กรมทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมจัดงาน IP Fair 2020 ชูนวัตกรรมแห่งยุค Green New Normal

กรมทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมจัดงาน IP Fair 2020 ชูนวัตกรรมแห่งยุค Green New Normal

กรมทรัพย์สินทางปัญญา  เตรียมจัดงาน IP Fair 2020 มหกรรมที่รวบรวมผลงานและองค์ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหลากหลาย 15 – 16 ก.ย.นี้ เผยช่วงโควิด-19 คนจดสิทธิเกี่ยวกับสินค้าป้องกันโรคเพิ่มขึ้น

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า  กรมเตรียมจัดงานมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือIP Fair 2020 ในระหว่างวันที่ 15-16 ก.ย.ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ซึ่งในปีนี้จัดงานภายใต้แนวคิด”Innovate for a green future” ทรัพย์สินทางปัญญา...เพื่อโลกสีเขียว สอดคล้องกับแคมเปญจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือWIPO  ในปีนี้ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ คำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น พฤติกรรมของมนุษย์ที่ปรับเปลี่ยนไปนี้ นำไปสู่ยุคของ Green New Normal หรือที่เรียกว่า วิถีใหม่เพื่อโลกสีเขียว โดยทุกประเทศต่างตระหนักถึงความสำคัญ และเห็นพ้องต้องกันที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว

"งานมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา  มีเป้าหมายในการต่อยอดทางความคิด กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ และพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้การพัฒนาทางความคิด สู่เศรษฐกิจการค้าได้เติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันต้องการผลักดันให้เกิดการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าทั้งในและต่างประเทศ"

  159912508229               

นายทศพล กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมพยายามสร้างความตระหนักให้กับผู้ประกอบการไทย ที่คิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ ได้จดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งในส่วนของอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกของไทยมีสัดส่วนมากกว่า 25% ของการส่งออกทั้งหมด แต่บางประเทศในอาเซียนยังไม่มีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่มีกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งไทยจะต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือและผลักดันให้ประเทศเหล่านี้มีการพัฒนาเพิ่มขึ้น เพราะไม่เช่นนั้น จะกระทบต่อการส่งออกและการเข้าไปลงทุนของผู้ประกอบการไทย ที่ขณะนี้มีการบุกตลาดอาเซียนกันเป็นอย่างมากได้

โดยกรมได้ร่วมมือกับประเทศอาเซียนในโครงการแลกเปลี่ยนผลการตรวจสอบสิทธิบัตรโครงการจัดทำฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้า เพื่อเป็นประโยชน์ในการสืบค้นสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าที่มีการจดทะเบียนไว้ในประเทศสมาชิกอาเซียน และการผลักดันให้อาเซียนเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ เช่น พิธีสารมาดริด เพื่ออำนวยความสะดวกการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่ก็ยังพบว่า การดำเนินการยังมีความล่าช้า ซึ่งจะต้องผลักดันให้ขั้นตอนต่าง ๆ เร็วขึ้น เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองเร็วขึ้น

  159912510338              

นายทศพล กล่าวว่า  รวมทั้งผู้ส่งออกสินค้าให้จดสิทธิบัตรคุ้มครองให้ครอบคลุมประเทศที่ส่งสินค้าไปขายเพราะที่ผ่านมาสินค้าไทยได้รับความนิยมอย่างมากจากลูกค้า โดยเฉพาะจีนที่นิยมสินค้าไทยอย่างมากจนมีการเลียนแบบหรือแอบอ้างว่าเป็นสินค้าไทย โดยกรมได้ให้ความรู้กับผู้ประกอบการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆอย่างต่อเนื่อง เช่น สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้าใจเรื่องการค้า เตรียมความพร้อมบุกตลาดจีน ร่วมศึกษาปัญหาจากนักธุรกิจไทยในกรณีพิพาทระหว่างคู่ค้าไทย-จีน ที่มักจะมีปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบ่อยครั้ง เพื่อเป็นแนวทางป้องกันให้แก่นักธุรกิจไทยที่ทำการค้ากับจีนหรือกำลังจะเข้าทำการค้าตลาดจีน และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เตรียมความพร้อมทำการค้ากับคู่ค้าจีนในลักษณะต่าง ๆ  สำหรับสินค้าที่ไทยถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอาหาร ผลไม้  ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีน

 “ในปี 2564 กรมฯได้งบ 20 ล้านบาท ในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์และการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรด้านนวัตกรรมทั้งของคนไทยและต่างชาติเฉลี่ยปีละ 8,000 ฉบับ โดยในจำนวนนี้เป็นของคนไทยประมาณ 10 %หรือ ประมาณ 800 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นการยื่นจดสิทธิบัตรด้านวิศวกรรม และสิทธิบัตรด้านอาหาร แปรรูปอาหาร สูตรอาหาร เป็นต้น  และในช่วงมีการระบาดของโรคโควิด-19 พบว่ามีการขอยื่นจดสิทธิบัตรทั้ง หน้ากากอนามัย เครื่องทำความสะอาดหน้ากากอนามัย และเจลล้างมือ มีการยื่นขอจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้น”