บุ๋ม 'ปนัดดา วงศ์ผู้ดี' เปิดเบื้องลึก! ศึกชิงมง สงคราม 'นางงาม'

บุ๋ม 'ปนัดดา วงศ์ผู้ดี' เปิดเบื้องลึก! ศึกชิงมง สงคราม 'นางงาม'

จากดราม่าร้อนบนเวทีประกวด "นางงาม" ย้อนถึงเหตุการณ์ชิง "มงกุฎ" ในตำนาน พร้อมคำถามที่ว่า ทำไมคนสวยๆ ถึงตกรอบ ตอบชัดแบบไม่กั๊ก กับอดีตนางสาวไทย บุ๋ม- "ปนัดดา วงศ์ผู้ดี" ที่บอกว่าเรื่องนี้มีเบื้องลึกเบื้องหลัง!

สมการที่ว่า ‘นางงาม’ บวก ‘มงกุฎ’ เท่ากับ...ที่สุดแห่งความงาม ทำให้สาวๆ หลายคนทำทุกวิถีทางเพื่อไขว่คว้าตำแหน่งสำคัญบนเวทีประกวด และด้วยเหตุผลเดียวกันมันนำมาซึ่ง ‘สงคราม’ ตั้งแต่ระดับเบสิก คือสงครามน้ำลาย ไปจนถึงขั้นลงไม้ลงมือ ‘ชิงมง’ กันเลยทีเดียว

ล่าสุด เหตุเกิด ณ เวทีการประกวดนางสาวสมิหลา 2020 รอบตัดสิน เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อหนึ่งในนางงามที่ตกรอบ 5 คนสุดท้ายในช่วงตอบคำถาม พาเพื่อนสาวงามทวงคำตอบจากคณะกรรมการ พร้อมบุกขึ้นเวทีเรียกร้องความยุติธรรม เพราะมั่นใจว่าตอบคำถามได้ดีกว่านางงามที่เข้ารอบ

ความวุ่นวายนี้นำไปสู่การตัดจบของคณะกรรมการซึ่งประกาศว่า ปีนี้ไม่มีใครได้รับตำแหน่งนางสาวสมิหลา 2020 แล้วหารแบ่งเงินรางวัลให้สาวงามทั้ง 10 คนไปอย่างเท่าเทียม ทิ้งไว้แต่เรื่องซุบซิบที่ตามติดเวทีขาอ่อนเหมือนเงาตามตัว

ต้องยอมรับว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดข้อกังขาบนเวทีประกวดนางงาม เมื่อผู้ได้รับเลือกให้สวมมงกุฎค้านสายตาผู้ชม เพราะถ้าจะวัดกันในแง่ความโด่งดังระดับทอล์คออฟเดอะทาวน์ ต้องยกให้เหตุการณ์กระชากมงกุฎ ระหว่างการประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ ปี 1986 หรือ พ.ศ.2529 เป็นตำนาน ‘ชิงมง’ ในประเทศไทย

ครั้งนั้นหลังประกาศชื่อผู้ที่ได้รับตำแหน่งมิสไทยแลนด์เวิลด์ว่าเป็น ‘แสงระวี อัศวรักษ์’ ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เมื่อนางงามคนหนึ่งกระชากมงกุฎจากแสงระวีไปใส่ให้รองอันดับ 1 ‘ดวงเดือน จิไธสงค์’ โดยระหว่างความวุ่นวายชุลมุนกันนั้นเองไฟก็ดับพรึบลง ทั้งๆ ที่กำลังมีการถ่ายทอดสด ซึ่งภายหลังกองประกวดได้ออกมาแก้ข่าวว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด มงกุฎของแสงระวีตกลงพื้นไปเอง เพื่อนนางงามข้างหลังเห็นเข้าจึงหยิบและส่งต่อกันไปมาจนวุ่นวาย ถือเป็นการจบแบบเจ็บน้อยที่สุด

