สแกน '5 หุ้นโรงแรม' ฟ้าหลังฝนครึ่งปีหลัง ?

สแกน '5 หุ้นโรงแรม' ฟ้าหลังฝนครึ่งปีหลัง ?

เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลก 'ถูกจำกัด' ด้านเติบโต ! ด้วย 'ข้อจำกัด' การแพร่ระบาดโควิด-19 รุมเร้า ทำให้การเดินทางต้อง 'หยุดชะงัก' หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก ยกให้ '5 หุ้นกลุ่มโรงแรม; บ่งชี้ผ่านผลงานไตรมาส 2 ปี 2563 กอดคอขาดทุน !

ตัวเลขผู้ติดเชื้อ 'โควิด-19' ทั่วโลก ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ! ถือเป็นปัจจัยลบของ 'อุตสาหกรรมท่องเที่ยว' มาก เนื่องจากการเดินทางของนักท่องเที่ยว 'ถูกจำกัด' เพราะว่าในหลายประเทศต้องการหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ให้ได้ ดังนั้น หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลลบดังกล่าวคงต้องยกให้ 'ธุรกิจโรงแรม !' 

หากลองดูบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในหมวดธุรกิจโรงแรม หนึ่งในนั้นต้องมี '5 หุ้นกลุ่มโรงแรมดัง' นั่นคือ บมจ. แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC ของ 'เจ้าสัวเจริญ ศิริวัฒนภักดี' บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา หรือ CENTEL ของ 'ตระกูลจิราธิวัฒน์' บมจ. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป หรือ ERW ของ 'ตระกูลวัธนเวคิน' บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT ของ 'วิลเลี่ยม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค' และ บมจ.ดุสิตธานี หรือ DTC ของ 'ตระกูลโทณวณิก' 

สารพัด... ปัญหารุมเร้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม ทำให้หุ้นกลุ่มดังกล่าวได้รับ sentiment เชิงลบตามไปด้วย สะท้อนผ่านผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 ของ 5 หุ้นกลุ่มโรงแรม 'ติดลบเพิ่มขึ้น' เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563
โดย 'หุ้น AWC' ขาดทุนสุทธิ -876.84 ล้านบาท 'หุ้น CENTEL' -465.49 ล้านบาท 'หุ้น ERW' –625.11 ล้านบาท 'หุ้น MINT' -8,447.64 ล้านบาท และ 'DTC' -453.25 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2563 อยู่ที่ กำไรสุทธิ 108.22 ล้านบาท -45.12 ล้านบาท -102 ล้านบาท -1,773.52 ล้านบาท และ -82.76 ล้านบาท ตามลำดับ

'ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์' ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันธุรกิจโรงแรมผลดำเนินงานผ่าน 'จุดต่ำสุด' แล้วในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลคลายมาตรการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) โดยจะเริ่มเห็นการกลับมาเติบโตของรายได้ที่ดีขึ้น แต่จะกลับไปปกติคงจะต้องรอในปี 2564

'ธุรกิจโรงแรมน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ปีหน้า เนื่องจากปีนี้ยังมีปัจจัยลบที่ต้องติดตาม ทั้งสถานการณ์โควิด-19 การเปิดน่านฟ้า หรือจะมีการปิดเมืองอีกหรือเปล่า และ ทางภาครัฐจะออกมาตรการมากระตุ้น เพื่อทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวหรือไม่'

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง 2563 น่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก หลัง 'ธุรกิจโรงแรม' เปิดให้ดำเนินการแล้วประมาณ 76% และ คาดเปิดครบ 100% ในช่วงปลายปี โดยเฉพาะโรงแรมในยุโรป ได้ฟื้นตัว จากนักท่องเที่ยวในประเทศ อัตราการเข้าพัก (occupancy rate) ในเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ที่เพิ่มขึ้นเป็น 40%

