หนังเล่าโลก Gunjan Saxena : The Kargil Girl

หนังเล่าโลก Gunjan Saxena : The Kargil Girl

เมื่อภาพยนตร์ Gunjan Saxena : The Kargil Girl สะท้อนประเด็นความไม่เสมอภาคทางเพศ ภาพเด็กหญิงตัวละครหลักเลือกเดินตามฝันในเส้นทางอาชีพนักบิน แต่กลับไม่สมใจอย่างที่คิด จากการถูกเลือกปฏิบัติเพราะเพศ หลังหนังลงจอจึงเกิดข้อวิจารณ์ประเด็นดังกล่าวขึ้นมากมาย

แม้ประเด็นความเสมอภาคทางเพศทุกวันนี้ไปไกลเกินกว่าจะมาเถียงกันเรื่องหญิงกับชาย เพราะครอบคลุมไปถึงความหลากหลายทางเพศทุกกลุ่ม แต่เมื่อมีภาพยนตร์เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อเพศหญิง โดยเฉพาะในสังคมอนุรักษนิยม ก็ยังมีความน่าสนใจรับชมอยู่เสมอ 

Gunjan Saxena : The Kargil Girl ผลงานออริจินัลของเน็ตฟลิกซ์ ฝีมือผู้กำกับ Sharan Sharma ลงจอที่อินเดียเมื่อวันที่ 12 ส.ค. ไม่กี่วันถัดมาคนไทยก็มีโอกาสได้ดู หนังบอกเล่าเรื่องราวของกุญจัณ ศักเสนา เด็กหญิงผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักบิน แต่การเข้าเรียนในโรงเรียนการบินพลเรือนก็แพงเสียเหลือเกิน

กุญจัณจึงตัดสินใจสอบเข้าโรงเรียนนายเรืออากาศ เป็นนักเรียนนายเรืออากาศหญิงรุ่นแรก เพื่อให้ได้เป็นนักบินสมใจ แต่คราวนี้เป็นเครื่องบินรบ มิใช่เครื่องบินพาณิชย์อย่างที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก กุญจัณขับเฮลิคอปเตอร์ชีตาห์ปฏิบัติการในช่วงที่สงครามคาร์กิลบริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้านกำลังร้อนแรงสุดๆ เมื่อปี 2542 เธอจึงได้ฉายาว่า The Kargil Girl

กว่ากุญจัณจะได้นำเครื่องขึ้นสู่อากาศในสมรภูมิจริง เธอต้องเจอกับการเลือกปฏิบัติมากมาย รายงานข่าวชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้จากสถานีโทรทัศน์ NDTV ของอินเดียบรรยายไว้ว่า “ในประเทศที่การขับรถของผู้หญิงยังเป็นเรื่องยาก การขับเครื่องบินยิ่งเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้” (สถานการณ์ช่วงทศวรรษ 90) ซึ่งดูๆ ไปก็ย้อนแย้งเพราะผู้หญิงอินเดียเคยทำงานยากมาก่อน 

ทั่วโลกต่างรู้จักนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี ขณะที่เอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่มีผู้นำหญิงมาจากการเลือกตั้งหลายคน สิริมาโว บันฑาราไนยเก จากศรีลังกา เป็นนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยคนแรกของโลก เธอก้าวขึ้นเป็นผู้นำพรรคเสรีภาพหลังสามีถูกลอบสังหารในปี 2502 จันทริกา กุมารตุงคะ ประธานาธิบดีคนที่ 5 ของศรีลังกาคือบุตรสาวของเธอ ผู้นำหญิงในประเทศเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ที่คนไทยคุ้นชื่อ เช่น เบนาซีร์ บุตโต อดีตนายกฯ ปากีสถาน นายกฯ หญิงคนแรกของโลกอิสลาม คาเลดา เซีย และชีค ฮาสินา สองนายกฯ หญิงคู่แข่งแห่งบังกลาเทศ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อ Gunjan Saxena : The Kargil Girl ออกฉาย เดอะการ์เดียนรายงานว่า ทหารอากาศอินเดียทั้งอดีตและปัจจุบันวิจารณ์เน็ตฟลิกซ์ที่วาดภาพกองทัพอากาศว่าเต็มไปด้วยการเลือกปฏิบัติกับผู้หญิง

กองทัพอากาศทำหนังสือถึงคณะกรรมการตรวจสอบภาพยนตร์ รวมถึงบริษัทธรรมโปรดัคชันส์ผู้ผลิต และเน็ตฟลิกซ์ ร้องเรียนว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ “นำเสนอสถานการณ์บางอย่างชวนให้เข้าใจผิด และวาดภาพวัฒนธรรมการทำงานอันไม่เหมาะสมโดยเฉพาะต่อผู้หญิงในกองทัพอากาศ”

เรขา ชาร์มา ประธานคณะกรรมาธิการเพื่อสตรี องค์กรให้คำแนะนำทางกฎหมายต่อรัฐบาลในประเด็นผู้หญิง เรียกร้องให้ถอดภาพยนตร์เรื่องนี้ออกไป

ที่ผ่านมาผู้หญิงเข้าประจำการในกองทัพอินเดียครั้งแรกในตำแหน่งที่ไม่ต้องสู้รบเมื่อปี 2535 เป็นเจ้าหน้าที่ระยะสั้น ก่อนหน้านั้นพวกเธอได้รับอนุญาตให้อยู่ในหน่วยแพทย์และพยาบาลเท่านั้น ปีนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ผู้หญิงทุกคนในกองทัพประจำการอย่างถาวร สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการได้เช่นเดียวกับผู้ชาย เพื่อให้ผู้หญิงมาเป็นทหารมากขึ้นและทำงานได้จนถึงเกษียณ

ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ภาพยนตร์ก็มีอิทธิพลกับผู้ชมถึงขนาดบั่นทอนกำลังใจศรีสตี สุขลา วัย 24 ปีและเพื่อนๆ ที่มีแผนจะทำอาชีพทหาร

สุขลา หญิงสาวจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของอินเดียเล่าว่า ในครอบครัวเธอกฎระเบียบที่ใช้กับผู้หญิงและผู้ชายนั้นแตกต่างกันอยู่แล้ว “ฉันใช้ชีวิตด้วยความหวังว่า วันหนึ่งฉันจะทำงานในกองทัพ ได้อยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกับผู้ชาย อย่างน้อยๆ ก็ในการงานอาชีพแต่ดูภาพยนตร์แล้วท้อแท้ใจมาก”

แม้ภาพยนตร์จะสร้างขึ้นเพื่อความบันเทิง แต่ย่อมสะท้อนความเป็นจริงของสังคมไม่มากก็น้อย หากความเหลื่อมล้ำยังคงมีอยู่ เห็นทีต้องเป็นหน้าที่ของทุกคนช่วยกันดันเพดานความเสมอภาคระหว่างเพศให้เพิ่มสูงขึ้นในทุกสังคม