แต่ไม่ว่าเบื้องหน้าเบื้องหลังจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ...ศึก ‘ชิงมง’ นั้น เขาสู้กันยิบตา ใช้ทุกกระบวนท่า เพราะสิ่งที่รออยู่ปลายทาง ไม่ใช่แค่เพชรยอดมงกุฎ แต่เป็นผลประโยชน์ที่มีคนเกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังอีกเป็นพรวน

159915439234

  • บุ๋ม ปนัดดา : หลังเวทีมีเรื่องเมาท์

จั่วหัวว่าเป็นสงครามนางงาม ใครจะตอบคำถามเรื่องนี้ได้ดีไปกว่า ‘บุ๋ม’ ปนัดดา วงศ์ผู้ดี สาวงามครองมงกุฎนางสาวไทยประจำปี พ.ศ. 2543 ซึ่งคราวนี้เธอไม่ใช่คู่กรณี แต่มาในฐานะผู้สันทัดกรณี

เริ่มจากประเด็นร้อนๆ ‘ล็อกมง’ มีจริงหรือแค่มโน?

“พูดจากประสบการณ์ของการเป็นกรรมการและการเป็นพิธีกรมาร่วม 20 ปีของการอยู่ในแวดวงนางงามนี่นะคะ การล็อกมงมีไหม ตอบตามตรง มันเคยมี แต่เป็นเวทีนี้หรือเปล่าไม่รู้นะ เพราะว่าบุ๋มไม่ได้ไป ถามว่าเคยมีไหมในประวัติศาสตร์ มี คือเบอร์มาก่อนเลย มาก่อนที่นางงามจะขึ้นบนเวทีซะอีก ลอยมาเลย แล้วยังไม่พอ รอบให้สัมภาษณ์ 12 คน เป็นคนเดียวที่ตอบไม่ได้ แต่ได้มงกุฎ เป็นคนเดียวที่ตอบได้ไม่ดี ไม่ฮือฮาอะไรแบบนั้นด้วย แต่ได้มง เราก็อะๆ เขาก็คงดูแล้วมั้ง อะไรอย่างนี้ อันนั้นระดับประเทศเลยนะ”

ระดับประเทศอาจจะต้องมีชั้นเชิงมากหน่อย แต่ถ้าเป็นระดับท้องถิ่น บุ๋มบอกว่า แทบไม่ต้องดูหน้านางงามเลย แค่เห็นสายสะพายก็เห็น ‘มง’ ลอยมาแล้ว

“พูดง่ายๆ เลย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นคนจัดการประกวด แล้วก็มีนางงามคนหนึ่งใส่สายสะพายองค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นเข้าประกวด คุณคิดว่า เขาจะให้เด็กเขาตกรอบแรกเหรอ เพราะยิ่งเธอเข้ารอบก็ยิ่งมีการประกาศสปอนเซอร์บ่อยขึ้น พอเข้ารอบก็มีการประกาศ หมายเลข 40 นางสาวปนัดดา วงศ์ผู้ดี องค์การบริหารส่วนจังหวัดส่งเข้าประกวด อ้าว ก็ต้องเดินเข้า แล้วก็ได้ประกาศอีก ประกาศอีก ประกาศอีก เอาคนของตัวเองเข้ารอบท้ายๆ ก็เป็นไปได้ เพราะว่าฉันเป็นคนจัดการประกวด เด็กฉัน ก็ต้องเจ๋งอะ มันก็ต้องเป็นในระดับหนึ่ง ถูกมั้ยคะ เพราะว่าเป็นเด็กที่ตัวเองรู้จัก มันก็เป็นไปได้”

เธอตั้งข้อสังเกตต่อว่า บางเวทีจะเห็นนางงามที่ส่งในนามสปอนเซอร์บางรายได้เข้ารอบท้ายๆ ทุกปี ถึงจะไม่ได้มงกุฎ แต่ก็ได้เดินอวดสายสะพายหลายรอบ พิธีกรบนเวทีก็ต้องอ่านชื่อสปอนเซอร์ซ้ำๆ

