ล้มแล้วลุก! ปลุกมั่งคั่ง 'เถ้าแก่น้อยฯ-อาฟเตอร์ยู'

ล้มแล้วลุก! ปลุกมั่งคั่ง 'เถ้าแก่น้อยฯ-อาฟเตอร์ยู'

พิษโควิด ฉุดความมั่งคั่ง (Wealth) พอร์ตลงทุน 2 เศรษฐีอายุน้อย ผู้ก่อตั้ง 'เถ้าแก่น้อยฯ' และ 'อาฟเตอร์ยู' ครึ่งหลังของปี จึงท้าทายความสามารถ พวกเขายิ่งนัก ! ในการเรียกคืนมนต์ขลัง บทพิสูจน์โมเดลธุรกิจ รอด หรือ ไม่รอด ไวรัสร้าย...!!

เคยเนรมิตอาณาจักรให้ใหญ่เทียบเท่ารุ่นพี่ๆ มาแล้ว จนขึ้นแท่น 'เศรษฐีอายุน้อยเมืองไทย !'

หลังประสบความสำเร็จจากการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ความโดดเด่นยังมาในรูปของ 'มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' (Market Capitalization) ที่เคยยืนเหนือระดับ 'หมื่นล้านบาท' มาแล้ว อย่าง บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN และ บมจ.อาฟเตอร์ ยู หรือ AU

สะท้อนผ่านการเติบโต 'ก้าวกระโดด' ของธุรกิจ จนกลายเป็น 'ความมั่งคั่ง' (Wealth) พุ่งทะยาน ประเมินจาก 'กำไรจากส่วนต่างของราคา' (Capital Gain) ที่ขยับเพิ่มขึ้นแตะระดับพันล้านไปจนถึงหมื่นล้าน…!

กลายเป็นการเกิดขึ้นของ '2 เศรษฐี' หน้าใหม่อายุน้อย 'ต๊อบ-อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์' ผู้ก่อตั้ง บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN และ 'เมย์- กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ' ผู้ก่อตั้ง บมจ.อาฟเตอร์ยู หรือ AU ที่เคยพิสูจน์ให้นักธุรกิจรุ่นลายครามเห็นแล้วว่า

'กล้าคิดต่างความสำเร็จจะบังเกิด !'

คงไม่มีใครไม่รู้จัก วัยรุ่นพันล้าน อย่าง 'อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์' หรือ 'ต๊อบเถ้าแก่น้อย' กันแน่ๆ กับสุดยอดเรื่องราวในวัยรุ่นที่ทำให้ทุกคนยกนิ้วให้กับความความสำเร็จของเขา ที่แลกมากับความพยายาม อดทน ฝ่าฝันอุปสรรคหลายอย่าง จากที่บ้านมีฐานะแต่ต้องล้มละลาย กลายเป็นหนี้หลายสิบล้าน เด็กคนหนึ่งอายุ 20 ต้นติดเกมออนไลน์ เรียนหนังสือไม่เก่ง กลับต่อสู้ ทุ้มเท อดทน ทำงานปลดหนี้ใครครอบครัวได้หลายสิบล้าน !

และจากตอนนั้นถึงตอนนี้ใครจะรู้ว่าเขาคนนั้นจะกลายมาเป็นเศรษฐีร้อยล้านเพียง อายุแค่ 23 ปีเท่านั้น! (ปัจจุบันอายุ 35ปี)

อีกหนึ่งเศรษฐีรุ่นใหม่ 'เมย์- กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ' รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.อาฟเตอร์ ยู หรือ AU เธอเริ่มเปิดดำเนินการร้านค่าเฟ่ขนมหวาน (Dessert Cafe) วันแรกที่ เจ อเวนิว ซอยทองหล่อ 13 ในปี 2550 ถือเป็นทศวรรษใหม่ของร้านขนมหวานเล็กๆ ที่เริ่มต้นจากความฝันวัยเด็กและความล้มเหลว กลายเป็นธุรกิจเบเกอรี่ลิสท์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เคยมีมูลค่าระดับ 'หมื่นล้าน !' และยังเดินหน้าสร้างปรากฏการณ์ขยายสาขาครองเมืองอีกด้วย

