หุ้นอสังหาฯ ยังนิ่ง แม้ลุ้นปลดล็อก LTV โบรกชี้ผลบวกอาจแค่ช่วงสั้น

หุ้นอสังหาฯ ยังนิ่ง แม้ลุ้นปลดล็อก LTV โบรกชี้ผลบวกอาจแค่ช่วงสั้น

หุ้นอสังหาฯ แทบไม่ขยับ หลังผู้บริหารบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่เข้าเจรจานายกฯ หวังปลดล็อกมาตรการ LTV ด้านนักวิเคราะห์ประเมินเบื้องต้นอาจะเป็นแรงหนุนแค่ช่วงสั้น

จากกรณีที่ผู้บริหารของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ 5-6 ราย เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี สำหรับประเด็นการผ่อนปรนมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) รวมถึงการผ่อนปรนเพดานราคาบ้านที่ได้รับสิทธิลดค่าธรรมเนียมการโอนและจำนอง

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ช่วงเช้านี้ (3 ก.ย.) ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยหุ้นอย่าง บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) บมจ.ศุภาลัย (SPALI) และบมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) เพิ่มขึ้นไม่ถึง 1% ขณะที่ บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) (AP) และบมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) ราคาหุ้นทรงตัวจากวันก่อนหน้า

นายสรพงษ์ จักรธีรังกูร ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามาตรการ LTV เป็นหนึ่งในอุปสรรคและผลกระทบเชิงลบต่อผู้ประกอบการอสังหาฯ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ผ่อนปรนมาตรการลงมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ผู้ประกอบการมองว่ายังเป็นอุปสรรค และหากสามารถปรับเกณฑ์กลับไปเหมือนกับช่วงก่อนหน้าเดือน เม.ย. 2562 ก็น่าจะมีลูกค้าเข้ามาเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปรับเกณฑ์จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการอสังหาฯ แน่นอน แต่ด้วยแนวโน้มของหนี้เสีย (NPL) ที่ดูไม่ดีนัก ทำให้ภาระจากการปรับเกณฑ์ในครั้งนี้อาจจะไปตกอยู่กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับเครดิตของผู้กู้ว่าเป็นอย่างไรตามการพิจารณาของธนาคารพาณิชย์

"แม้ว่าการผ่อนปรนมาตรการ LTV จะมีโอกาสเกิดขึ้น แต่นักลงทุนมีประสบการณ์จากการผ่อนปรน 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ทำให้อาจจะมีมุมองว่าครั้งนี้ก็อาจจะเป็นลักษณะเดียวกัน คือผ่อนปรนบางส่วน หรืออาจจะยกเลิกชั่วคราว ทำให้ผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นก็อาจจะแค่ชั่วคราว ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มนี้ยังไม่ได้ตอบรับเชิงบวก โดยอาจจะรอดูรายละเอียดของการหารือในครั้งนี้"

อย่างไรก็ดี หากมีการปลดล็อค LTV ออกหมดและกลับไปเป็นเหมือนก่อนวันที่ 1 เม.ย. 2562 เราเห็นว่าจะสร้างกำลังซื้อส่วนเพิ่มให้กับผู้ซื้อบ้านทั้งหมด เพราะจะทำให้มีมีเกณฑ์ในการกำหนดวงเงินปล่อยสินเชื่อเหมือนในปัจจุบัน โดยเฉพาะ 1.กลุ่มผู้ซื้อบ้านที่มีกำลังซื้อไม่มาก (บ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 60% ของอุปทานบ้านปัจจุบันและ 40% ของยอดขายของโครงการเปิดใหม่ปี 2562) และ 2.ผู้ซื้อบ้านที่มีสัญญากู้เงินสัญญาที่ 2 เป็นต้นไป (ราว 20% ของจำนวนสัญญาที่อยู่อาศัยในระบบ)

ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลัง ทั้งในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 เชื่อว่าผลประกอบการจะดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า แต่จะอ่อนตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานที่ต่ำในครึ่งปีแรก แต่ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ก็ยังแย่กว่าปีก่อน ทำให้แนวโน้มกำไรของกลุ่มอสังหาฯ ทั้งปี 2563 น่าจะติดลบกว่า 20% จากปีก่อน

"ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ยอดขายของกลุ่มอสังหาฯ ถือว่าดีกว่าที่คาดไว้ เพราะการดึงเอาความต้องการซื้อในอนาคตมาก่อน (จากการจัดโปรโมชั่น) ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าครึ่งปีหลังอาจจะแย่ แต่ด้วยการคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี ทำให้ความมั่นใจของผู้บริโภคมากขึ้น และแต่ละบริษัทก็กลับมาเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากครึ่งปีแรก ทำให้ช่วงไตรมาส 2 น่าจะเป็นจุดต่ำสุด แต่ความเสี่ยงที่สำคัญคือการกลับมาระบาดระลอก 2 ของโควิด-19"

ด้าน บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์ว่า หากปลดล็อกมาตรการ LTV จะช่วยให้กลุ่มอสังหาฯ ได้ลูกค้ากลับคืนมาทันที 10% และจากการย้อนดูข้อมูลที่ผ่านมา พบว่าธปท.กังวลเรื่องการเก็งกำไรคอนโดมิเนียม ถ้าเป็นเช่นนั้น มาตรการไม่ควรครอบคลุมกับตลาดแนวราบ และในปัจจุบันก็ไม่มีการเก็งกำไรคอนโดฯ มากนัก ก็ควรจะปลดล็อกมาตรการได้ ซึ่งน่าจะทำให้คนซื้อเพิ่มขึ้น 10% ขณะที่รัฐบาลยังได้ภาษีค่าธรรมเนียมการโอนฯ และภาษีธุรกิจ

อีกทางเลือกหนึ่งคือการยกเลิกเพดานราคาบ้านในมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง เนื่องจากราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 30% ของตลาดรวม ที่เหลืออีก 70% รัฐบาลยังไม่ได้สนับสนุน แต่หากให้ได้คลายตรงนี้ลง จะทำให้ทุกระดับราคาได้รับผลประโยชน์ เรามองว่าหากนายกฯ รับข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นบวกกับกลุ่มอสังหาฯ โดยให้ AP LH SPALI เป็นหุ้นเด่น