"นางงามบางเวทีมีสปอนเซอร์หลักจากสมาคมอะไรสักอย่างหนึ่งจะเข้ารอบท้ายๆ ทุกปี จะได้มงไม่ได้มงอีกเรื่องหนึ่ง ถึงได้บอกว่าไม่ต้องมองหน้านางงาม ดูสายสะพายก็พอ เพราะว่าบางทีหน้านางงามก็ดูไม่ได้ด้วยนะ

เพราะว่าอะไร พี่เลี้ยงแต่งเก่งมาก เราจะดูหน้าวันประกวดก็ไม่ได้ น้องโดนแต่งซะจน...อย่างสาวผิวเข้มแต่ไปประกวดนางสาวเชียงใหม่ก็เคลือบกันจนเป็นกระเบื้องเคลือบเลยล่ะ มันคือฝีมือของพี่เลี้่ยงแต่ละคนในการทำงาน”

159915443145

  • ความคาดหวัง VS ความจริง

ในขณะที่ผู้ชม-แฟนคลับนางงาม คาดหวังว่าจะได้เห็นการคัดเลือกสาวงามตามอุดมคติ ทั้งในเรื่องความสวยแบบ 360 องศา บุคลิกความสามารถ สติปัญญา แต่อีกมุมหนึ่งในโลกของการประกวด นี่คือธุรกิจที่มีผู้เกี่ยวข้องมากมาย คนที่อยู่ในแวดวงนี้ต่างรู้ดีว่าจะสร้างสรรค์ประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร

มีการคาดการณ์กันว่า ธุรกิจการประกวดนางงามในไทยแต่ละปีมีมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท เพราะไม่ใช่แค่ค่าสปอนเซอร์ ค่าโฆษณา และค่าบัตรเข้าชมการประกวดเท่านั้น แต่ทางผู้จัดยังได้รับสิทธิให้เป็นต้นสังกัดของบรรดานางงาม ไม่ต่างจากค่ายเพลงหรือโมเดลลิ่ง ที่ต้นสังกัดจะได้รับส่วนแบ่งจากการทำงานของเด็กในสังกัด ไม่ว่าจะเป็นการเป็นพรีเซ็นเตอร์ ถ่ายโฆษณา หรือออกงานอีเวนท์ต่างๆ

ยิ่งถ้านางงามในสังกัดสามารถคว้ามงกุฎมาครอง ก็ยิ่งได้รับความสนใจ มีชื่อเสียงมากขึ้น มีคนจ้างงานมากขึ้น มีค่าตัวที่แพงขึ้น สิ่งเหล่านี้นอกจากจะหอมหวานสำหรับตัวนางงามเอง ยังล่อใจให้คนเข้ามาในแวดวงนี้ ทั้งในฐานะพี่เลี้ยง สปอนเซอร์ ผู้จัดการประกวด ฯลฯ

แต่แน่นอนว่า...ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง!

“การที่พี่เลี้ยงเอาเด็กมาประกวดคนหนึ่ง บางทีมันมีค่าสมัคร 1000, 3000, 5000 บาท หรือต่อให้ไม่มีค่าสมัคร มันก็ต้องมีการลงทุน อย่างเช่น ค่าเสื้อผ้า ชุดไทยที่เราเห็น นั่งปักกันเป็นวันๆ นะ บางทีก็เช่ามาเป็นพันแล้ว ค่ากินข้าวของเด็ก ค่าโรงแรมที่พัก นอนค้างเพราะมาจากจังหวัดอื่น มันคือการลงทุน ไม่ใช่บาทสองบาท บางทีเป็นพันๆ เป็นหมื่นก็มี

บางคนก็มีเด็กในสังกัดหลายคน เขาก็เลยหวังว่าอย่างน้อยการประกวดต้องยุติธรรมสำหรับเขา ที่เขาอุตส่าห์มาถึงแล้ว อย่างน้อยเงินรางวัลก็จะได้เอามาใช้จ่าย ตัวนางงามก็เอาตำแหน่งไป แบ่งเปอร์เซ็นต์ 70-30, 50-50 แล้วแต่ตกลงกัน”

เมื่อทุกอย่างที่ทุ่มเทไปไม่เป็นอย่างที่หวัง บางครั้งก็เลยต้องมีการแสดงความเห็นต่างให้โลกรู้ ...ไม่ใช่แค่ตัวนางงาม!