ด้าน 'ธุรกิจอาหาร' ในไทยกลับมาเปิดให้บริการแล้ว 95% และเห็นการเติบโตในร้านอาหารที่นั่งในร้าน (dine-in) มากขึ้น แต่ delivery เริ่มลดลง แต่เชื่อว่า ยอดขายจากสาขาเดิม(SSSG) จะกลับมาฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 3/63 เป็นต้นไป ส่วน 'ธุรกิจไลฟ์สไตล์' ยังมีการเติบโต โดยเฉพาะการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยสามารถพยุงยอดขายให้กับบริษัทได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทยังเดินหน้าลดต้นทุน โดยตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายลงมา 40% จากปีก่อน เพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุนให้เร็วที่สุด โดยธุรกิจโรงแรมจุดคุ้มทุนอยู่ที่ 50-60% ของอัตราการเข้าพัก แต่คาดว่าจะคุ้มทุนเร็วขึ้นมาอยู่ที่ 30-40% หลังเดือนก.ค.อยู่ในระดับนี้แล้ว

ขณะที่ธุรกิจอาหารก่อนช่วงโควิด-19 จุดคุ้มทุนอยู่ที่ 80% ของยอดขาย แต่ตอนนี้หลังลดต้นทุนลงบริษัทสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วขึ้นเช่นกัน มาอยู่ที่ระดับ 69% ในปัจจุบัน

ส่วนสภาพคล่องในมือ ปัจจุบันมีกระแสเงินสดในมือประมาณ 36,000 ล้านบาท และ วงเงินรอเบิกใช้จากสถาบันการเงินอีกประมาณ 26,000 ล้านบาท ส่งผลให้มีสภาพคล่องสูงถึง 60,000 ล้านบาท โดยเพียงพอต่อการลงทุน และ การประกอบธุรกิจในช่วงนี้ ซึ่งการลงทุนจะเน้นไปที่ธุรกิจที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้เท่านั้น โดยได้ลดงบลงทุนปีนี้ 7,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนใหม่ๆ จะไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากต้องการเก็บสภาพคล่องให้มากที่สุด

'รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์' รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา หรทอ CENTEL บอกว่า สำหรับผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก หลังอัตราการเข้าพัก (occupancy rate) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 30-40% ในปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สิ้นปีนี้คาดว่าอัตราการเข้าพักจะอยู่ที่ 30-35% ไม่รวมโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท สมุย และ โคซี่ พัทยา วงศ์อมาตย์ บีช เนื่องจากเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อช่วงปลายปี 2562

'หลังคลายล็อคดาวน์ คนออกพักผ่อนมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่สามารถขับรถไปได้ เช่น พัทยา หัวหิน เราเห็น occupancy rate ที่พัทยาขึ้นมาอยู่ที่ 40-45% จึงเชื่อว่าจะสามารถทำ Breakevent ได้ เพราะเราประเมินแล้วว่า ธุรกิจโรงแรมจะสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ต่อเมื่อมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ประมาณ 30-35% ต่อแห่ง'

ขณะที่ทางด้านรายได้เฉลี่ยต่อห้อง (RevPar) ปีนี้คาดติดลบ 60% จากเดิมติดลบ 40-50% ซึ่งไม่รวมโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท สมุย และ โคซี่ พัทยา วงศ์อมาตย์ บีช เนื่องจากเพิ่งเปิดให้บริการเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันบริษัทมีจำนวนห้องพัก 16,984 ห้อง แบ่งเป็น ดำเนินการ (In operation) 7,647 ห้อง ประกอบด้วย เป็นเจ้าของ(Owned) 4,457 ห้อง และ บริหารจัดการ(Managed) 3,190 ห้อง และ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอีก 9,337 ห้อง

สำหรับธุรกิจอาหารปีนี้คาดยอดขายธุรกิจอาหารทุกสาขา (TSS) จะติดลบ 12% จากปีก่อน และ 'อัตราการเติบโตจากสาขาเดิม' (SSS) ปีนี้ติดลบ 16-18% จากปีก่อน แม้ว่าบริการเดลิเวอรี่จะมีแนวโน้มเติบโตที่ดี แต่ด้วยการนั่งทานหน้าร้านยังคงลดลง จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ยอดขายโดยรวมยังคงติดลบ แต่บริษัทยังเดินหน้าขยายสาขา 50-70 สาขา โดยเฉพาะแบรนด์เคเอฟซี และ มิสเตอร์โดนัท

