ลดจ่าย 'เงินสมทบประกันสังคมมาตรา 39' เหลือเดือนละเท่าไร ได้สิทธิ์อะไรบ้าง?

ลดจ่าย 'เงินสมทบประกันสังคมมาตรา 39' เหลือเดือนละเท่าไร ได้สิทธิ์อะไรบ้าง?

เปิดรายละเอียดการลดจ่าย "เงินสมทบประกันสังคมมาตรา 39" พร้อมเช็คลิสต์สิทธิ์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับ

หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดการออกเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคโควิด-19 โดยลดการออกเงินสมทบเข้า "กองทุนประกันสังคม" ฝ่ายนายจ้างและฝ่าย "ผู้ประกันตนตามมาตรา 33" จากปกติฝ่ายละ 5% เหลือฝ่ายละ 2% ของค่าจ้างผู้ประกันตน

นอกจากนี้ ยังให้ความช่วยเหลือ "ผู้ประกันตนตามมาตรา 39" ให้ส่งเงินสมทบเดือนละ 96 บาท จากปกติที่ต้องจ่ายเดือนละ 432 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือน ก.ย.–พ.ย. 63

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

ถึงแม้จะลดเงินสมทบเหลือเพียงเดือนละ 96 บาท ในช่วงเวลาที่กำหนด แต่กลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 39 จะยังคงได้สิทธิ์ในความคุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ และชราภาพ โดย "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปดูรายละเอียดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในฐานะผู้ประกันตน ดังนี้

159912285454

  •  สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ สำหรับ "ผู้ประกันตนมาตรา 39" 

สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้ มี 6 กรณี คือ

1. กรณีเจ็บป่วย หากเป็นการเจ็บป่วยปกติ มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุสปส.จะเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล

2. กรณีทุพพลภาพ ค่ารักษาพยาบาล กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากรักษาในสถานพยาบาลเอกชน ผู้ป่วยนอกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท กรณีผู้ป่วยในจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท

3. กรณีคลอดบุตร ฝากครรภ์และคลอดบุตรได้ทุกโรงพยาบาล ในการเบิกค่าคลอด ผู้ประกันตนชาย-หญิง สามารถเบิกค่าคลอดแบบเหมาจ่าย 13,000 บาทไม่จำกัดจำนวนครั้ง และผู้ประกันตนหญิงจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอด 50% ของค่าจ้างเป็นระยะเวลา 90 วัน

4. กรณีสงเคราะห์บุตร เหมาจ่ายเดือนละ 600 บาทต่อบุตรหนึ่งคน โดยสามารถรับได้เมื่อบุตรมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน

5. กรณีชราภาพ หากผู้ประกันตนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ก็จะได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญ เงินบำเหน็จชราภาพ หากจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ก็จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนได้จ่ายไป หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน ก็จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ

ส่วนเงินบำนาญชราภาพ หากจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย แต่ถ้าจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นทุก 12 เดือน

6.กรณีเสียชีวิต หากจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยจะได้รับเงินค่าทำศพ 40,000 บาท และได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย หากผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ได้รับอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 4 เดือน ถ้าส่งเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน

  •  ช่องทางการสมัครเป็นผู้ประกันสังคม มาตรา 39 

คุณสมบัติของผู้ที่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันสังคม มาตรา 39 ได้คือ ผู้ที่เคยเป็นพนักงานเอกชนแล้วลาออก โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 12 เดือน ลาออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน

โดยสามารถยื่นใบสมัครตามแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (แบบ สปส. 1-20) ด้วยตนเอง ภายใน 6 เดือน นับแต่วันออกจากงาน โดยสถานที่ยื่นใบสมัคร กรุงเทพฯ ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ส่วนภูมิภาค ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา

  •  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม  Contact Center 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือ www.sso.go.th

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ประกันสังคม