“พี่เลี้ยงเองก็จะไม่พอใจ ตัวเองอุตส่าห์ลงทุนมาแล้ว เดินทางมาแล้ว เตรียมตัว เตรียมงานมาตั้งนานแล้ว อย่างเช่นการประกวดเวทีใหญ่ มันไม่ใช่มาถึงแล้วประกวดเลยนะ ต้องมีการคัดตัว เก็บตัว ใช้เวลาหลายวัน บางทีเป็นเดือนค่ะ เพราะฉะนั้นความคาดหวังความยุติธรรมของเวทีมันก็ต้องมีอยู่แล้ว”

 

  159915358350

  • สวยเกินเบอร์ ทำไม‘มง’ไม่ลง

นอกจากประเด็นเรื่องการเมืองและผลประโยชน์เบื้องหลังการ ‘ล็อกสเปค’ นางงามแล้ว ถ้ามองกันด้วยตาเปล่า ในฐานะคนที่เคยทำหน้าที่กรรมการมาแล้วหลายเวที บุ๋ม-ปนัดดา บอกว่ามีหลายเหตุผลที่ตอบข้อสงสัยของใครหลายคนได้ว่า ทำไมคนสวยๆ ถึงไม่ได้ไปต่อ (ซึ่งไม่เกี่ยวกับเวทีที่ตกเป็นข่าวแต่อย่างใด)

“เอาเหตุผลเบาๆ ก่อนนะ อย่างบางเวทีเขาอยากได้เด็กที่สามารถใช้งานได้ ถูกไหม เขาจัดการประกวดมา เขาก็อยากได้เด็กที่ใช้งานได้ อย่างเช่น เขาจัดงานประกวดปุ๊บ คุณได้มงปุ๊บ คุณกลับบ้านแล้วนอนไม่ต้องเจอกันอีก มันไม่ใช่ บางพื้นที่เขามีทั้งงานจังหวัด งานเปิดองค์การบริหารส่วนจังหวัด งานกาชาด งานนู่นงานนี่ เขามีความจำเป็นจะต้องเรียกเด็กมาใช้งาน

เขาก็เลย หนึ่ง ขอเป็นเด็กในพื้นที่มากกว่าเด็กเดินสายที่มาจากจังหวัดอื่น ซึ่งกว่าจะเรียกมาได้ อาจจะติดงาน มีค่าเดินทาง มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อย่างนี้เป็นต้น มันใช้งานยาก ใช่...เด็กเดินสาย สวย เดินเก่ง พูดคล่อง ก็เลยเอามารอบท้ายๆ ให้เป็นสีสัน แต่พอเข้ารอบสุดท้ายจริงๆ 5 คนสุดท้าย หรือ 3 คนสุดท้าย ก็เอาเด็กในพื้นที่ดีกว่า

เพราะอย่าลืมว่ากรรมการที่มานั่งในวันนั้นจะเป็นกรรมการที่รวมสปอนเซอร์ด้วย ซึ่งมาวันสุดท้าย ไม่ได้อยู่กับเด็กตั้งแต่วันแรก ดังนั้นกรรมการที่มาในวันนั้นก็จะไม่รู้หรอกว่า พฤติกรรมเด็กเป็นแบบไหน หรือประวัติเด็กเป็นแบบไหน ดังนั้นเขาจึงเลือกเด็ก 3-5 คนสุดท้ายเป็นเด็กที่คนจัดงานอยากจะได้มากกว่า นั่นคือเหตุผลที่หนึ่ง”

อีกเหตุผล อดีตนางสาวไทยผู้ไม่เป็นสองรองใครทั้งความสวยและฝีปาก ชี้ไปที่ ‘ความเยอะ’ ของพี่เลี้ยงนางงาม