ทว่า ปัจจุบันความมั่งคั่งกำลัง 'ลดลง !' หลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่... จากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) เข้ามาสั่นคลอนบัลลังก์ธุรกิจที่ (เคย) ใหญ่ให้เล็กลง ซึ่งผลกระทบจะมากหรือน้อย เป็นเรื่องท้าทายความสามารถของ 2 เศรษฐีอายุน้อยในการตั้งการ์ดรับมือกับ 'วิกฤติโควิด-19' ที่เข้ามากระทบอย่างหนัก

โดย 'เถ้าแก่น้อยฯ' เคยเป็นบริษัทที่มี Market Cap แตะระดับ 36,570 ล้านบาท ในปี 2559 แต่วันนี้ Market Cap ลดลงเหลือ 14,904 ล้านบาท ขณะที่ “อาฟเตอร์ยู” เคยเป็นบริษัทที่มี Market Cap แตะระดับ 10,032 ล้านบาท ในปี 2560 แต่มาวันนี้ Market Cap ลดลงเหลือ 8,237.70 ล้านบาท (ตัวเลข ณ วันที่ 28 ส.ค.2563)

สอดคล้องกับราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลง โดย หุ้น TKN เคยทำ 'สูงสุด' (New High) อยู่ที่ 29.50 บาทต่อหุ้น (6 มี.ค.2560) และ 'ต่ำสุด' (New Low) อยู่ที่ 4.56 บาทต่อหุ้น (26 มี.ค.2563) ขณะที่ หุ้น AU เคยมีราคาสูงสุด 17.50 บาทต่อหุ้น (24 ก.ค.2562) ราคาต่ำสุด 5.30 บาท (25 ธ.ค.2561) แต่ ณ ปัจจุบันราคาหุ้น TKN และ AU อยู่ที่ 10.70 บาท และ 9.70 บาท (วันที่ 31 ส.ค.2563) ตามลำดับ

ขณะที่ตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 ของ หุ้น TKN & AU ที่ กำไรสุทธิลดลง ถึงระดับพลิกขาดทุนสุทธิครั้งแรก ! โดย 'หุ้น TKN กำไรสุทธิอยู่ที่ 88.92 ล้านบาท และ 'หุ้น AU' พลิกขาดทุนสุทธิครั้งแรกอยู่ที่ 3.07 ล้านบาท โดยงวด 6 เดือนแรกปี 2563 มีกำไรสุทธิ 179.74 ล้านบาท และ 10.22 ล้านบาท

159914902065

ตารางผลประกอบการย้อนหลัง TKN & AU 

วิกฤติโควิด-19 กระทบต่อแทบทุกอุตสาหกรรมไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' หยิบยกคำพูดของนักธุรกิจรุ่นลายครามที่คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจมาอย่างยาวนาน อย่าง 'นายแพทย์บุญ วนาสิน' ที่เคยพูดไว้ว่า

'สำหรับผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 นั้น เป็นสิ่งใหม่ที่ทุกคนเจอะเจอพร้อมกันหมด และไม่เคยคาดคิดมาก่อนถึงผลกระทบว่าจะรุนแรงเช่นนี้ เครื่องบินต้องหยุดบิน ทุกประเทศพร้อมใจปิดน่านฟ้าของตัวเอง ส่งผลให้การเดินทางระหว่างกันปิดตาย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวถือว่ารุนแรงและกระทบทั่วโลกกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 อีก'

ฉะนั้น มาวันนี้ '2 เศรษฐีอายุน้อย' (TKN & AU) จะรับมือกับวิกฤติครั้งนี้เช่นไร !

'อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN เล่าให้ฟังในงานบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน (Oportunity Day) ว่า ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จาการขายอยู่ที่ 1,011.6 ล้านบาท ลดลง 22.3% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และลดลง 8.9% จากไตรมาส 1 ปี 2563 โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยว และประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

โดย 'ตลาดในประเทศ' มีรายได้จากการขายไตรมาส 2 ปี 2563 จำนวน 240.20 ล้านบาท ลดลง 54% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 40.1% จากไตรมาส 1 ที่ผ่านมา โดยจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเทศกาลตรุษจีน

ประกอบกับ มาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของทางรัฐบาล อาทิ การห้ามเดินทางเข้าประเทศ การปิดห้างสรรพสินค้า และห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานตามเวลาที่กำหนด ส่งผลให้รายได้จากการขายในช่วงดังกล่าวลดลงอย่างชัดเจน ทั้งนี้หลังการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ส่งผลให้ยอดขายตั้งแต่เดือนมิ.ย. ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน

'ตลาดต่างประเทศ' มีรายได้จากการขายไตรมาส 2 ปี 2563 จำนวน 771.3 ล้านบาท ลดลง 1.1% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 8.8% จากไตรมาส 1 ปี 2563 โดยตลาดจีนคิดเป็นรายได้หลัก 40% ของรายได้จากการขายรวม มียอดขายลดลง 9.8% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา และเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นในไตรมาส 2

ทั้งนี้รายได้จากการขายในหลายประเทศเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐ ที่ยังคงเดินหน้าสร้างสถิติยอดขายใหม่ต่อเนื่องจากไตรมาสแรก

'เจ้าของTKN' บอกต่อว่า สถานการณ์โควิด-19 ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจ แม้แนวโน้มยอดขายในประเทศครึ่งหลังปีนี้มีทิศทางฟื้นตัวขึ้นแม้จะยังไม่กลับมาเต็มที่ แต่เบื้องต้นประมาณการว่ายอดขายจะฟื้นมาอยู่ที่ 'ราว 80-90%' ของยอดขายระดับปกติ หลังจากที่มีการคลายล็อกดาวน์ มาตรการสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะที่ตลาดต่างประเทศก็จะกลับมาทยอยฟื้นได้ โดยมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาหนุนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในประเทศสหรัฐได้มีการปรับเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าเองมาเป็นการจ้างผลิต (OEM) ส่งผลให้ผลประกอบการเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2563 ซึ่งที่ผ่านมายอดขายมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในประเทศสหรัฐจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ค่อนข้างมากอยู่ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามพื้นที่หลัก ๆ ที่บริษัทจำหน่ายสินค้าอยู่นั้น มีการแพร่ระบาดไม่มากนัก

ขณะเดียวกัน บริษัทยังคง 'เพิ่มช่องทางการขายเพิ่มเติม' ต่อเนื่องด้วย ทั้งนี้ บริษัทยังมีความระมัดระวังในการขนส่งสินค้ามากขึ้น เพราะสถานการณ์ปัจจุบันทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ยังมีความเสี่ยงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สอง และอุทกภัย ที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศ

ส่วนของอัตรากำไรสุทธิปีนี้บริษัทยังคงมั่นใจที่จะรักษาให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 10% จากช่วงครึ่งปีแรกที่อยู่ 8.2% โดยในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทจะมีต้นทุนวัตถุดิบลดลงราว 10% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากบริษัทได้เริ่มใช้วัตถุดิบที่ซื้อเข้ามาใหม่ที่มีราคาลดต่ำลง จะช่วยให้การทำกำไรปรับตัวสูงขึ้นและการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นตามยอดขายที่สูงขึ้น

ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตทั้งหมด 8,400 ตันต่อปี โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 55% แบ่งเป็น โรงงานนพวงศ์ ปทุมธานี 4,800 ตันต่อปี ใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 57% และ โรงงานโรจนะ 3,600 ตันต่อปี ใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 52% นายอิทธิพัทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ ปัจจุบันเหลืออยู่ทั้งหมด 9 สาขา

นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบร้านให้มาเป็นสินค้าเกี่ยวกับสินค้าเพื่อสุขภาพ รองรับการเจาะกลุ่มลูกค้าในประเทศไทยมากขึ้น ในส่วนของร้าน Hinoya Curry หรือร้านอาหารข้าวแกงกะหรี่ ซึ่งบริษัทเป็นแฟรนไชส์แบบตัวแทน (Master Franchise) จากประเทศญี่ปุ่นนั้น ตั้งแต่ช่วงมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ร้านอาหารนี้ก็มีส่วนช่วยเสริมรายได้ให้กับบริษัทอย่างมาก

ดังนั้น บริษัทจึงวางเป้าหมายในการขยายต่อเนื่อง เพื่อที่จะมีรายได้เข้ามาทดแทนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หดหายไป โดยตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะเปิดให้ครบ 30 สาขา ซึ่งจะเน้นการเปิดเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ 80%

