อัดแคมเปญอุ้ม 3.3 ล้านคน ตัดตอน 'ม็อบ 19 ก.ย.'

อัดแคมเปญอุ้ม 3.3 ล้านคน ตัดตอน 'ม็อบ 19 ก.ย.'

การตัดสินใจสั่ง “กองทัพเรือ” พับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ ลำที่ 3 ออกไปอีก 1 ปี ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม คือ สิ่งบ่งชี้ว่า “การยุบสภา”

 ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไข 3 ข้อของ “กลุ่มนิสิต-นักศึกษา” จะไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้

แต่การชะลอโครงการดังกล่าว หวังดับความไม่พอใจของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด“โควิด-19” ซึ่งปัจจุบันมีตัวเลขคนตกงานสูงถึง 3.3 ล้านราย และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 8 ล้าน ในช่วงสิ้นปี 2563 ตามที่คณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.ระบุไว้

เป็นการสะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญ และแคร์ความรู้สึกประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนมากกว่าการนำเม็ดเงินกว่า 2.25 หมื่นล้าน ไปทุ่มกับ “เรือดำน้ำ” ด้วยการอัดแคมเปญกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 ชุดใหญ่ วงเงิน 6.8 หมื่นล้านบาท

ประกอบด้วย มาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อลดค่าครองชีพ ส่งเสริมการบริโภค และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไป ที่ครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการหาบเร่ แผงลอย 80,000 ร้านค้า โดยรัฐบาลจะช่วยค่าใช้จ่าย 50% ในวงเงินไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ประมาณ 15 ล้านราย

อีกทั้งยังออกมาตรการจ้างงานเด็กจบใหม่ ในปี 2562 หรือปี 2563 โดยรัฐบาล จะสนับสนุนเงินค่าจ้าง 50% ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรี ปวส. ปวช. รวม 260,000 อัตรา วงเงินรวม 2.3 หมื่นล้านบาท เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563-ต.ค.2564

ที่สำคัญการจัดมีตติ้งพบปะระหว่าง นายจ้าง ผู้ประกอบการ กับผู้ว่างงาน

จ็อบเอ็กซ์โปร 2020” ที่จะเกิดขึ้น 26-28 ก.ย. ที่ไบเทค บางนา มีตำแหน่งรองรับ 1 ล้านอัตรา แบ่งเป็นกรมการจัดหางาน 106,312 อัตรา งานต่างประเทศ 112,242 อัตรา งานพาร์ทไทม์ 66,881 อัตรา การจ้างงานโดยภาครัฐจำนวน 410,415 อัตรา การจ้างงานเด็กจบใหม่ 260,000 อัตรา และจ้างแรงงานไทยแทนแรงงานต่างด้าว 44,150 คน

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ คลื่นมหาชนที่ประกอบไปด้วย กลุ่มแรงงาน กลุ่มเปราะบางทางสังคม ที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด มาผนวกกับการชุมนุม “19 ก.ย.ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จนกลายเป็นม็อบใหญ่ ปักหลักยืดเยื้อ

หน่วยงานความมั่นคงยกเหตุการณ์เมื่อวันที่ 16 ส.ค. โดยจำแนกผู้มาร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งเป็นการจัดตั้งจากฝ่ายการเมือง ซึ่งพิจารณาจากการกระทำที่เป็นกลุ่มหน้าเดิมๆ แต่อีกส่วนก็พบว่า เป็นนิสิต นักศึกษา และนักเรียน

 

การชุมนุม “19 ก.ย.ที่จะจัดขึ้นในรั้วธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นสถานที่ปิดนั้น หน่วยงานความมั่นคงประเมินว่า จะไม่เกิดความรุนแรงใดๆ และอยู่ในระดับที่รับมือได้ หากไม่มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจเข้ามาผสมโรง จนกลายเป็นม็อบขนาดใหญ่

แต่ที่ต้องเฝ้าระวังคือ การทำผิดกฎหมาย กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนออกนอกรั้วธรรมศาสตร์หรือการปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรง ทำลายสถานที่สำคัญต่างๆ โดยให้เจ้าหน้าที่ใช้วิธีเจรจา และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม เพื่อไม่ให้เหตุการณ์บานปลายออกไป

หากรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ และจำกัดประชาชนที่มาร่วมชุมนุม “19 ก.ย.ให้มีเพียงกลุ่มจัดตั้ง นิสิต นักศึกษา และนักเรียน เชื่อว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อไม่เกิน 2 วัน คือ 19 ก.ย. ไปจนถึงช่วงค่ำของวันที่ 20 ก.ย. ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายกลับไปทำหน้าที่ ศึกษาเล่าเรียนในวันรุ่งขึ้น ก็จะเหลือเพียงผู้ชุมนุมจัดตั้งที่มีกำลังไม่เพียงพอ

เว้นแต่ว่าแคมเปญกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ตรงใจประชาชน 3.3 ล้านรายที่กำลังตกงาน เพราะคนกลุ่มนี้สามารถปักหลักชุมนุมได้นาน จนกว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะลาออกไป