UNHCR ชี้ โควิดทำ 'ผู้ลี้ภัยเด็ก' กว่าครึ่ง ไม่ได้เรียนหนังสือ

UNHCR ชี้ โควิดทำ 'ผู้ลี้ภัยเด็ก' กว่าครึ่ง ไม่ได้เรียนหนังสือ

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ เปิดรายงานชี้ วิกฤติการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เป็นอุปสรรคผู้ลี้ภัยเด็กทั่วโลกกว่าครึ่ง ไม่ได้เรียนหนังสือ

ในรายงาน Coming Together for Refugee Education ที่เผยแพร่วันนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) คาดการณ์ว่าหากประชาคมนานาชาติไม่เริ่มรับมือกับผลกระทบที่แสนสาหัสของโรคโควิด-19 ที่มีต่อการศึกษาของผู้ลี้ภัยอย่างหนักแน่นและทันท่วงทีแล้ว จะมีเยาวชนผู้ลี้ภัยหลายล้านคนที่อาศัยในพื้นที่ชุมชนที่เปราะบางที่สุดในโลกที่ต้องขาดโอกาสด้านการศึกษาเพิ่มขึ้น ข้อมูลในรายงานนี้อิงจากสถิติการเข้าเรียนในปีการศึกษา ปี 2562

ขณะที่เด็กๆ ในแต่ละประเทศต่างได้รับความลำบากด้านการศึกษาจากผลกระทบของโรคโควิด-19 รายงานระบุว่าสถานการณ์ยิ่งยากลำบากสำหรับเด็กผู้ลี้ภัยที่ด้อยโอกาสมากกว่า ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเด็กผู้ลี้ภัยหนึ่งคนได้รับโอกาสเข้าเรียนน้อยกว่าเด็กทั่วไปถึง2 เท่า และสถานการณ์ยิ่งแย่ลงเมื่อเด็กผู้ลี้ภัยหลายๆ คนอาจไม่ได้กลับเข้าศึกษาต่อได้อีก เนื่องจากโรงเรียนถูกปิด ความลำบากในการหาค่าเล่าเรียน ค่าชุดนักเรียน หรือค่าหนังสือ ขาดการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ หรือเพราะต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว

“ครึ่งหนึ่งของเด็กผู้ลี้ภัยทั่วโลกไม่ได้รับโอกาสในการศึกษาอยู่แล้ว” นายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวและว่า จากทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขาต้องฝ่าฟันมา เราไม่สามารถพรากอนาคตของพวกเขาด้วยการตัดโอกาสทางการศึกษาในวันนี้ ท่ามกลางความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในวิกฤตการแพร่ระบาด ความช่วยเหลือที่เพิ่มขึ้นจากนานาชาติแก่ผู้ลี้ภัยและชุมชนที่มอบที่พักพิงจะช่วยให้เราสามารถสร้างสรรความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพื่อรักษาความก้าวหน้าที่สำคัญด้านการศึกษาของผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา

159912999553

หากไม่มีการช่วยเหลือเพิ่มเติมและความพยายามอย่างต่อเนื่อง โอกาสการเข้าศึกษาในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคนิคและอาชีวะอาจล้มเหลว และในบางรายอาจหมดโอกาสอย่างถาวร และยังเสี่ยงต่อความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายข้อที่ 4 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน ว่าด้วยการรับรองการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน

ในรายงานของโมฮาเหม็ด ซาลาห์ ทูตด้านเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อการศึกษาคนแรก ของมูลนิธิโวดาโฟนและ UNHCR กล่าวไว้ว่า การเน้นคุณภาพการศึกษาในวันนี้คือการลดความยากไร้และความทุกข์ยากในวันพรุ่งนี้ หากทุกคนไม่ได้ช่วยในส่วนที่ตัวเองทำได้ เด็กๆ รุ่นต่อไป โดยเฉพาะเด็กหลายล้านคนในภูมิภาคที่ยากจนที่สุดทั่วโลกต้องเผชิญกับอนาคตที่สิ้นหวัง เราอย่าเสียโอกาสในการช่วยเหลือนี้ไปเลย

ในรายงานยังได้รวบรวมจาก 12 ประเทศที่มอบที่พักพิงแก่เด็กผู้ลี้ภัยมากกว่าครึ่งจากจำนวนเด็กผู้ลี้ภัยทั้งหมดทั่วโลก ในขณะที่สถิติการเข้าเรียนระดับปฐมศึกษามีถึง 77% มีเยาวชนเพียง 31% ที่ได้รับการศึกษาระดับมัธยม และเหลือเพียง 3% ของเยาวชนผู้ลี้ภัยเท่านั้นที่ได้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

ถึงแม้สถิตินี้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกไปมาก แต่ตัวเลขเหล่านี้มีการพัฒนาขึ้นจากในอดีต มีเด็กผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นกว่าหลายหมื่นคนที่เพิ่งได้โอกาสเข้ารับการศึกษาในระดับมัธยม โดยเพิ่มขึ้นถึง 2% ปี 2562 ปีเดียว แต่อย่างไรก็ตามวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ยังเป็นภัยต่ออัตราการเพิ่มนี้ รวมถึงความก้าวหน้าที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กผู้ลี้ภัยหญิง

