คนจีนยุค"เบบี้บูมเมอร์จีน"หนุนธุรกิจดูแลสุขภาพวัยเกษียณ

คนจีนยุค"เบบี้บูมเมอร์จีน"หนุนธุรกิจดูแลสุขภาพวัยเกษียณ

บริษัทหลักทรัพย์เครดิต สวิส เปิดรายงานระบุว่า กลุ่มเบบี้บูเมอร์ในจีนกำลังเกษียณอายุในอีกไม่อีกกี่ปีข้างหน้า และพวกเขาจะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างออกไปจากกลุ่มคนเกษียณปัจจุบัน

"วิล สตีเฟนส์" หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์เชิงปริมาณและเชิงระบบประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเครดิต สวิส กล่าวว่า กลุ่มเบบี้บูเมอร์ เป็นคนที่เกิดในปี 2503 ที่ตระหนักในเรื่องการดูแลสุขภาพทุกด้านมากขึ้น และนี่เป็นปัจจัยที่จะเปลี่ยนแปลงแนวโน้มของประเทศอย่างชัดเจน

รายงานฉบับดังกล่าว ได้ทำการสำรวจผู้บริโภควัยกลางคนและผู้สูงอายุ จำนวน 1,500 คนในจีน พบว่า กลุ่มประชากรสูงวัยจะส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่การดูแลสุขภาพ ประกันภัย การเดินทาง และอี-คอมเมิร์ซ

สตีเฟนส์ กล่าวว่า คนกลุ่มนี้ เป็นประชากรจีนที่มีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือประมาณ 245 ล้านคน ซึ่งมีความแตกต่างเมื่อเทียบกับผู้เกษียณอายุในปัจจุบัน

"คิดว่าความแตกต่างสำคัญของจีนคือขนาดประชากร และกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ชาวจีนรุ่นปัจจุบันกำลังจะเกษียณในอีก 10 ปีข้างหน้า คนเจเนอเรชั่นเบบี้บูมเมอร์ได้สร้างแนวโน้มการเติบโตครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งพวกเขามีรูปแบบการบริโภค และความสนใจที่แตกต่างจากบรรดากลุ่มคนเกษียณอายุในปัจจุบัน"สตีเฟนส์ กล่าว

สตีเฟนส์ ชี้ผลสำรวจว่า 39% ของกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ทำให้รู้ว่าแผนประกันสังคมด้านการดูแลสุขภาพที่มีอยู่ปัจจุบัน ไม่ตรงกับความต้องการของพวกเขา

"กลุ่มคนวัยนี้มีความกังวลต่อระบบการจัดบริการเพื่อช่วยเหลือประชาชน ทำให้มีความสนใจในผลิตภัณฑ์ด้านประกันภัยอย่างมาก ขณะเดียวกันก็เห็นถึงแนวโน้มตัวกระตุ้นการปฏิรูประบบประกันสังคมในประเทศจีน เช่น เพิ่มการโอนหุ้นของรัฐ และการเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นในกองทุนบำนาญของรัฐบาล

ชาวจีนกลายเป็นผู้ที่ร่ำรวยมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต่อหัวประชากรของจีนเพิ่มขึ้นจาก 2,100 ดอลลาร์เป็น 10,000 ดอลลาร์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

สตีเฟนส์ กล่าวเพิ่มเติมกับซีเอ็นบีซีว่า “จีดีพีที่สูงขึ้นเพิ่มจำนวนคนชนชั้นกลางในประเทศ และคนเหล่านี้มีประสบการณ์มากมายในการทำประกัน จีนมี “ศักยภาพอย่างมหาศาล” สำหรับการพัฒนาธุรกิจประกันในอนาคต รวมถึงสะสมเงินบำนาญ ขณะเดียวกัน วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจมีส่วนดีที่เป็นความหวัง ในการเร่งใช้จ่ายสำหรับการดูแลสุขภาพในจีน แม้ว่าการจ่ายเบี้ยประกันส่วนใหญ่ยังต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม

รายงานชิ้นนี้ ระบุว่า กลุ่มคนยุคเบบี้บูมเมอร์ต้องการบริการทางแพทย์ที่มีคุณภาพ โรงพยาบาลเอกชนระดับไฮเอนด์มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากประชากรสูงอายุที่ใส่ใจในคุณภาพของสุขภาพ โดยโรงพยาบาลเอกชนมีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นถึง 23.9% ในช่วงปี 2557 - 2561 สูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐ 10.4%

ดังนั้น ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับไฮเอนด์จึงเป็นที่ต้องการมากขึ้นตามไปด้วย เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องฟอกไต และอุปกรณ์ตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

ส่วนภาคธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพก็จะรับผลประโยชน์ด้วยเช่นกัน โดยเครดิต สวิส คาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเติบโตมากกว่า 7% ต่อปี โดยภาคธุรกิจดังกล่าว จะมีมูลค่า 3.4 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 4.98 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็น 20% ของยอดขายทั่วโลก เพิ่มขึ้น 17% จากปี 2560

แม้ว่ากระแสความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพในจีนยังไม่แพร่หลาย แต่เชื่อว่าแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับจีนจะเป็นไปตามประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีความคล้ายคลึงกับเพื่อนบ้านในเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลี

เมื่อดูจีนแล้ว ก็ต้องดูญี่ปุ่นด้วย ในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ต้องบริหารจัดการสังคมสูงวัยด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีอายุประชากรประมาณ 126.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 28.5% เป็นประชากรซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปี ส่วนสถิติการสิ้นอายุขัยของประชากรอยู่ที่ 1.36 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว สูงที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วที่สุด ซึ่งการคาดการณ์แนวโน้มซึ่งจะเกิดขึ้นทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพเบื้องต้นมาตั้งแต่ปี 2533 และได้เห็นผลลัพธ์ที่ท้าทายเกิดขึ้นชัดเจนในปี 2557 โดยรัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนระบบสุขภาพที่เป็นมาตรฐานระดับประเทศมากยิ่งขึ้น ภายใต้ชื่อแผนนโยบาย Japan Vision Health Care 2035 เน้นไปที่ระบบการดูแลประชากรผู้สูงอายุทั่วไปและการประกันสุขภาพของแรงงานผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญด้านการบริการผู้สูงอายุที่อาศัยคนเดียวหรืออยู่ในชนบท ซึ่งให้บริการตั้งแต่ปัจจัยพื้นฐานด้านสวัสดิการสังคม ไปจนถึงการแข่งขันทางธุรกิจแบบพรีเมี่ยม

ขณะที่รายงาน Silver Economy ของคณะกรรมาธิการยุโรป คาดการณ์ว่า ตลาดเศรษฐกิจสูงวัยจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในยุโรป โดยทำรายได้ในตลาดถึง 5.7 ล้านล้านยูโรภายในปี 2568 ซึ่งมีผลต่ออัตราการขยายตัวจีดีพี 32% และขยายขอบเขตด้านกาจ้างงานสำหรับผู้สูงอายุในอาชีพใหม่ๆ ในอนาคตที่เกิดขึ้นเป็นธุรกิจใหม่ในประเทศ