สำหรับช่วงครึ่งปีแรกรายได้ปรับตัวลดลงราว 18% โดยเป็นผลมาจากตลาดในประเทศที่ปรับตัวลดลงมาราว 39% และตลาดต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง 3% โดยเฉพาะในตลาดประเทศจีนที่ปรับตัวลดลงราว 10% โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ ประกอบกับประเทศไทยใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ยอดขายแก่ผู้บริโภคในประเทศปรับตัวลดลงตามไปด้วย

ในส่วนของกำไรสุทธิครึ่งปีแรกปรับตัวลดลงราว 3% โดยบริษัทยังคงเน้นการบริหารจัดการภายใน ทั้งในเรื่องของต้นทุนด้านการผลิต และการใช้งบลงทุนด้านการตลาดที่เหมาะสมกับยอดขายในปัจจุบัน

159914924551

ด้าน 'อาฟเตอร์ ยู' แจกแจงผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 พลิกขาดทุนสุทธิ 3.07 ล้านบาท ลดลง 105% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และถือเป็นการขาดทุนครั้งแรกนับตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมาจากการปรับตัว 'ลดลง' ของรายได้จากการขายของบริษัทมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินการ จากการปิดส่วนนั่งทานในร้านชั่วคราวตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค.ถึงกลางเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา

โดยรายได้มีรายได้จากการขายเท่ากับ 144 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2563 และ 363 ล้านบาทในงวด 6 เดือนแรกปี 2563 ซึ่งปรับตัวลดลง 54% จากไตรมาส 2 ปี 2562 และลดลง 39% จากงวด 6 เดือนแรกปี 2562 ตามลำดับ

สำหรับแผนธุรกิจปี 2563 มีแผนชะลอการขยายสาขา แต่คาดการณ์ว่า 1 สาขาใหม่จะสามารถเปิดได้ในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากการลดลงของนักท่องเที่ยวอันเนื่องมาจากการห้ามเดินทางข้ามประเทศรวมถึงการบริโภคในประเทศที่ลดลงจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจซบเซาและถดถอย บริษัทจึงมีแผนชะลอการเปิดสาขา และเน้นการออกบูธสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นหลักจนกว่าสถานการณ์ในประเทศเข้าสู่สภาวะปกติ โดยในช่วง 6 เดือนหลัง ปี 2563

ขณะที่ 'แฟรนไชส์ที่ฮ่องกง' พร้อมเปิดให้บริการภายใน 1-2 เดือนหลังจากการเดินทางระหว่างประเทศกลับสู่สภาวะปกติ โดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเปิดให้บริการสาขาที่ฮ่องกงอย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งในปัจจุบันสาขาฮ่องกงได้มีการสร้างและตกแต่งเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ได้มีการเริ่มทดสอบระบบการขนส่งวัตถุดิบและเฟอร์นิเจอร์ภายในร้านเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลงและการเดินทางระหว่างประเทศกลับสู่ภาวะปกติ บริษัทมีแนวทางในการรับบุคลากรจากฮ่องกงมาเพื่ออบรมและเตรียมความพร้อมในการให้บริการ พร้อมทั้งส่งทีมงานจากประเทศไทยเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกช่วงแรกของการให้บริการอีกด้วย

'แม่ทัพ ต.สุวรรณ' กรรมการผู้จัดการ บมจ. อาฟเตอร์ ยู หรือ AU เคยกล่าวว่า บริษัทเตรียมปรับเป้ารายได้ปี 2563 ในช่วงกลางปีนี้ จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 15% เนื่องจากขณะนี้บริษัทได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

ส่งผลทำให้ 'กำลังซื้อลดลง' ซึ่งเห็นได้ชัดตั้งแต่เดือน ก.พ. 2563 เป็นต้นมา โดยเฉพาะสาขาที่ปกติมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก เช่น สาขาราชประสงค์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีปัจจัยลบดังกล่าวเกิดขึ้น บริษัทก็มีการปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน เพื่อลดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ทั้งลดการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการขยายสาขา ยกเว้นสาขาที่มีกำหนดเปิดแน่นอนแล้วในปีนี้จำนวน 6 สาขา โดยจะหันมาดำเนินการในรูปแบบ Pop Up Store มากขึ้น อีกทั้งยังชะลอการซื้อวัตถุดิบ และต่อรองค่าเช่าของพื้นที่ต่างๆ เป็นต้น

159914941365

พ้น 'จุดต่ำสุด' ครึ่งหลังฟื้น !

