'พีโลน' ระเบิดศึกชิงลูกค้า ผู้เล่นใหม่ 'เคทีซี-ทรูมันนี่' อัดโปร

'พีโลน' ระเบิดศึกชิงลูกค้า ผู้เล่นใหม่ 'เคทีซี-ทรูมันนี่' อัดโปร

ตลาดสินเชื่อบุคคล ร้อนระอุ หลังผู้ประกอบการรายใหม่แห่ชิงเค้ก อัดโปรโมชั่นสู้ ขณะ "วอลเล็ต" หลายค่ายจ่อรุกตลาด "เมืองไทยแคปปิตอล” ยันไร้ผลกระทบ เหตุผู้เล่นใหม่ยังให้บริการในวงแคบ มั่นใจฐานลูกค้าคนละกลุ่ม ด้าน “กรุงศรีคอนซูมเมอร์” จับตาผู้เล่นใหม่

การแข่งขันในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคล หรือ “พีโลน” เริ่มทวีความร้อนแรงขึ้นต่อเนื่อง โดยมีผู้ประกอบการรายใหม่โดดเข้ามาทำตลาดจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เจ้าตลาดบัตรเครดิตอย่าง บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC ที่เริ่มเข้ามาให้บริการสินเชื่อพีโลนมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมี “ผู้เล่นหน้าใหม่” ที่ไม่เคยให้บริการในธุรกิจปล่อยสินเชื่อมาก่อน เช่น ทรูมันนี่ ที่ผลึกกำลังกับ บริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด โดดเข้ามาปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ใช้บริการทรูมูฟเอช จัดโปรโมชั่นดอกเบี้ย 0% ในเดือนแรก และในอนาคต มีแนวโน้มว่าจะยังมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง 

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด ( มหาชน) หรือ MTC กล่าวว่า  การเข้ามาของผู้เล่นกลุ่มดังกล่าวไม่กระทบต่อตลาดสินเชื่อรายย่อยและบริษัทในระยะข้างหน้า เพราะเงื่อนไขการพิจารณาให้สินเชื่อของเขาเป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน กลุ่มลูกค้ายังจำกัดอยู่บนกลุ่มลูกค้ามือถือของตัวเอง มีพฤติกรรมการชำระค่าโทรสม่ำเสมอ ประวัติดี ดังนั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้สินเชื่อ และการทำธุรกิจก็ไม่ได้ซ้ำซ้อนกับฐานลูกค้าของเราโดยตรง ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรเป็นหลัก

นอกจากนี้ที่สำคัญวงเงินกู้ที่ให้ ยังเป็นวงเงินไม่มาก ระยะเวลาการผ่อนชำระสั้นๆ และดอกเบี้ยโปรโมชั่นช่วงสั้น1 เดือนเท่านั้น ส่วนในเดือนถัดไปเป็นดอกเบี้ยเท่าตลาด

ส่วนแผนธุรกิจของบริษัทนั้น ยังเน้นการขยายสินเชื่อมีหลักประกันเป็นหลัก ปัจจุบันเป็นผู้นำตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์และนาโนไฟแนนซ์อยู่แล้ว ทางด้านดอกเบี้ยที่ให้บริการสินเชื่อในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าหรือแข่งขันได้อยู่แล้ว อีกทั้งบริษัทยังมีจุดแข็ง ด้วยจำนวนสาขากว่า 3,000 สาขา พร้อมให้บริการลูกค้าครอบคลุมพื้นที่สำคัญทั่วประเทศและมีฐานลูกค้าจำนวนมากกว่า3ล้านราย ขณะเดียวกันยังเดินหน้าขยายธุรกิจตามแผนเดิมได้ตามเป้าหมาย จึงไม่ต้องปรับกลยุทธ์แต่อย่างใด

ทางด้านผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดสินเชื่อบุคคลและบัตรเคดิต นายชุติเดช ชยุติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่า การมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแข่งขันมากขึ้นในตลาดสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตนั้น มองว่า เป็นเรื่องปกติตามกลไกของตลาดอยู่แล้ว สอดคล้องกับความต้องการสินเชื่อที่มากขึ้นในช่วงนี้ ถือเป็น เรื่องที่ดีสำหรับลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าประวัติดีและมีความจำเป็นใช้เงิน สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษแบ่งเบาภาระต้นทุนรอดพ้นในช่วงวิกฤติไปได้

