'สวนพฤกษศาสตร์ระยอง' แหล่งศึกษาระบบนิเวศ 'อีอีซี'

'สวนพฤกษศาสตร์ระยอง' แหล่งศึกษาระบบนิเวศ 'อีอีซี'

จังหวัดระยอง ไม่ได้มีเฉพาะโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมที่ให้เป็นจังหวัดที่มีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สูงสุดของประเทศ แต่จังหวัดระยองเป็นมีแหล่งศึกษาระบบนิเวศสำคัญ เป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งศึกษาธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ

อีกทั้งเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญในการขยายพันธุ์พืช“กระจูด”ที่ชาวบ้านนำไปใช้ประโยชน์ในการทำอาชีพจักสานสร้างรายได้ให้กับชุมชน

ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ครั้งล่าสุดที่ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 24 - 25 ส.ค.2563 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ “สวนพฤกษศาสตร์ระยอง” รวมถึงศึกษาดูงาน “กลุ่มจักสานกระจูดบ้านมาบเหลาชะโอน” ด้วย

วันชนะ บุญชัย หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์ จ.ระยอง ให้ข้อมูลว่า สวนพฤกษศาสตร์ในไทยเกิดขึ้นจากพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานเมื่อครั้งทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานกล้วยไม้เอเชียแปชิฟิก ครั้งที่ 4 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2535

ต่อมาหลายหน่วยงานได้น้อมรับนำไปดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ของประเทศ โดยกรมป่าไม้จัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นที่ตำบลแม่แรม อ.แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต่อมาโอนมาดำเนินงานโดยองค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อสพ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

กระทั่งปี 2537 องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานสวนพฤกษศาสตร์สากลแห่งแรกของไทยในภาคเหนือนี้ว่า “สวนพฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้า (Queen Sirikit Botanic Garden)" ซึ่งถือเป็นสวนพฤกษศาสตร์สากลแห่งแรกของประเทศไทย จากนั้นองค์การสวนพฤกษศาสตร์ มีการจัดตั้งสวนฤกษศาสตร์สาขาขึ้นทั่วประเทศเพื่อเป็นศูนย์ศึกษาวิจัยอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุ์ไม้ใกล้สูญพันธุ์ และรวบรวมพรรณไม้ต่างๆ

สวนพฤกษศาสตร์ระยองมีความพิเศษคือเป็นระบบป่านิเวศน์ป่าพรุ บนแหล่งน้ำธรรมชาติ “บึงสำนักใหญ่” พื้นที่ 3,000 ไร่ อยู่ในการดูแลของศูนย์กว่า 1,700 ไร่ ทำให้มีพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นหายากจำนวนมากที่จำเป็นต้องได้รับการ อนุรักษ์ ศึกษาวิจัยพันธุ์ไม้ที่มีอยู่ในภาคตะวันออก เช่น กล้วยไม้หายากใกล้สูญพันธุ์อย่า เอื้องสีสนิม เอื้องอึ่งอ่าง แห้วชะครู ผักไผ่น้ำ ที่จะมีมากช่วงเดือน พ.ย.-ก.พ.ทุกปี จะออกดอกให้นักท่องเที่ยวได้เห็น

พืชพรรณอื่นที่น่าสนใจ เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง พืชไม้เลื้อยที่มีกระเปาะดักจับแมลง ต้นแต้วต้นไม้ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ยอดอ่อน ใบอ่อนและช่อดอกอ่อนสามารถทานได้ เป็นผักสดแกล้มกับน้ำพริก ต้นชะมวง พืชที่พบได้ในภาคตะวันออกและภาคใต้ มีฤทธิ์เป็นยาสมุนไพร ใบและผลรสเปรี้ยว ซึ่งประชาชนทางภาคตะวันออกนิยมนำมาทำเป็นอาหารท้องถิ่นอย่างหมูชะมวง

รวมทั้งมีต้นไม้ที่ขึ้นในน้ำท่วมได้ดี เช่น ต้นเสม็ดทรายแก้ว เสม็ดพันปีเสม็ดขาว ลำต้นมีเปลือกหนานุ่มซ้อนกันเป็นชั้น เพื่อปกป้องแก่นของต้น โดยต้นเสม็ดที่นี่ส่วนมากเป็นตันเสม็ดเก่าแก่ มักขึ้นอยู่บนพื้นทราย ที่มีสภาพพื้นที่เป็นดินและน้ำท่วมขังมากน้อยตามฤดูกาล

