ทางรอดของ 'บิ๊กตู่' ในการจ่ายชดเชย 'เหมืองอัครา'

ทางรอดของ 'บิ๊กตู่' ในการจ่ายชดเชย 'เหมืองอัครา'

วิเคราะห์กรณี "เหมืองอัครา" จากการที่มีคำสั่งให้ระงับการประกอบกิจการ หากในกรณีนี้ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แพ้ในคดีนี้ จะต้องชดใช้ค่าเสียหายถึง 3-5 หมื่นล้านบาท สำหรับคดีนี้จะมีทางออกไหนเหลืออยู่บ้าง?

ตอนนี้กำลังเป็นกรณีเผ็ดร้อนในโลกออนไลน์เกี่ยวกับว่า หากท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แพ้ในคดีสั่งปิดเหมืองอัครา จะต้องชดใช้ค่าเสียหายถึง 3-5 หมื่นล้านบาท ท่านเคยประกาศจะรับผิดชอบเองเสียด้วย ผมเคยประเมินมูลค่าเหมืองถ่านหินมาก่อน และมีข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองถ่านหินทั่วโลก จึงขอเสนอทางรอดทางออกของเรื่องนี้ให้พิจารณา

ในโลกนี้มีเหมืองทองอยู่มากมาย แต่ละแห่งล้วนมีมาตรการรักษาความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมอย่างดี เช่นเดียวกับบริษัทคิงส์เกตที่มาทำเหมืองทองในประเทศไทย จากข้อมูลของ World Gold Council พบว่าทั่วโลกมีเหมืองทองคำนับร้อยๆ แห่ง (1) มีกำลังผลิตสูงมาก มีทั้งที่เป็นสมาชิกของ Council แห่งนี้และที่ไม่ได้เป็นสมาชิก แต่ทำการผลิตอยู่เป็นจำนวนมาก ในประเทศเพื่อนบ้านของเราก็ยังมีทั้งจีน ญี่ปุ่น ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย นั่นเอง

ทางรอดสำคัญของท่านนายกฯ อยู่ที่ความอุดมสมบูรณ์ของเหมืองทองคำ ในฐานะที่ผมประเมินค่าเหมืองทองคำนั้น มูลค่าของเหมืองขึ้นอยู่กับ

1.ประเภทของเหมืองและการทำเหมืองที่แตกต่างกัน 2.ปริมาณทองที่คาดว่าจะผลิตได้ 3.คุณภาพของทอง 4.ระยะเวลาที่จะขุดได้อีก 5.ราคาทองคำในตลาดโลกและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง 6.อัตราการคืนทุน 7.การทำให้สภาพแวดล้อมกลับสู่สภาวะเดิม 8.เครื่องมือและเทคโนโลยีการผลิต 9.อื่นๆ เช่น ค่าขนส่ง เพราะบางแห่งขนส่งได้ยาก ฯลฯ

กรณีเหมืองทองอัครายังเหลือเวลาในการผลิตได้อีกนาน ดังนั้นหากรัฐบาลเจรจากับบริษัทผู้ได้รับสัมปทานให้กลับมาทำเหมืองต่อไปอีก และแถมระยะเวลาให้เพิ่มเติมจากที่เสียไป ก็จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะเครื่องไม้เครื่องมือที่ยังเหลืออยู่ในขณะนี้ แม้จะมีค่าเสื่อมบ้าง แต่ก็ยังน่าจะใช้งานได้

อาคารสถานที่เครื่องจักรต่างๆ ก็ยังสามารถที่จะใช้งานต่อไปได้ ที่สำคัญบุคลากรที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะชาวเหมืองที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ก็ “สาธุ” ยกมือท่วมหัวหากเหมืองทองคำเปิดอีก ประชาชนอยากให้มีเหมืองทองคำเป็นอย่างมาก

ประเด็นสำคัญก็คือความคุ้มทุนในการทำเหมือง ผมเชื่อว่าบริษัทที่ได้รับสัมปทานไป ก็คงเล็งเห็นว่าเหมืองแห่งนี้ยังสามารถขุดทองได้อีกมาก คุ้มที่จะผลิต ยิ่งกว่านั้นราคาทองคำในตลาดโลกก็กำลังดีเป็นอย่างมาก ความต้องการทองคำก็มีมากเช่นกัน จากการรายงานของ World Gold Council อีกเช่นกัน พบว่าความต้องการทองคำในไตรมาสที่ 1/2563 นั้นสูงขึ้นถึง 1,083.8 ตัน (2) เพราะโควิด-19 โดยแท้ ราคาหุ้นต่างๆ ตกต่ำลง แต่ราคาทองคำกลับพุ่งสูงขึ้นทั้งที่ราคาทองคำเมื่อปี 2562 กลับลดลง 1% (3)

ธุรกิจเหมืองทองคำนั้น ณ สิ้นปี 2559 จีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุดด้วยทองคำถึง 463.7 ตัน รองลงมาคือออสเตรเลีย 287.3 ตัน และรัสเซีย 274.4 ตัน การผลิตทองคำมีการดำเนินการทั้งรายใหญ่และรายเล็ก เป็นทั้งบริษัทข้ามชาติเช่นที่มาลงทุนที่จังหวัดพิจิตรของไทยก็มีเช่นกัน การทำเหมืองทองคำมีมาตั้งแต่ประมาณ 7,000 ปีมาแล้ว และบัดนี้ได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการทำเหมือง เพราะความต้องการทองคำในตลาดโลกมีมากขึ้นเรื่อยๆ (4) 

สำหรับเหมืองทองคำอัครานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตร และใบอนุญาตทุกประเภท ยุติการทำเหมือง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นมา (5) นับถึงขณะนี้เป็นเวลา 3 ปีเศษแล้ว

สำหรับเรื่องมลพิษนั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่มี จากผลการสำรวจเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2562 (6) พบว่าหลังปิดเหมืองในด้านเศรษฐกิจผู้ตอบแบบสอบถามถึง 75% เห็นว่าเศรษฐกิจค่อนข้างแย่หรือแย่มาก ในทางตรงกันข้าม ประชากรถึง 80% เห็นว่าเศรษฐกิจชุมชนในช่วงก่อนปิดเหมืองทองคำดีกว่าปัจจุบัน ถ้าใช้เกณฑ์ 100% เป็นตัววัด จะพบตัวเลขเศรษฐกิจในขณะนี้ 89% แสดงว่าต่ำกว่าเกณฑ์ 100% เศรษฐกิจในช่วงก่อนปิดเหมืองได้ 111% แสดงว่าเมื่อก่อนดีกว่าพอสมควร และเศรษฐกิจในปี 2563 ได้ 96% แสดงว่าส่วนใหญ่ยังเห็นว่าเศรษฐกิจจะติดลบ

ต่อประเด็นสภาวะมลพิษในชุมชนในขณะนี้ ปรากฏว่า 93% ระบุว่าสภาพในปัจจุบันและก่อนปิดเหมือง มีสภาพเหมือนกัน คือไม่ได้แตกต่างกัน คือไม่ได้มีมลพิษดังที่เข้าใจกันนั่นเอง อาจกล่าวได้ว่าประชากรส่วนใหญ่ถึง 89% ไม่เห็นด้วยกับการปิดเหมือง และอยากให้เหมืองเปิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะจะได้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

เหตุผลของการไม่เห็นด้วยกับการปิดเหมือง ต้องการให้เปิดเหมืองขึ้นใหม่ คือ ขาดรายได้ (24%) ไม่มีงานประจำทำ (21%) ตกงาน (15%) เศรษฐกิจตกต่ำ (15%) ทำงานไกลบ้าน (13%) จะเห็นได้ว่าปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาเศรษฐกิจ เหมืองทองคำอัคราถือเป็นแหล่งงานใหญ่ และการมีเมืองทำให้เศรษฐกิจในชุมชนดี ได้รับความช่วยเหลือด้วยดี แต่เมื่อไม่มีเหมืองก็ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมตามมามากมาย

ในทุกวันนี้การทำเหมืองทองคำมีการรายงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบได้ KPMG ได้จัดทำมาตรฐานการรายงาน (7) ซึ่งทั้งนี้รัฐบาลสามารถตรวจสอบได้จาก

1.การบริหาร (Governance) โดยมีกลไกการบริหารที่โปร่งใส ตรวจสอบโดยสังคมได้

2.การจัดและการวางแผน โดยมีขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ที่ชัดเจน รวมถึงการจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

3.กระบวนการและการควบคุมในการทำเหมือง ซึ่งกรณีเหมืองอัคราก็มีการดูแลอย่างดี พนักงานก็ยังสามารถบริจาคเลือดได้ตลอด แสดงว่าปลอดมลพิษ

4.กระบวนการติดตามผลและการแสดงประจักษ์หลักฐานโดยเฉพาะการตอบสนองต่อข้อร้องเรียนต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม เช่นการตรวจสอบคุณภาพน้ำที่ปลอดภัย (6) เป็นต้น

5.การอบรมและการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง

6.การจัดทำรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สามารถตรวจสอบและพิสูจน์ได้

ในการประเมินค่าของเหมืองทอง เหมืองหนึ่งๆ จะมีค่ามากน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องพิจารณารายงานความยั่งยืนในประเด็นเหล่านี้ด้วย หาไม่หากเหมืองถูกปิดเพราะข้อเรียกร้องจะทำให้เกิดความเสียหายได้ แต่ในกรณีประเทศไทย เหมืองถูกปิดเพราะข้อมูลผิดพลาด เพราะประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่มีมลพิษ แต่รัฐบาลสั่งปิด ทางออกจึงเป็นการสั่งเปิดใหม่ และให้ความมั่นใจแก่ประชาชนรอบข้างและสังคมโดยรวมนั่นเอง

ทางออกเปิดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ พึงพิจารณา

อ้างอิง

1.World Gold Council. Map of Gold Mines in the World. https://www.gold.org/who-we-are/our-members

2.World Gold Council. Gold Demand Trends Q1 2020. https://www.gold.org/goldhub/research/gold-demand-trends/gold-demand-trends-q1-2020

3.World Gold Council. Gold Demand Trends Full year and Q4 2019. https://www.gold.org/goldhub/research/gold-demand-trends/gold-demand-trends-full-year-2019

4.ค่าเสียหายเหมืองทองคำ. AREA แถลง ฉบับที่ 378/2560 : วันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2560. https://bit.ly/2frFSsx

5.ไทย-ออสเตรเลีย ส่อได้ข้อยุติ ปิดเหมืองทองอัครา ชง ครม.ชดเชยความเสียหาย. ไทยรัฐ 17 สิงหาคม 2560. https://goo.gl/7LTNeK

6.จม.ถึงนายกฯ ประชาชน 89% ให้เปิดเหมืองทองอัครา. AREA แถลง ฉบับที่ 367/2562: วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2562. https://bit.ly/2YUxoLR

7.ตรวจสอบแล้ว คุณภาพน้ำเหมืองทองคำอัครา สะอาด! AREA แถลง ฉบับที่ 518/2563: วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2563. https://bit.ly/2EPeqRx