เด็กผู้ลี้ภัยหญิงเดิมมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาน้อยกว่าเด็กผู้ชาย และมีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่ได้เข้าโรงเรียนเมื่อถึงวัยเรียนมัธยม จากข้อมูลของ UNHCR กองทุนมาลาลาได้ประเมินผลจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ไว้ว่า ครึ่งหนึ่งของเด็กผู้ลี้ภัยหญิงในระดับมัธยมจะไม่สามารถกลับเข้าศึกษาต่อได้เมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดในเดือนนี้ ในประเทศที่มีอัตราการเข้าเรียนของเด็กผู้ลี้ภัยหญิงไม่ถึง 10% เด็กๆ เหล่านี้ต่างตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะไม่ได้เข้ารับการศึกษาอีกเลย เป็นการคาดการณ์ที่น่าเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อเด็กรุ่นต่อๆ ไปด้วยเช่นกัน

“ผมมีความกังวลเป็นพิเศษต่อผลกระทบของเด็กผู้ลี้ภัยหญิง การศึกษาไม่ใช่เพียงสิทธิมนุษยชน แต่เป็นเกราะป้องกันและเป็นประโยชน์ในการหารายได้ของพวกเขา ตลอดจนครอบครัวและชุมชนการศึกษาอย่างชัดเจน ประชาคมนานาชาติไม่ควรล้มเหลวที่จะมอบอนาคตที่ดีให้กับพวกเขาผ่านโอกาสด้านการศึกษา” นายกรันดี เสริม

การปรับตัวตามข้อจำกัดต่างๆ ในช่วงโรคโควิด-19 เป็นเรื่องที่ยากลำบาก เมื่อ 85% ของผู้ลี้ภัยทั่วโลกอาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ที่อุปกรณ์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต แล็ปท็อป เครือข่ายเชื่อมโยง หรือแม้แต่ชุดวิทยุสื่อสาร ไม่ใช่อุปกรณ์ที่หาได้ในชุมชนผู้พลัดถิ่น

159913003057

UNHCR รัฐบาล และพันธมิตรด้านต่างๆ ทำงานอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อเติมช่องว่างต่างๆ เหล่านี้เพื่อให้การศึกษาของผู้ลี้ภัยยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส ผ่านการเรียนทางออนไลน์ โทรทัศน์ และวิทยุ และช่วยให้อาจารย์และผู้ดูแลยังได้มีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน ภายใต้การปฏิบัติตามหลักอนามัย

รายงานยังระบุอีกว่าครอบครัว ชุมชน และรัฐบาลต่างๆ ได้ทำงานร่วมกันเพื่อมอบการศึกษาแก่เด็กผู้ลี้ภัย มีตัวอย่างที่ดีจากรัฐบาลในเอกวาดอร์และอิหร่านที่ได้เขียนกฎหมายเพื่อให้สิทธิแก่เด็กผู้ลี้ภัยได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนของรัฐ ประโยชน์ที่ได้รับจากความคิดริเริ่มด้านดิจิทัลโดยกระทรวงศึกษาธิการของประเทศอียิปต์ และครอบครัวในประเทศจอร์แดนที่ได้เปลี่ยนรูปแบบการเรียนมาเป็นแบบออนไลน์ได้ถูกยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างด้วยเช่นกัน ด้วยจำนวนผู้ลี้ภัยมากกว่าครึ่งที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ความสำคัญของเมืองต่างๆ ที่มอบที่พักพิงให้แก่ผู้ลี้ภัยจึงถูกหยิบยกมาด้วย เช่นกัน อาทิ การบริหารเมืองและความเป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกัน โดยนายกเทศมนตรีเมืองโคเวนทรี สหราชอาณาจักร

รายงานได้เรียกร้องให้รัฐบาล ภาคเอกชน ประชาสังคม และผู้มีส่วนร่วมหลักๆ ร่วมกันหาทางออกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการศึกษาในประเทศและปูทางสู่การศึกษาที่ได้รับการรับรอง และให้มีการจัดแบ่งและจัดเก็บงบประมาณเพื่อสนับสนุนการศึกษา รายงานฉบับนี้ยังเตือนอีกว่าหากเราไม่ร่วมมือแก้ปัญหาเหล่านี้ เราเสี่ยงที่จะสูญเสียรุ่นของเด็กผู้ลี้ภัยที่ขาดโอกาสด้านการศึกษาไปอย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านการศึกษาของผู้ลี้ภัยไม่หยุดอยู่ที่โรคโควิด-19 การโจมตีโรงเรียนคือความน่ากลัวและความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในรายงานมุ่งเน้นไปที่ซาเฮล ภูมิภาคของแอฟริกา ที่ความรุนแรงของสถานการณ์ได้บีบบังคับให้โรงเรียนต้องปิดไปมากกว่า 2,500 แห่ง ส่งผลต่อการศึกษาของเด็กนักเรียนถึง 350,000 คน