“สภาพนิเวศวิทยาที่นี่มีคุณประโยชน์หลากหลายลดการพังทลายของชายฝั่ง ช่วยป้องกันน้ำเค็มไม่ให้เข้ามาในแผ่นดินเกินไป เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืพรรณนนาชนิด ซึ่งหลายชนิดเป็นพืชเฉพาะถิ่นพบได้ยากในมืองไทย”

159913322746

ปัจจุบันสวนพฤกษศาสตร์ระยอง มีแผนที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยได้เคยเสนอแผนพัฒนาศูนย์ฯมูลค่า 50 ล้านบาทไปยังกลุ่มจังหวัดเพื่อของบประมาณในการพัฒนาอาคารเรียนรู้ และปรับปรุงเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ โดยจะมีการเสนอของบประมาณไปอีกครั้งในปี 2565

นอกจากนี้กิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของศูนย์ฯ ในปัจจุบันคือการศึกษาวิจัยเพื่อขยายพันธุ์ “กระจูด” ไม้ล้มลุกตระกูลเดียวกับต้นกก ซึ่งมีลำตันมีลักษณะกลม ภายในกลวง สูง 1-3 มตร ซึ่งมีอยู่ในอำเภอแกลงแห่งเดียวในภาคตะวันออก

ต้นกระจูดเป็นวัตถุดิบสำคัญของชาวตำบลมาบเหลาชะโอน ที่ได้รับกาฝึกสอนการสานผลิตภัณฑ์กระจูดจากผู้เชี่ยวชาญของ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง” จังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันจึงทำให้ชุมชนมีความสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้รับการยอมรับจากตลาดต่างประเทศและมีทรัพยากรเพียงพอต่อการใช้งาน ทั้งนี้ศูนย์ฯ ยังทำการเพาะพันธุ์ต้นยางนาแจกจ่ายให้ประชาชน สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

159913327317

มนตรี ยิ้มเยื้อน ประธานเครือข่ายโอทอป จังหวัดระยอง และประธานกลุ่มจักสานกระจูดบ้านมาบเหลาชะโอน ต.ชากพง อ.แกลง จ.ระยองกล่าวกลุ่มจักสานกระจูดบ้านมาบชะโอนมีสมาชิก 40 ครัวเรือน ประสบปัญหาอย่างมากหลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 เพราะกลุ่มลูกค้าที่เคยเดินทางมาท่องเที่ยว ดูงานในจังหวัดระยองมีความวิตกเรื่องการระบาดของโรคทำให้รายได้ทยอยหายไปตั้งแต่ต้นปี 2563 

ส่วนการส่งออกที่เคยส่งออกตลาดหลักไปยังสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นก็หายไปเช่นกันเพราะทั้งสองประเทศสถานการณ์ระบาดของโรคยังไม่คลี่คลาย และเศรษฐกิจค่อนข้างแย่ทำให้ผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อสินค้าไป ขณะที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่เคยสั่งซื้อกระเป๋าจากกระจูดของกลุ่มก็ยกเลิกคำสั่งซื้อจากเดิมที่สั่งกระเป๋าไปแจกให้ผู้โดยสารชั้นธุรกิจกว่า 10,000 ชิ้นต่อเดือน

ปัจจุบันกลุ่มก็ได้ปรับช่องทางการจำหน่ายด้วยการขายออนไลน์ผ่านเฟสบุค และแอพพลิเคชันไลน์ “baankawee krajood” รวมทั้งการไลฟ์สดเพื่อให้สมาชิกมีรายได้แม้ว่าจะเหลือเพียง 50,000 บาท จากเดิมที่ทำรายได้ประมาณ 300,000 บาทต่อเดือน รวมรายได้ต่อของกลุ่มประมาณ 4-5 ล้านบาท แต่ปีนี้คาดว่าจะไม่ถึง 2 ล้านบาท