'เชฟรอน' ผนึกรัฐนำร่องรื้อถอนขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมวางเป็นปะการังเทียมครั้งแรกในประเทศไทย

'เชฟรอน' ผนึกรัฐนำร่องรื้อถอนขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมวางเป็นปะการังเทียมครั้งแรกในประเทศไทย

"เชฟรอนฯ" ผนึก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และจุฬาฯ จัดทำโครงการนำร่องใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม 7 ขาจัดวางเป็นปะการังเทียม เตรียมพร้อมรื้อถอนแท่นฯ ตามสัญญาสัมปทานแหล่งเอราวัณที่จะสิ้นสุดลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการมอบสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีเท่านั้น หรือ ประมาณเดือน เม.ย.2565 และ มี.ค. 2566 สัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในอ่าวไทย คือ แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช จะสิ้นสุดอายุลง

ตามกฏหมายและข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทาน ภายใต้การกำกับดูแลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กำหนดให้ผู้รับสัมปทานจะต้องดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม จึงนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะมีการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม ซึ่งในส่วนของแหล่งเอราวัณ มีแท่นที่ภาครัฐไม่ได้รับโอนไปใช้ประโยชน์ต่อและจะต้องทำการรื้อถอนออกไป จำนวน 49 แท่น จาก 191 แท่น

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ (Operator) แหล่งเอราวัณในปัจจุบัน จึงได้ประสานความร่วมมือกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 กรกฏาคม 2561 ร่วมกันดําเนินโครงการนําร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม จํานวน 7 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งได้ดําเนินการจัดวางไปแล้ว จํานวน 3 ขาแท่น

159914208481

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2563 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งบริษัท เชฟรอนฯ ได้นำคณะผู้สังเกตการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อมวลชนลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ติดตามการจัดวางขาแท่นที่ 4 ที่เคลื่อนย้ายออกมาจากแหล่งปลาทอง ในระยะทาง 150 กิโลเมตร ด้วยเรือยกขนาดใหญ่ที่มีสมรรถนะในการยกมากถึง 3,000 ตัน หรือ มากกว่า 4-8 เท่าของน้ำหนักขาแท่นจริง โดยทำการลากในแนวดิ่งด้วยความเร็วต่ำ ทำให้มีเหล่าฝูงปลาว่ายตามขาแท่นมายังพื้นที่จัดวางเป็นปะการังเทียมที่เกาะพะงันด้วย และคาดว่าขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมทั้ง 7 ขาแท่น จะดําเนินการจัดวางแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.2563

159914211699

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า หลังจากการจัดวางขาแท่นหลุมปิโตรเลียมทั้ง 7 ขาเสร็จแล้ว ทช. และจุฬาฯ ซึ่งได้รับงบประมาณจากทางเชฟรอน 22.8 ล้านบาท จะร่วมกันติดตามและประเมินผลโครงการฯ ดังกล่าวในช่วง 2 ปีนี้ ก่อนนำไปสู่การขยายผลในอนาคตต่อไป เพราะยังมีแท่นผลิตที่จะเลิกใช้งานอีกหลายร้อยแท่น แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าขาแท่นผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดจะสามารถนำมาทำปะการังเทียมได้ 

ขาแท่นฯ ที่นำมาจัดวางนี้มีความสูง 70-84 เมตร เมื่อวางล้มเป็นแนวนอนจะมีความสูงประมาณ 20-22.5  เมตร และเมื่อวางขาแท่นฯ ที่ระดับน้ำ 38.5-39.5 เมตร จะทำให้มีความสูงของยอดกองปะการังถึงผิวน้ำไไม่น้อยกว่า 15 เมตร เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ และกองปะการังเทียมจากขาแท่นฯ นี้

นอกจากจะเพิ่มพูนทรัพยากรทางทะเลแล้ว ยังช่วยเพิ่มมิติด้านแหล่งดำน้ำใหม่ๆ ในเขตน้ำลึก เนื่องจากกองปะการังเทียมจะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน และเป็นที่รวมของสิ่งมีชีวิตหลายหลายสายพันธ์ ซึ่งมั่นใจได้ว่า จะเป็นจุดรองรับเรือทัวร์ของนักท่องเที่ยวจากเกาะพะงัน เกาะสมุย และเกาะเต่าในอนาคตที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และยังช่วยลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาดำน้ำในแนวปะการังธรรมชาติด้วย

159914214246

โดย ทช. ได้เตรียมออกประกาศให้พื้นที่จัดวางปะการังเทียมดังกล่าวเป็นพื้นที่คุ้มครอง เพื่อให้เกิดการจัดการการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างเหมาะสมทั้งในด้านการประมง และการท่องเที่ยวต่อไปด้วย

“การขนย้ายขาแท่นทั้ง 4 ขาดำเนินการอย่างรัดกุมในทุกขั้นตอน มีหน่วยงานภาครัฐควบคุมดูแล และทีมงานของบริษัทเชฟรอน ก็ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในระดับสากล ดังนั้นจึงขอให้สบายใจได้”

159914218742

นายอรรจน์ ตุลารักษ์ ผู้จัดการแผนกรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่เลิกใช้งานในกิจการปิโตรเลียม บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ระบุว่า บริเวณแท่นผลิตปิโตรเลียมเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรทางทะเล ซึ่งส่วนของขาแท่นในปัจจุบันทำหน้าที่เสมือนปะการังเทียมอยู่แล้ว เพราะมีโครงสร้างซับซ้อนและมีความทนทาน เหมาะในการลงเกาะของปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นอย่างดี

โดยก่อนดำเนินโครงการฯ นี้ ได้มีผลสำเร็จจากโครงการต้นแบบที่นำโครงสร้างเหล็กขาแท่นจำลองไปจัดวางเป็นปะการังเทียมในพื้นที่อ่าวโฉลกหลำของเกาะพะงัน ที่ ทช. และ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย  ร่วมกันดำเนินการศึกษาตั้งแต่เดือน ก.ย.2556 พบว่าวัสดุที่เป็นโครงสร้างเหล็กนี้มีความเหมาะสม ทั้งในด้านการเข้าอยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตลอดจนไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้สร้างประโยชน์ทั้งทางด้านการประมงและการท่องเที่ยวให้กับชุมชนชายฝั่งตลอดจนธุรกิจท่องเที่ยวทั้งในอ่าวโฉลกหลำและพื้นที่ใกล้เคียง การย้ายขาแท่นเพื่อมาจัดวางเป็นปะการังเทียมในบริเวณที่ใกล้กับชายฝั่งมากขึ้น  จะเกิดประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งการเพิ่มพูนทรัพยากรทางทะเล และเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน

ทั้งนี้ เมื่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อนุมัติแผนการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมแล้ว บริษัทฯ มีแผนจะดำเนินการรื้อถอนกว่า 20 แท่นในปี 2564 จากจำนวนทั้งหมด 42 แท่น และจะทำการรื้อถอนแท่นที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 ก่อนส่งมอบสัมปทานแหล่งเอราวัณคืนให้กับภาครัฐต่อไป