เช็คไมล์องค์กรไทย บนเส้นทางโกดิจิทัล

เช็คไมล์องค์กรไทย บนเส้นทางโกดิจิทัล

องค์กรต้องมีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่ชัดเจน ผู้บริหารต้องเข้าใจรู้ว่าต้องการอะไรจากการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชั่น

ในปัจจุบันองค์กรไทยยังไม่กล้าลงทุนในเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ เช่น บล็อกเชน เอไอ ฯลฯ เนื่องจากยังไม่แน่ใจในเรื่องของความคุ้มค่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น


ทั้งยังมีปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิเคราะห์และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Analysts ,Scientists) และในอนาคตอันใกล้คือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง (Machine Learning)ตลอดจนการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เหมาะสม


องค์กรไทยมีความตระหนักถึงผลกระทบของดิจิทัล ดิสรัปชันล่าช้ากว่าองค์กรระดับโลกถึง 4 ปี และมีธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคม เทคโนโลยี การเงินและการธนาคาร เป็นกลุ่มธุรกิจแถวหน้าที่มีความตระหนักและเร่งเปลี่ยนองค์กรไปสู่การเป็นดิจิทัล และมีเพียงหนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่บอกว่าประสบความสำเร็จในการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชั่น


ดร. นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ดีลอยท์ ประเทศไทย และ มร. วินเน่ย์ โฮรา พาร์ทเนอร์ ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง ที่ได้ร่วมกันเผยถึงบทสรุปของผลสำรวจการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งดีลอยท์ ประเทศไทยจัดทำขึ้นเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา โดยสอบถามผู้บริหารในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวน 91 ราย เกี่ยวกับปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ รวมถึงวิธีการในการรับมือ อุปสรรค และปัญหาสำคัญที่พบเจอ
กระแสดิจิทัล ดิสรัปชันได้ส่งผลกระทบและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เหตุที่ทำการสำรวจครั้งนี้มาจากที่ผ่านมาดีลอยท์ทำผลสำรวจกับองค์กรในระดับโลกและภูมิภาค แต่ก็มีความสนใจว่าผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย มีทัศนคติต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีอย่างไร และองค์กรต่าง ๆ ควรพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานมากยิ่งขึ้นได้อย่างไร


ในประเทศไทย ธุรกิจเทคโนโลยี สื่อและโทรคมนาคม และการเงิน ถือเป็นกลุ่มผู้นำในการปรับตัว ในรายงานพบว่า วัตถุประสงค์หลักที่องค์กรกลุ่มดังกล่าวได้มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำงานมากยิ่งขึ้เพราะต้องการยกระดับประสบการณ์ของผู้รับบริการ ปรับปรุงพัฒนากระบวนการทำงาน และใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลลูกค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์ในการก้าวบนเส้นทางนี้ของหลายๆ องค์กรไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะดิจิทัลกลับสามารถตอบโจทย์ของการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานได้บางส่วนเท่านั้น


"ทำไมไม่ประสบความสำเร็จ คำตอบสามข้อแรกเป็นเรื่องคนแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสามารถ เรื่องวัฒนธรรมองค์กร และการทำงานแบบไซโล แต่มีข้อที่่สี่ตอบว่ากลยุทธ์"


อุปสรรคสำคัญที่องค์กรต่าง ๆ ต้องเผชิญ หลักๆเกี่ยวข้องกับการบริหารบุคคล ซึ่งข้อเสนอแนะในการแก้ไขของดีลอยท์ก็คือ ธุรกิจอาจต้องพิจารณาจัดรูปแบบการบริหารจัดการแบบใหม่ โดยยุบกระบวนการทำงานแบบแยกส่วน (Silo) สร้าง Digital mindset และการมีบุคลากรที่มีความสามารถเหมาะสม ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่มีผลสัมฤทธิ์ ทั้งเห็นชัดว่านักวิเคราะห์และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Analysts and Scientists) เป็นกลุ่มที่จะมีบทบาทในยุคดิจิทัลมากที่สุดและเป็นความท้าทายสำหรับองค์กรในประเทศไทย อีกข้อสังเกตที่น่าสนใจจากการสำรวจก็คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอและแมชชีนเลิร์นนิ่งจะเป็นกลุ่มมีอิทธิพลมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้


ในรายงานได้ชี้ว่า องค์กรต่าง ๆ เมื่อต้องเลือกระหว่างการจัดหาบุคลากรใหม่ การพัฒนาบุคลากรที่มีอยู่ และการจ้างพนักงานชั่วคราว (Buy-Build-Borrow) ส่วนใหญ่จะเลือกวิธีอย่างหลังมากกว่า อย่างไรก็ดี เพื่อให้การขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสู่องค์กรดิจิทัลสำเร็จ องค์กรต่าง ๆต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในทรัพยากรด้านบุคคลและการทำงานร่วมกับภาคีต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและสรรหาบุคลากรที่เหมาะสมต่อไป คำถามคือสร้าง-ซื้อ-จ้างแบบชั่วคราวแบบไหนดีกว่ากัน?