“อย่างช่วงเก็บตัว บางเวทีอยากให้แต่งตัวแบบใสๆ ธรรมดาๆ พี่เลี้ยงก็จับแต่งตัวซะเยอะเลย หรือเข้ามาวุ่นวายในช่วงเก็บตัว บรรดาพี่เลี้ยงในกองประกวดก็เลยมองว่าถ้าจะเอามาทำงานน่าจะทำงานยาก หรือเด็กมาสาย แอบสูบบุหรี่ มัวแต่เล่นโทรศัพท์ ไม่ให้ความร่วมมือ เขาก็จะเก็บพฤติกรรมทุกอย่างเอามาพูดในห้องประชุม

ก็คือเด็กสวยเก่ง แต่ประกวดหลายเวทีจนรู้สึกเบื่อ เพราะกิจกรรมก็จะวนๆ เหมือนกันทุกเวที เลยไม่ให้ความสนใจไม่ให้ความร่วมมือสักเท่าไร คนจัดเขาก็เลยจะไปให้เด็กที่ดูจะมีความตั้งใจมากกว่า อะไรแบบนี้เป็นต้น บางครั้งก็เลยให้เข้ารอบท้ายๆ แต่ไม่ได้เข้ารอบ 5 คนสุดท้าย ก็เป็นไปได้”

สำหรับเหตุผลข้อสุดท้าย เป็นทั้งข้อสังเกตและคำเตือนสำหรับนางงามรุ่นใหม่ที่มีชีวิตครึ่งหนึ่งอยู่ในโลกโซเชียล

“อันนี้เริ่มหนักขึ้น โลกปัจจุบันเป็นโลกยุคโซเชียล มันก็เลยมีการสืบประวัติเด็ก อย่างเวทีนางสาวไทย อาจไปดูว่าเด็กคนนั้นประวัติเป็นยังไง ดูในเฟซบุ๊ค ดูในทวิตเตอร์ ดูในไอจี ที่ผ่านมาเขียนด่าคนด้วยคำหยาบคายไหม หรือมีรูปกับผู้ชาย มีผัวเยอะหรือยัง หรือเปิดเข้าไป วันนี้หน้าคู่กับคนนี้ วันนั้นหน้าคู่กับคนนั้น เต็มไปหมด หรือใส่ชุดนักศึกษาไปร้านเหล้าปั่น หรือเขียนคำตัดพ้อต่อว่าอะไรต่างๆ นานา"

"เราไม่สามารถเอาเด็กพวกนี้มาได้มงกฎแล้วมีภาพหลุดในวันรุ่งขึ้น แม้ว่าพวกนี้จะสวย จะคล่อง แล้วก็มีเด็กอีกสายหนึ่งคือ สายเอ็นเตอร์เทน รับงานกินข้าว ไม่ถนัดงาน VIP นะ VIP คือมีอะไรด้วย แต่รับงานกินข้าว แล้วถามหน่อยเถอะ พวกกรรมการทั้งหลายเหล่านี้ ที่เป็นสปอนเซอร์นางงามก็ต้องชอบนางงาม เขารู้ดีว่าเด็กคนไหนเคยโดนออฟ หรือเพื่อนเคยออฟมาแล้วบ้าง ก็จะบอกกันปากต่อปากในกลุ่มกรรมการกันเอง ซึ่งเราก็จะไม่เลือกน้องขึ้นมา มันก็เป็นไปได้เพราะอย่างนี้”

บุ๋ม-ปนัดดา ย้ำว่า “วงการนี้มันแคบ” ถ้ามงไปลงเด็กสักคนที่วันรุ่งขึ้นโดนแฉ ความเสียหายมันมหาศาล

“การจัดงานไม่ใช่บาทสองบาทนะ เป็นล้านเป็นสิบๆ ล้านก็มี ในระดับประเทศ ดังนั้นจึงมีหลายเหตุผลที่เด็กสวยๆ ไม่เข้ารอบ นี่คือเบื้องลึกเบื้องหลังเลยนะ”

..........................

เพราะ ‘มงกฎ’ คือปลายทางของความหวังและผลประโยชน์ที่ไม่ใช่แค่ของ ‘นางงาม’ เรื่องไม่สวยงามที่อยู่หลังฉาก บางครั้งจึงออกมาเผยโฉมท่ามกลางสปอตไลท์!