สำหรับแผนธุรกิจของบริษัท ได้มีการปรับตัวและเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลาในทุกมิติตามสภาพแวดล้อมที่เป็นเปลี่ยนแปลงไปในตลาดที่เรียกว่า อินฟินิทเกม เพื่อยังอยู่ในเกมนี้ และการก้าวสู่ธุรกิจเพย์เม้นต์ แฟลตฟอร์มทำให้เส้นทางที่เราจะเดินไปข้างหน้ามีมากขึ้นและสร้างการเติบโตได้ในอนาคต

ทั้งนี้ หนึ่งในกลยุทธของบริษัทที่จะหันมาโฟกัสธุรกิจใหม่ในอนาคตมากขึ้น คือ การผนวกรวมผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายๆตัว ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคลเข้ากับเพย์เม้นต์แฟลตฟอร์มใหม่ๆ เช่น โมบายแอพพลิเคชั่นของเคทีซีหรือการพัฒนาวอลเลตของเคทีซีในอนาคต

“หลังจากนี้เราน้าจะทยอยออกผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกัต้องติดตามด้วยว่าแต่ละผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาจะเป็นอย่างไรบ้าง”

นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยาแคปปิตอลเซอร์วิสเซส จำกัด หรือ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตเฟิร์สช้อยส์ กล่าวว่า การที่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันปล่อยสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น ในเบื้องต้นมองว่า ไม่ได้มีผลต่อการทำโปรโมชั่นของบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของเราแต่อย่างใด เพราะเป็นฐานลูกค้าคนละกลุ่มเป้าหมายกัน แต่แน่นอนว่าเราคงต้องรอติดตามผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาจะทำอย่างไรบ้างและมีผลกับตลาดมาน้อยแค่ไหน

ส่วนแผนธุรกิจของเราขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงและรอติดตามสถานการณ์ที่ชัดเจนในไตรมาส3 ก่อน รวมถึงยังจัดแคมเปญต่อในหมวดใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ร้านอาหาร(ดิลิเวอร์รี่) ออนไลน์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ฟอร์นิเจอร์ ประกันและลูกหนี้เดิมที่มีความสามารถผ่อนชำระได้ยังคงให้วงเงินกู้เพิ่มได้

นายอภิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART กล่าวว่า ผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาปล่อยสินเชื่อรายย่อย ยังเป็นการปล่อยในฐานลูกค้าของตัวเองในวงแคบ และตลาดสินเชื่อรายย่อยในอนาคตยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก จึงไม่ได้กังวลอะไร

สำหรับแผนธุรกิจฟินเทค ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อย ภายใต้ชื่อสินเชื่อ “เจมันนี่” ให้สินเชื่อดิจิทัลผ่านแอพพลิเคชั่น“J Money Application” ยังเดินหน้าตามเดิม โดยภายในปลายเดือนต.ค.หรือต้นไตรมาส4 ทางพาร์ทเนอร์เกาหลี KB Kookmin Card Co., Ltd. (KB) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ KB Financial Group Inc. ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำในประเทศเกาหลีใต้ จะเข้ามาเต็มตัวและนำเทคโนโลยีทางการเงินของ KB เข้ามาเพื่อเสริมสร้างธุรกิจของเราทั้งธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้บริษัทยังคงดำเนินงานได้ตามเป้าหมายแผน3ปี(ปี2560-2563) ตั้งเป้าหมายยอดปล่อยสินเชื่อบุคคลถึง10,000 ล้านบาท ในปี 2563 และมีสัดส่วนรายได้ธุรกิจเจ มันนี่จะเติบโตเป็น 50% ของกลุ่มเจ มาร์ท ซึ่งในช่วงที่ผ่านมายังเติบโตได้ตามเป้าหมาย