริ่มเริ่มทิศทางการปรับตัวแยกจากกัน โดยกลุ่มหนึ่งตลาดหุ้นปรับตัวได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเริ่มแยกจากตลาดหุ้นอีกกลุ่มหนึ่ง ต่างจากเฟสแรกที่มีลักษณะสอดคล้องกันท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่ต่างกัน

ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงแรงในเดือนมีนาคมและแตะจุดต่ำสุดพร้อมกัน หลังจากนั้นตลาดหุ้นทั่วโลกก็ฟื้นตัวพร้อมกันเมื่อรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มออกมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการปิดเมือง

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของตลาดหุ้นทั่วโลกในเฟสแรกนั้นมีลักษณะที่สอดคล้องกัน กล่าวคือ อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกันจากจุดต่ำสุดเดือนมีนาคม แม้ว่าแต่ละประเทศจะอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด-19 ที่แตกต่างกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป อัตราผลตอบแทนจากเดือนมิถุนาคมเป็นต้นมา ผมเริ่มเห็นตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มปรับตัวแยกทางกัน คือกลุ่มหนึ่ง ตลาดหุ้นปรับตัวได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเริ่มแยกจากตลาดหุ้นในกลุ่มที่สอง

มองเข้ามาใกล้ตัว สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ผมก็เริ่มเห็นการปรับตัวของราคาหุ้นที่เริ่มแยกจากกันด้วยเช่นกัน นับจากเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ดัชนีหุ้น SET-100 ซึ่งประกอบด้วยราคาหุ้นบริษัทจดทะเบียนใหญ่ 100 แห่งของไทยเริ่มปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดใหม่ต่อเนื่อง

ขณะที่ดัชนีหุ้น SSET ซึ่งประกอบด้วยหุ้นนอกเหนือจาก 100 บริษัทใหญ่แรกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน สะท้อนนักลงทุนกำลังโยกเงินจากหุ้นขนาดใหญ่ไปสู่หุ้นขนาดกลางเล็ก ที่อาจปรับตัวได้เร็วกว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ดัชนีกลุ่มธนาคารซึ่งเป็นกระจกสำคัญของการสะท้อนสภาพเศรษฐกิจยังคงปรับตัวขึ้นไม่ได้จากจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคม เหตุผลคือ ธุรกิจขนาด SME ยังคงต้องการความช่วยเหลือเพื่ออยู่รอด ซึ่งทำให้นักลงทุนไม่แน่ใจในเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นได้เร็วเพียงพอหรือไม่ การขยายเวลาในเรื่องการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญออกไปสำหรับธุรกิจการเงิน บ่งชี้ว่า สถานการณ์นั้นยังไม่ฟื้นตัวมากพอสำหรับการดำเนินธุรกิจของ SME หรือธุรกิจนั้นๆ อาจไม่สามารถกลับมาดำเนินการอีกครั้งได้แล้ว

เราสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีเพื่อรักษาชีวิตคนในประเทศ แต่ผลตอบแทนจากการกระทำดีนั้น ไม่สามารถสะท้อนกลับมาสู่การดำเนินชีวิตของคนไทยได้อย่างชัดเจนตราบใดที่เศรษฐกิจระดับครอบครัวยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้ผมยังคงเห็นการปรับประมาณการตัวเลขกำไรของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมลดลงจากเดิมทั้งสำหรับคาดการณ์ปีนี้ และปี 2564 ผลคือ ตลาดหุ้นไทยเริ่มปรับตัวลดลง ปริมาณการซื้อขายหุ้นที่เคยคึกคักในช่วงไตรมาส 2 นั้นเริ่มเหือดแห้งไป รัฐบาลเริ่มปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีเพื่อซื้อเวลาทางการเมือง

แต่การลาออกของอดีตรัฐมนตรีคลัง นายปรีดี ดาวฉาย ก็ทำให้เกิดคำถามสำหรับนักลงทุนว่าคนรับตำแหน่งได้รับการแทรกแซงจากผลประโยชน์ด้านการเมืองมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการดูแลด้านเศรษฐกิจ การเงินของประเทศมักจะได้รับการคุ้มครองจากการแทรกแซงทางการเมือง เพราะมีความสำคัญสูง ยิ่งตอกย้ำทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเริ่มลังเล ต่อการฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนในอนาคตมากขึ้น

ดังนั้น เมื่อนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่สามารถสร้างอัตราผลตอบแทนการลงทุนได้ การขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยงจะเริ่มก่อตัวขึ้นในมุมมองของผม แนวรับระดับ 1,300 จุดที่ว่าแข็งแกร่งก็สามารถพังทลายลงได้ครับ