เบเกอรี่จากแป้งข้าวพื้นเมือง 'PungCraft บ้านเรียนขนมปัง'

เบเกอรี่จากแป้งข้าวพื้นเมือง  'PungCraft บ้านเรียนขนมปัง'

แป้งแต่ละสายพันธุ์มีเนื้อสัมผัสต่างกัน เราอยากขยายแนวคิดการทำมัฟฟิน คัพเค้ก ขนมพวกนี้สามารถทำจากแป้งข้าวพื้นบ้านร้อยเปอร์เซ็นต์

หากคิดแบบเดิม เบเกอรี่ต้องทำตามสูตรฝรั่ง มีนม เนย ไข่ แป้งสาลี ฯลฯ ถึงจะอร่อย... แต่ในโลกยุคนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ จึงต้องคิดใหม่ ทำใหม่...

และนี่คืออีกทางเลือกสำหรับการทำเบเกอรี่ และพิซซ่า จากแป้งข้าวพันธุ์พื้นเมือง โดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งมีคนทำมากขึ้นเรื่อยๆ 

ในงานสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) บ่อยครั้งที่รัญญา นวลคง ซึ่งทำงานขับเคลื่อนเยาวชนอนุรักษ์ต้นน้ำบ้านท่ายูง จ.พัทลุง มีความสนใจเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติและการทำอาหารสุขภาพ มักจะมาร่วมจัดเวิร์คชอป ทำเบเกอรี่ พิซซ่า และมัฟฟินจากแป้งข้าวพื้นเมือง และตอนนี้จึงเดินสายเวิร์คชอปสำหรับผู้สนใจ โดยใช้ชื่อเพจ PungCraft บ้านเรียนขนมปัง

“ก่อนหน้านี้ เราก็ลองทำเรื่องพิซซ่าจากแป้งข้าวในเตาถ่าน โดยใช้ผักพื้นบ้าน ไม่ใช้เนื้อสัตว์ แต่ก็ยังต้องมีส่วนผสมของแป้งสาลีด้วย ” 

159929745687

(เวิร์คชอปทำขนมจากแป้งข้าวพื้นเมือง) 

เธอเคยลองทำ ขนมปังโฮลวีท จากแป้งข้าวพื้นบ้าน โดยใช้แป้งสาลีพันธุ์ฝาง 60 จากเชียงใหม่ ทำออกมาแล้วปรากฎว่า เนื้อนุ่ม ร่วน มีกลิ่มหอมละมุนของข้าวสาลี อร่อยไม่แพ้แป้งสาลีนำเข้าและที่สำคัญปลูกด้วยระบบอินทรีย์

ย้อนมาถึงเรื่องราวของรัญญา เธอเคยเป็นหนึ่งในกลุ่มปันแป้ง ซึ่งตอนนี้ทุกคนก็แยกย้ายไปทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง

ก่อนเธอจะมาทำเรื่องเบเกอรี่และพิซซ่า ครอบครัวของเธอเคยทำการเกษตร เมื่อเธอมาทำงานในเมือง ก็ละทิ้งวิถีเกษตรไปหลายปี จนมีโอกาสทำงานกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) จนกระทั่งลาออก แต่ก็ยังทำงานเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย

และเธอยังคงทำงานกับเด็กๆ และเยาวชน เพื่อพัฒนาโครงการพันธุกรรมพืชท้องถิ่น และเกษตรอินทรีย์ รวมถึงอาหารปลอดภัย ในชุมชนเล็กๆ ที่พัทลุง 

“เราก็อยากให้เด็กๆ รู้สึกหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติของตัวเอง เคยจัดกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ ปิดเทอมสร้างสรรค์ และเราก็คิดอยู่เรื่อยๆ ว่าจะทำกิจกรรมอะไรให้เด็กๆ สนใจ จึงนำเรื่องพิซซ่าจากแป้งข้าวพื้นบ้านมาใช้ โดยใช้เตาถ่านอบ ปรุงด้วยผักพื้นบ้าน แต่ก็ยังต้องมีแป้งสาลีเป็นส่วนผสม นอกจากนี้ยังทำงานขับเคลื่อนการเกษตร การเพิ่มพื้นที่อาหารในสวนยาง พวกผัก เและกาแฟ” รัญญา เล่า

