ศบศ. ดันจ้างงาน 2.6 แสนคน 'ปตท.-กฟผ.' ตอบรับนายจ้าง

ศบศ. ดันจ้างงาน 2.6 แสนคน 'ปตท.-กฟผ.' ตอบรับนายจ้าง

ศบศ.เคาะจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ 2.6 แสนตำแหน่ง "ปตท.-กฟผ." ตอบรับจ้างงาน ปริญญาตรี 15,000 บาท

การประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ “ศบศ.” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการดูแลเศรษฐกิจในประเทศจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 แบ่งเป็น 2 มาตรการหลัก รวมวงเงิน 68,476 ล้านบาท โดยใช้เงินจากเงินกู้ตาม พร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า มาตรการการจ้างงานสำหรับเด็กจบใหม่โดยรัฐบาลสมทบจ่ายกับนายจ้าง เป็นระยะเวลา 1 ปี (ต.ค.2563-ต.ค.2564) เพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่ใน 3 กลุ่ม คือ ระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) รวม 260,000 อัตรา

วงเงินที่รัฐสนับสนุนรวม 23,476 ล้านบาท ซึ่งรัฐจะสนับสนุนเงินค่าจ้าง 50% ของเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาเป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน  

แบ่งเป็นระดับ ปวส.เงินเดือนไม่เกิน 11,500 บาท รัฐบาลสนับสนุน 5,750 บาทต่อเดือน

ระดัับ ปวช.เงินเดือน 9,400 บาท รัฐบาลสนับสนุนเงินเดือน 4,700 บาท

ระดับปริญญาตรีเงินเดือน 15,000 บาทรัฐบาลสนับสนุนเงินเดือน 7,500 บาท 

การเข้าร่วมโครงการมีเงื่อนไข คือ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการต้องอยู่ในระบบประกันสังคม มีการยืนยันตัวตนผ่านกระทรวงแรงงาน และมีเงื่อนไขเลิกจ้างลูกจ้างเดิมได้ไม่เกิน 15% ภายในระยะ 1 ปี (กรณีที่ลูกจ้างลาออกในระหว่างโครงการ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการหาลูกจ้างใหม่ทดแทนได้) 

ขณะที่ลูกจ้างท่ี่เข้าร่วมโครงการต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่เกิน 25 ปี หรืออายุเกิน 25 ปี ต้องสำเร็จการศึกษาปี 2562-2563 และจ่ายเงินผ่านบัญชีของธนาคารกรุงไทยเป็นหลัก 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะทยอยพิจารณา โดยจะมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว กระตุ้นการใช้จ่าย และกระตุ้นการลงทุน

โดยอาจดำเนินการซ้ำหรือขยายเวลาและปรับปรุงเพิ่มขึ้น เช่น การปรับปรุงมาตรการท่องเที่ยวที่นำข้อเสนอเอกชนมาพิจารณาด้วย ซึ่งการออกมาตรการต้องคิดถึงความเสี่ยงของการระบาดระยะ 2 ด้วย จึงใส่เม็ดเงินไปทั้งหมดในครั้งเดียวไม่ได้เพราะต้องเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตด้วย

ส่วนมาตรการการจ้างงานหลายบริษัททั้งในส่วนของบริษัทพลังงานและกระทรวงพลังงานเองพร้อมร่วมกับรัฐบาล เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)  โดยการจ้างงานแบบนี้จะสนับสนุนให้บัณฑิต-นักศึกษาจบใหม่ลงพื้นที่เรียนรู้ไปด้วยใช้เวลา 1 ปีแล้ววัดผล ทำให้เกิดการประจักษ์ว่าจะทำให้เกษตรกรมีความรู้ทั้งเรื่องข้อมูลและแผนที่นั้นจะดำเนินการในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดขึ้น ซึ่งจะขยายผลเรื่องนี้ผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้ากองทุนอนุรักษ์พลังงานด้วย