ดีเอสไอรื้อ 'คดีบอส' - ปปท.บี้ 8 กลุ่ม แนะตั้งเรื่องส่งฟ้องใหม่

ดีเอสไอรื้อ 'คดีบอส' - ปปท.บี้ 8 กลุ่ม แนะตั้งเรื่องส่งฟ้องใหม่

“วิษณุ” เรียก ป.ป.ท. แจกงานตามคดี “บอส อยู่วิทยา” ประสานหน่วยงานต้นสังกัดเอาผิด 8 กลุ่ม คดีอาญาส่ง “ดีเอสไอ” ฟัน ตามข้อเสนอทีม “วิชา” ชงกฤษฎีกาเขียนคู่มือข้อปฏิบัติการมอบอำนาจ - “ตม.” นำหมายจับเข้าระบบ เจอ “บอส” รวบทันที

ความคืบหน้าการติดตามสอบสวนผู้เกี่ยวข้องกับคดีไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ขับรถยนต์ชนตำรวจเสียชีวิต ภายหลังคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ส่งผลการสอบสวนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม

วานนี้ (3 ก.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ตนได้เชิญเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มาพบ เพื่อตกลงแบ่งงานกัน เนื่องจากคณะกรรมการชุดนายวิชา มีเสนอข้อเสนอแนะเร่งด่วนมา 5 ข้อ ที่ประกอบด้วยการเร่งให้รื้อฟื้นคดี และดำเนินคดีที่ยังไม่ขาดอายุความ โดยเฉพาะคดีขับรถขณะเสพยาเสพติด ซึ่งยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหานี้มาก่อน โดยจะให้ ป.ป.ท.ทำเรื่องส่งไปยังตำรวจ

ข้อเสนอที่ 2 การดำเนินการบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบทางอาญาและวินัย ซึ่งมี 8 กลุ่มที่จะแจ้งไป กลุ่มไหนเป็นตำรวจก็จะแจ้งไปยังสํานักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการ ส่วนอัยการก็จะแจ้งคณะกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่ารัฐบาล หรือนายกฯ เป็นผู้บังคับบัญชาและสั่งการ ยืนยันสั่งไม่ได้

ส่วนกลุ่มที่เป็นทนายความก็จะส่งให้สภาทนายความ นอกจากนี้กลุ่มไหนเป็นบุคคลธรรมดาให้ ป.ป.ท. มีอำนาจในการสอบ และเรื่องใดที่คิดว่ามีมูลก็จะส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการสอบ และเรื่องใดเป็นคดีอาญาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งคาดว่าวันที่ 3 ก.ย. ป.ป.ท.จะออกหนังสือประสานไปยังหน่วยงานเหล่านี้

ข้อเสนอที่ 3 ได้แนะนำว่าบางครั้งไม่ใช่เรื่องความรับผิด แต่เป็นเรื่องความรับผิดชอบ ที่ไม่สามารถเอาเข้าคุกได้ เพราะไม่ใช่คดีอาญา ซึ่งเกี่ยวกันกับคนที่เป็นนักการเมืองที่เป็นกรรมาธิการ ซึ่งยังไม่รู้ใครเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว โดยจะส่งเรื่องไปให้ประธานสภา พิจารณาว่าเรื่องใดดำเนินการได้หรือไม่ได้

ข้อเสนอที่ 4 เป็นเรื่องการมอบอำนาจ ที่เราได้บทเรียนเรื่องนี้ว่าข้าราชการรู้จักการมอบอำนาจดี แต่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนในการมอบอำนาจและความรับผิดชอบ สังเกตจากคดีนายวรยุทธ ที่ระบุว่าเมื่อมอบอำนาจแล้วเป็นการมอบขาด แต่ความจริงไม่ไม่มีการมอบอำนาจขาด แต่ความหมายคือมอบให้ไปทำ แต่ผู้มอบอำนาจยังต้องกำกับดูแลและติดตาม หากผิดก็เรียกมาสั่งใหม่ได้ ไม่ใช่มอบแล้วตัดขาดหายไปเลย ซึ่งเป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นมาหลายคดี

ดังนั้นเรื่องนี้จะมอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกา เขียนเป็นคู่มือระบุให้ชัดถึงการมอบอำนาจว่า ผู้มอบหรือผู้รับมอบจะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร

ข้อเสนอที่ 5 การปรับปรุงแก้ไขระเบียบบางอย่าง เช่น อัยการสูงสุดมอบให้รองอัยการสูงสุดคนหนึ่งเป็นผู้รับเรื่องร้องทุกข์ แต่ก็มอบรองอัยการสูงสุดอีกคนหนึ่งทำหน้าที่สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องแทนอัยการสูงสุด เรื่องนี้ไม่ได้ว่าอะไรแต่คนสองคนนี้ไม่ควรเป็นคนเดียวกันเหมือนที่เกิดขึ้นในคดีนี้ที่เป็นคนเดียวกัน จึงไม่มีการคานอำนาจ ดังนั้นเรื่องนี้เป็นข้อเสนอที่ต้องแก้ รวมถึงการใช้ดุลพินิจของอัยการ ซึ่งถือเป็นองค์กรอิสระ แต่ตำรวจที่จะแย้งหรือไม่แย้งต้องมีเหตุผลและหลักเกณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีหลักเกณฑ์นี้

"ส่วนที่มีการเสนอให้คดีอาญาที่ผู้ต้องหาหลบหนีไม่มีการขาดอายุความนั้นฟังดูเผินๆ เป็นเรื่องดี และเมื่อดีก็ได้แก้ในคดีทุจริตไม่ให้ขาดอายุความไปแล้ว ซึ่งคดีของนายวรยุทธ ก็ยังเห็นประโยชน์ แต่ถ้าต้องให้ใช้ในทุกคดีต้องมาคิดอีกที เพราะคณะกรรมการชุดนายวิชา สนใจแค่ในคดีนายวรยุทธ แต่ถ้าให้คดีอาญาอื่นๆ ไม่มีอายุความเลยจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น ต้องส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไปศึกษาทั้งระบบต่อไป”

ขณะเดียวกัน นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน กล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการได้ส่งรายงานสรุปให้นายกรัฐมนตรีไปเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว จากนี้แล้วแต่นายกรัฐมนตรี จะนำข้อสรุปทั้ง 8 ข้อรับไปดำเนินการ ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันหนักแน่นว่า จะรับไปทำอย่างแน่นอน คงต้องใช้เวลา

โดยการตั้งเรื่องส่งฟ้องใหม่ต้องเริ่มจากตำรวจ เพราะเขาจะต้องเป็นผู้สอบสวนใหม่ แต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะเป็นผู้สั่งเพียงคนเดียวไม่ได้ คาดว่าจะเป็นภาระของ ผบ.ตร.คนใหม่ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องต่อไป โดยตำรวจจะต้องปรึกษาหารือกับ ป.ป.ท. และนายวิษณุ ที่เป็นผู้กำกับดูแลศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)

ส่วนกรณีที่ที่นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ให้ข้อมูลว่าอัยการคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้หลบหนีออกนอกประเทศไทยแล้วนั้น ตนไม่ทราบเหมือนกัน ป.ป.ท. ต้องนำประเด็นนี้ไปตรวจสอบต่อไป

สำหรับกรอบการประชุมของคณะกรรมการหลังจากนี้ วางกรอบไว้ว่าจะต้องดูทุกเรื่อง ไม่ว่าจะมีผู้เสนอหรือคณะกรรมการเห็นสมควร ก็จะมากำหนดประเด็น ว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับองค์กรใดไม่ว่าจะตำรวจ พนักงานสอบสวน เพราะพนักงานสอบสวนมีทั้งที่อยู่ในตำรวจ ฝ่ายปกครอง อัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดังนั้นต้องดูในภาพรวมทั้งหมด

พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม. กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังศาลออกหมายจับนายวรยุทธ ว่า หลังจากที่ทางพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอถอนหมายจับเก่า และออกหมายจับใหม่ ซึ่งทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ประสานงานอย่างใกล้ชิด เพราะ ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ตำรวจทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนเรื่องการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมเป็นไปด้วยความรวดเร็ว หลังศาลได้ออกหมายจับ 3 ข้อหา

ทั้งนี้ ทางผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ได้ทำหนังสือถึงผมและได้ประสานทางข้างมา ซึ่งได้มีการนำหมายจับเข้าระบบเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ ผมได้มีบันทึกสั่งการให้ทุกด่านทั่วประเทศ ถ้าพบ นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ให้จับกุมได้ทันที