โดยงานเยาวชนที่เธอขับเคลื่อน เธออยากให้เด็กๆ บริโภคผักพื้นบ้านมากขึ้น จึงสอนเด็กๆ ทำพิซซ่าโรยหน้าผักพื้นบ้าน เด็กๆ ได้ลงมือทำและอิ่มอร่อยกับพิซซ่า รวมถึงได้ออกร้านขายพิซซ่าเตาถ่าน

“เวลาทำอาหารฝรั่ง คนส่วนใหญ่จะใช้แป้งพิซซ่าที่สั่งจากต่างประเทศ เราก็สนับสนุนให้ใช้แป้งข้าวพื้นเมือง เมื่อเราสอนให้เด็กๆ ทำพิซซ่ากินเอง พวกเขาก็สนุก เด็กๆเปิดยูทูบหัดทำเองด้วย ไม่ต้องเสียเงินซื้อจากร้าน  

เราอยากพัฒนาเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาเห็นว่า ชีวิตมีทางเลือก บางทีไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตในเมืองก็อยู่ได้ แนวทางนี้ทำให้เราพออยู่พอกินถ้าเราไม่ใช้จ่ายเยอะ ปลูกผักไว้กินเอง  ”

ขนมฝรั่งของเธอที่เรียกตัวเองว่า pungcraft จะใช้แป้งข้าวพื้นบ้านของ“กลุ่มผู้ผลิตข้าวพื้นบ้านในเครือข่าย” ผลิตด้วยกระบวนการ “เกษตรกรรมยั่งยืน” ซึ่งเป็นวิถีเกษตรกรรมที่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและดำรงรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศ

นอกจากนี้เกษตรกรกลุ่มนี้ ยังได้ลงมือแปรรูปข้าวเป็นแป้งมากกว่าการปลูกข้าวไว้กินไว้ขายอย่างเดียว พวกเขาอยากอนุรักษ์ข้าวสายพันธุ์พื้นบ้านในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ รวมถึงเก็บเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นไว้ให้ลูกหลานในอนาคต

"เราก็เลยเพิ่มมูลค่าของข้าว ด้วยการเปิดคอร์สสอน เพราะแป้งแต่ละสายพันธุ์มีเนื้อสัมผัสต่างกัน เราอยากขยายแนวคิดการทำมัฟฟิน คัพเค้ก ขนมพวกนี้สามารถทำจากแป้งข้าวพื้นบ้านร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวดำ ข้าวก่ำ ข้าวมะลิแดง

เพราะเครือข่ายพวกเราทำเรื่องพันธุกรรมข้าวอยู่แล้ว ในกลุ่มเกษตรของเรา ก็ศึกษาเรื่องแป้ง เพื่อแปรรูปจากข้าว ข้าวมะลิแดงสามารถทำมัฟฟินได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ปลอดกลูเตน แต่ขนมปังและพิซซ่ายังทำแบบนั้นไม่ได้"      

159929767928  

เธอ บอกว่า พอมาทำเรื่องเบเกอรี่ คนก็สนใจ เมื่่อก่อนเกษตรกรก็เอาแป้งมาให้ทดลองอยู่เรื่อยๆ ก่อนหน้านี้คนที่มาอบรมก็ได้ทดลองใช้แป้งหลากหลายสายพันธุ์ข้าว และกลุ่มทำงานของพวกเธอก็อยากขยายแนวคิดให้คนรู้จักเรื่องพันธุกรรมข้าวมากขึ้น 

"บางคนกินแต่ข้าวหอมมะลิ ทั้งๆ ที่ยังมีข้าวหอมนิล ข้าวมะลิแดง เมื่อมาเรียนรู้การทำเบเกอรี่ พวกเขาก็ได้เรียนรู้ผ่านแป้ง เราก็ได้ทำอะไรที่เราอยู่ได้ด้วย คือสอน เราก้ตระเวนไปทำเวิร์คชอป เพราะเราอยู่พัทลุง และเกษตรกรมีรายได้จากแป้งข้าวพื้นบ้านด้วย”รัญญา กล่าว

เพราะพวกเขาเชื่อว่า หากไม่อนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นบ้านไว้ พันธุกรรมข้าวเหล่านี้อาจจะถูกลืม และหายไปจากวิถีเกษตรบ้านเรา

159930282454