'อีคอมเมิร์ซไทย' มาแรง แม้ก่อนโควิด แต่ขาดกำลังคน

'อีคอมเมิร์ซไทย' มาแรง แม้ก่อนโควิด แต่ขาดกำลังคน

อีคอมเมิร์ซ B2C ในไทยโตแรง ปี 62 มูลค่าสูง 46.51 พันล้านดอลลาร์ รั้งอันดับหนึ่งในกลุ่มอาเซียน จุดพลิกผันสำคัญช่วงปี 61 พบผู้ประกอบการที่มีแต่หน้าร้านทางอินเทอร์เน็ต 82.01% แต่ยังติดกับดักสำคัญคือ กำลังคนทางด้านดิจิทัล นับเป็นโจทย์สำคัญของรัฐและเอกชน

ไม่กี่วันที่ผ่านมาสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ได้เปิดเผยผลสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซ B2C ในประเทศไทยของปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งได้แสดงถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า 46.51 พันล้านดอลลาร์ เป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน เหนือกว่าทั้งมาเลเซีย 21.53 พันล้านดอลลาร์ อินโดนีเซีย 9.50 พันล้านดอลลาร์ เวียดนาม 7.65 พันล้านดอลลาร์ และสิงคโปร์ 4.94 พันล้านดอลลาร์ 

และที่สำคัญแม้เป็นข้อมูลจากปี 2561 มูลค่าของอีคอมเมิร์ซแบบ B2C เฉลี่ยต่อหัวของประชากรของไทยอยู่ที่ 669.87 ดอลลาร์ ซึ่งไม่ได้น้อยหน้าสิงคโปร์ 876.09 ดอลลาร์ มาเลเซีย 683 ดอลลาร์มากนัก และได้ทิ้งห่างเวียดนาม 80.06 ดอลลาร์ และอินโดนีเซีย 35.48 ดอลลาร์ 

เมื่อเปรียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชีย มูลค่าของญี่ปุ่นอยู่ที่ 165 พันล้านดอลลาร์ และเกาหลีใต้ 100.80 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่มูลค่าเฉลี่ยต่อประชากรของญี่ปุ่นอยู่ที่ 1,309.19 ดอลลาร์ และเกาหลี 1,952.15 ดอลลาร์

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ของไทยไม่ได้น้อยหน้าใคร ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศในอาเซียนหรือประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชีย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของผู้บริโภคชาวไทยที่จะจับจ่ายใช้สอยผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือปี 2561 ต้องถือเป็นจุดพลิกผันที่มีผู้ประกอบการที่มีแต่หน้าร้านทางอินเทอร์เน็ตอย่างเดียวถึง 82.01% ในขณะที่ปีก่อนหน้านี้มีอยู่เพียง14.78 % โดยหน้าร้านทางอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงองค์ประกอบเสริมของหน้าร้านทางกายภาพเท่านั้น

แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการก็มีความพร้อมเช่นกันที่จะค้าขายสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซอย่างที่ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านทางกายภาพอีกต่อไป

หากเทรนด์ยังคงเป็นเช่นนี้อีกต่อไปจะไม่ใช่เรื่องแปลกที่ห้างสรรพสินค้าและห้างร้านต่างๆ จะกลายเป็นอุตสาหกรรมตะวันตกดินในประเทศไทยอย่างที่ได้เกิดขึ้นในสหรัฐและประเทศอื่นๆ มาเกือบทศวรรษหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังเป็นเรื่องแปลกที่การสร้างห้างใหม่ๆ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี รายงานของ ETDA ก็ได้กล่าวถึงกำลังคนทางด้านดิจิทัล (Digital Workforce) ที่เป็นที่ต้องการของตลาดงานสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ ได้แก่ 1.Programmer & Developer/IT Support, 2.Data Science & Data Analyst, 3.Social Media Administrator, 4.Digital Marketing & Marketing Communication และ 5.E-Commerce Strategic Management & Top Management

สำหรับธุรกิจขนาดกลางและย่อม ได้แก่ 1.Programmer & Developer/IT Support, 2.E-Commerce Strategic Management & Top Management, 3.Social Media Administrator, 4.IT Management & Project Management และ 5.Buyer & Merchandiser และได้สะท้อนถึงนักศึกษาจบใหม่ปีละ 4-5 แสนคน ว่าจะทำอย่างไรให้ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน Digital Workforce

ข้อมูลจากแหล่งอื่นๆปรากฏว่า การศึกษาส่วนใหญ่ของประเทศมิได้เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นและจะเป็นปัญหาสำหรับการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและอุตสาหกรรมดิจิทัลต่อไปในอนาคต