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับลดงบลงทุน 5 ปี (2562-2566) มาอยู่ที่ 17,300 ล้านบาท จากเดิม 18,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นการลงทุนในธุรกิจโรงแรมจำนวน 13,200 ล้านบาท และ ลงทุนในธุรกิจร้านอาหารจำนวน 4,100 ล้านบาท นอกจากนี้ ได้ปรับลดการใช้เงินลงทุนใหม่เหลือ 4,400 ล้านบาท จากเดิมที่วางไว้ 8,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องไปตามสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

ด้าน 'เพชร ไกรนุกูล' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป หรือ ERW เล่าว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวเมื่อเทียบจากครึ่งปีแรก หลังกลับมาเปิดโรงแรมครบ 100% ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยอัตราการเข้าพัก (occupancy rate) โรงแรมฮ็อปอินน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในเดือน ก.ค.63ขยับมาอยู่ที่ 67% จากเดือน มิ.ย. 63 ที่อยู่ 58%
โดยบริษัทยังเดินหน้าลงทุน 5 โครงการต่อเนื่อง โดยแบ่งเป็นในประเทศ 3 โครงการ และ ฟิลิปินส์ 2 โครงการ ซึ่งบริษัทได้ปรับกลยุทธ์ด้วยการเน้นที่จะพัฒนา และ ลงทุนต่อเนื่องในโครงการที่ศึกษาแล้วว่าฟื้นตัวได้ดีเมื่อเทียบกับโครงการอื่นๆ โดยเฉพาะโรงแรมฮ็อปอินน์ ซึ่งได้รับการตอบรับดีที่จากนักท่องเที่ยวในประเทศ

ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสด 1,500 ล้านบาท และ มีวงเงินรอเบิกใช้จากสถาบันการเงินอีก 5,900 ล้านบาท เชื่อว่า กระแสเงินสดที่มีจะเพียงพอ และ รองรับต่อสถานการณ์ที่ไม่ปกติได้ไปอีกหลายเดือน และที่ผ่านมาสถาบันการเงินได้ให้ความช่วยเหลือทั้งการลดดอกเบี้ย เพิ่มวงเงิน ตลอดจนเลื่อนการชำระค่างวด

'ไตรมาส 2 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของเราแล้ว ตอนนี้ก็ต้องเดินหน้าลดต้นทุน โดยปีนี้น่าจะลดลงได้ 40-50% เพื่อพยุงให้ธุรกิจอยู่ให้ได้ในระยะยาว นอกจากนี้ อยากให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งโรงแรมส่วนใหญ่อาศัยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยในส่วนของเรารายได้จากนักท่องเที่ยวประมาณ 70% และไทย 30%' 

โบรกฯ มองครึ่งหลังฟื้น !

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า กลุ่มโรงแรม ได้รับผลบวกเล็กน้อยต่อการปรับปรุงสิทธิโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน โดยขยายสิทธิที่พักเป็น 10 คืน ต่อ 1 คน (จากเดิม 5 คืน) เพิ่มค่าตั๋วเครื่องบินสูงสุดเป็น 2,000 บาท (จากเดิม 1,000 บาท)

มีมุมมองเชิงบวกเล็กน้อยต่อการปรับปรุงสิทธิดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้เกิดแรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการและเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายต่อคน โดยยังคงมุมมองว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะทยอยฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี

สะท้อนแนวโน้มผลประกอบการของหุ้นใน 'กลุ่มโรงแรม-ท่องเที่ยว' อย่าง หุ้น AWC , ERW , MINT, CENTEL ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา กระตุ้นทิศทางราคาฟื้นตัวขึ้นได้ เป็นปัจจัยช่วยประคอง-จำกัด Downside ตลาดได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ยังมี 'ความเสี่ยง' ปกคุมจาก 2 ประเด็นหลักๆ นั่นคือ การระบาดโควิด-19 รอบสองที่อาจรุนแรงขึ้น และ การพัฒนาการวัคซีนที่ล่าช้าเกิน 1 ปี