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) บอกว่า มีมุมมองเป็นบวกต่อธุรกิจของ TKN จากผู้บริหารเชื่อมั่นว่ารายได้ไตรมาส 2 ปี 2563 เป็น “จุดต่ำสุดของปี” คาดเห็นการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 เป็นต้นไป สำหรับรายได้ในประเทศ เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่เดือน มิ.ย. คาดในไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ปี 2563 จะเห็นการ recover ได้ 80% และ 90% ของรายได้ก่อนเกิด COVID-19 (รายได้ในประเทศเฉลี่ยเดือนละ 170 ล้านบาท) จากการบริโภคที่ฟื้นตัวและการออกผลิตภัณฑ์ใหม่

ขณะที่ คาดรายได้จากประเทศจีนในไตรมาส 3 ปี 2563 ทรงตัวไตรมาส 2 ปี 2563 จากภัยธรรมชาติและการระบาดรอบ 2 ที่ปักกิ่งช่วงต้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะเห็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 4 ปี 2563 โดยครึ่งปีหลังจะเริ่มเข้าสู่ตลาดสาหร่ายทอดเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เน้นตลาดสาหร่ายย่าง และมีแผนออก NPD ของตลาดจีนเร็วสุดในปลายปีนี้อีกด้วย

ทั้งนี้ รายได้ตลาดจีนในไตรมาส 2 ปี 2563 อยู่ที่ 454 ล้านบาท ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ เพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาส 1 ปี 2563 หากไม่รวมค่าแรกเข้าในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ยอดขายตลาดจีนยังคงขยายตัว 1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับตลาดจีนมีค่าแรกเข้า (listing fee) 50 ล้านบาทบันทึกในไตรมาส 1-3 ปี 2563 ครั้งเดียวในปีแรก ซึ่งตามมาตรฐานบัญชี TFRS 15 จะทำให้ยอดขายลดลง

นอกจากนี้ รายได้จากสหรัฐ คาดเติบโตต่อเนื่อง ทาง TKN เตรียมเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายใน 3Q20 คาดเห็นการเติบโตต่อเนื่องที่ double digits ช่วงเดียวกันปีก่อน โดยครึ่งปีแรก 2563 ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 40% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

สำหรับปี 2563 ตั้งเป้ารายได้ขยายตัว 40% จากปีก่อน และการปิดสายการผลิตของ TKN USA ทำให้ช่วยลดการขาดทุนโดยครึ่งปีแรกขาดทุน 4 ล้านบาท ลดลงจากครึ่งปีแรก 2562 ที่ 12 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าครึ่งปีหลัง 2563 จะพลิกฟื้นเป็นกำไร

ขณะที่ GPM ในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวจากไตรมาสก่อน จากการสาหร่ายใหม่ของปี 2562ทั้งหมด ทำให้ต้นทุนสาหร่ายลดลง 10% และ utilization rate ของโรงงานที่ดีขึ้น (1H20 utilization rate อยู่ที่ 55%)

ส่วนร้าน Taokaenoi Land จะเปลี่ยน concept เน้น wellness ขายสินค้าเพื่อคนไทยมากขึ้น สำหรับสาขาที่เหลือ 9 สาขายังไม่มีแผนที่จะปิดเพิ่ม โดยค่าใช้จ่ายในการปิดสาขา 9 สาขาในครึ่งปีแรกอยู่ที่สาขาละ 1 ล้านบาท (one-time expenses) สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะลดลงหลังการปิดสาขาที่ 2 ล้านบาทต่อไตรมาส และการย้ายโรงงานแบ่งเป็น 2 เฟส คาดว่าภายในสิ้นปี 2020E จะจบเฟส 1 สำหรับเฟส 2 จะอยู่ในช่วงปลาย 1Q ถึงต้น 2Q21 ซึ่งการรวมโรงงานช่วยลดค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 10 ล้านบาท

ดังนั้น ยังคงคำแนะนำ 'ซื้อ' หุ้น TKN คงราคาเป้าหมายปี 2021E ที่ 15.40 บาท อิง 2021E PER ที่ 39.0x เทียบเท่า 5-yr average