"ขึ้นอยู่กับความเร่งด่วนของแต่ละบริษัท แต่นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเวลานี้หายากมากๆ คงเคยได้ยินข่าวว่าแบงก์ไทยต้องบินไปรีครูทกันถึงอเมริกา ซึ่งกว่าจะเก่งเขาต้องมีชั่วโมงบินเพราะต้องเก่งทั้งเทคโนโลยีและบิสิเนสด้วย แต่พอได้ตัวมาทำงานก็เกิดปัญหาคัลเจอร์ช็อค การว่าจ้างคนเก่งไม่ใช่การเสกเวทมนตร์ แต่ถ้าองค์กรไม่ไป การวัดผลประเมินผลไม่ไป แม้ได้คนเก่งจากซิลิคอนวัลเลย์แต่ทำแบบหัวเดียวกระเทียมลีบเขาก็คงทำอะไรไม่ได้ เวลานี้องค์กรก็ต้องเอาท์ซอร์สและเทรนคนในองค์กรวิธีหลังถือเป็นกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว ถ้าเลือกพนักงานที่ดีมีความสามารถแล้วเทรนเขา ๆก็จะแฮบปี้ ได้สกิลใหม่ ผูกพันองค์กรมากขึ้น แต่ก็ต้องเลือกคนให้ถูกและต้องใช้เวลา เหมือนปลูกต้นไม้ต้องรอโต"


สำหรับประเด็นในเรื่องของเทคโนโลยี ส่วนใหญ่ที่องค์กรไทยนำมาปรับใช้จะเป็นประเภทเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนน้อย เช่น เว็บเทคโนโลยี แอพมือถือ คลาวด์เทคโนโลยี ซึ่งเริ่มเข้าระยะอิ่มตัวแล้ว แต่สำหรับกลุ่มเทคโนโลยีด้าน บล็อกเชน (Block Chain) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) ยังมีการนำมาประยุกต์ใช้ในองค์กรค่อนข้างน้อย เนื่องจากจะต้องมีการลงทุนจำนวนมาก ทั้งไม่แน่ใจเรื่องความคุ้มค่า คุ้มทุน และยังขาดบุคลากรที่มีทักษะที่เกี่ยวข้อง


นอกจากนี้ ในรายงานยังพบว่า กลไกทางภาษีที่สร้างแรงจูงใจ การผ่อนคลายกฎระเบียบ และโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงและน่าเชื่อถือ เป็นสิ่งที่บริษัทต่างๆ คาดหวังและต้องการเรียกร้องจากรัฐบาลมากที่สุด ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงควรต้องพัฒนาสภาพแวดล้อมด้านดิจิทัลให้แก่ธุรกิจต่างๆ โดยเน้นความสำคัญของประเด็นการปฏิรูประบบการศึกษา และการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นหลัก


ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชันส่งผลอย่างไรกับดีลอยท์ ในแง่ของดีมานด์พวกเขาบอกว่าเป็นเรื่องการปรับเป็นออโตเมชัน ระบบการค้าออนไลน์รวมถึงการบริหารจัดการซัพพลายเชน นอกจากนี้ยังมีระบบไซเบอร์ ซีเคียวริตี้เนื่องจากการเวิร์คฟอร์มโฮม รวมถึงระบบตรวจสอบบัญชีที่พอมีวิกฤติโควิดก็ต้องการปรับระบบให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น


อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นการสำรวจก่อนเกิดโควิด-19 แต่ว่ากันว่าโรคระบาดครั้งนี้ผลักดันให้องค์กรต่างๆ ต้องย่นเวลาในการทรานส์ฟอร์ม ทางดีลอยท์จึงมีแผนจะทำการสำรวจอีกรอบและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสสี่ปีนี้ เพื่อให้รู้ว่ามุมมองความคิดของผู้บริหารเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไรภายหลังการเกิดโควิด -19